วิปปิ้งครีม มีกี่ชนิด ต่างกันยังไง เหมาะกับเมนูอะไรบ้าง

วิปปิ้งครีม มีกี่ชนิด ต่างกันยังไง เหมาะกับเมนูอะไรบ้าง
MEEKAO
27 สิงหาคม 2564 ( 17:00 )
61.6K

     ไหนใครชอบทานวิปปิ้งครีมขอให้ยกมือขึ้น ! วันนี้เราขอเอาใจสายหวาน คนรักเเมนูเบเกอรี่ ที่อาจจะแอบสงสัยว่า วิปปิ้งครีม (Whipping Cream) หรือ วิปครีม (Whipped Cream) ที่เราใช้ทำขนม หรือใส่ในเครื่องดื่มนั้นมีด้วยกันกี่ชนิด แล้ว วิปปิ้งครีม แต่ละชนิดต่างกันยังไง และเหมาะกับการเอามาทำเมนูอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้ว วิปปิ้งครีมก็คือนมที่มีไขมันเนย ตั้งแต่ 30% ขึ้นไป ซึ่งตามท้องตลาดบ้านเราจะอยู่ที่ประมาณ 35-37% เมื่อนำมาตีด้วยความเร็วให้ผ่านอากาศและอุณหภูมิที่เย็น จะเกิดการพองตัว ขึ้นฟู นั่นเองค่ะ

 

 

ชนิดของวิปปิ้งครีม วิปปิ้งครีมมีกี่แบบ

 

     มาทำความเข้าใจแบบง่าบๆ กันก่อน ถึงการเรียกชื่อ "น้องวิป" ว่าจริงๆ แล้วเราควรเรียนกเค้าว่าอะไรกันแน่ วิปปิ้งครีม (Whipping Cream) คือคำเรียกของครีมที่ ยังไม่ถูกตี และเมื่อเราตีวิปปิ้งครีมจนขึ้นฟูพร้อมใช้งานแล้ว เราก็จะเรียกว่า วิปครีม (Whiped Cream) ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าให้เข้าใจง่ายๆ จะเรียกแบบไหนก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคนได้เลยค่ะ

 

 

  • Dairy Whipping Cream (วิปปิ้งครีมแท้)
  • Non-Dairy Whipping Cream (วิปปิ้งครีมเทียม)
  • Canned Whipping Cream (วิปปิ้งครีมกระป๋องสำเร็จรูป)
  • Whipping Powder ( วิปปิ้งครัมแบบผง)

 

วิปปิ้งครีมชนิด Dairy Whipping Cream (ครีมแท้)

 

 

     Dairy Whipping Cream คือ วิปปิ้งครีมชนิดครีมแท้ หรือบางคนอาจจะเรียกว่า ครีมสด วิปปิ้งครีมชนิดนี้เป็นไขมันเนยที่มาจากนมวัว 100% มีไขมันเนยอยู่ที่ 30-35% ไม่มีการเติมความหวานลงไป มีสีออกครีมอ่อน เหลืองอ่อนๆ มีความเข้มข้น และหอมกลิ่นนมชัดเจน ตีขึ้นยาก เมื่อตีขึ้นแล้วจะยุบตัวง่าย แยกชั้นง่าย ไม่คงทนสภาพอากาศ หมายถึง อากาศร้อนจะมีผลกับการตีขึ้นของวิปปิ้งครีมจึงควรนำออกจากตู้เย็นเมื่อจะใช้งานเท่านั้น ไม่ควรนำออกมาวางรอไว้ เป็นวิปปิ้งครีมที่มีรสชาติอร่อยที่สุด ราคาสูง ควรเก็บที่อุณหภูมิ 2-6 องศาเซลเซียส เพราะมีอายุที่สั้น เสียง่าย หลังเปิดกล่องควรใช้ให้หมดภายใน 4-5 วัน เหมาะกับการทำเมนูเครื่องดื่ม และเบเกอรี่ที่ต้องแช่ตู้เย็น เช่น เครปเค้ก บานอฟฟี่ เค้กครีมสดต่างๆ

 

  • กลิ่น : หอมนมธรรมชาติแบบชัดเจน
  • รสสัมผัส : จืด หอมมัน เนียน นุ่มฟู แน่นปานกลาง (แล้วแต่ยี่ห้อ)
  • สี : เหลืองอ่อน หรือ สีครีม
  • ตีขึ้นง่าย : 3/5
  • การเก็บรักษา (ก่อนตี) : ควรใช้ให้หมดภายใน 4-5 วัน หลังเปิดกล่อง และเก็บไว้ในตู้เย็นตลอดเวลา
  • การเก็บรักษา (หลังตี) : ควรแช่ตู้เย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิ และคงรูปร่างไม่ให้วิปครีมยุบตัว
  • เหมาะกับเมนู : เครื่องดื่ม เมนูของคาว เช่น พาสต้า และเบเกอรี่ที่ต้องแช่ตู้เย็น เช่น มูส เครปเค้ก บานอฟฟี่ เค้กครีมสดต่างๆ

 

วิธีตีวิปปิ้งครีมชนิด Dairy Whipping Cream ให้ขึ้นง่าย

1. ควรนำหัวตี หรือหัวตะกร้อไปแช่ในช่องฟรีซก่อนที่จะนำมาใช้

2. ตอนตีควรรองกาละมัง 2 ชั้น โดยชั้นล่างให้รองน้ำแข็งไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิของวิปครีม

3. นำวิปปิ้งครีมออกจากตู้เย็น เทกาละมังผสมตามปริมาณที่ต้องการ

4. ตีวิปปิ้งครีมด้วยความเร็วสม่ำเสมอ และไม่ควรตีนานเกินไปเพราะจะทำให้วิปปิ้งครีมแตกตัว

 

 

วิปปิ้งครีมชนิด Non-Dairy Whipping Cream (ครีมเทียม)

 

 

     Non-Dairy Whipping Cream วิปปิ้งครีมเทียม วิปปิ้งครีมชนิดนี้จะมีส่วนผสมของไขมันพืช อาจจะเป็นไขมันพืช 100% หรือ เป็นไขมันพืช ผสมกับไขมันนม ในอัตราส่วน 1:1 Non-Dairy Whipping Cream แบบไขมันพืช 100% ถือเป็นวิปปิ้งครีมทางเลือก สำหรับผู้ที่ไม่ทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ หรือผู้ที่แพ้นมวัว วิปปิ้งครีมที่มีระบุว่า เติมไฮโดรเจนเต็มส่วน 25% จะเป็นวิปปิ้งครีม Non-Dairy Whipping Cream ที่ไม่มีไขมันทรานส์ คงตัว ทนต่อสภาพอากาศร้อน ตีขึ้นได้ง่าย และไม่ค่อยยุบตัว มีการแต่งกลิ่น และมีน้ำตาลผสมเพื่อแต่งรสชาติ มีราคาต่ำกว่าวิปปิ้งครีมแบบ Dairy Whipping Cream

 

  • กลิ่น : หอมกลิ่นนม-วานิลลา
  • รสสัมผัส : เนียน ฟูแน่น ลื่นในปาก มีความคงตัว และแข็งกว่าวิปปิ้งครีมแบบ Dairy มีรสหวานเล็กน้อย
  • สี : ขาว
  • ตีขึ้นง่าย : 4/5
  • การเก็บรักษา (ก่อนตี) : ควรใช้ให้หมดภายใน 30 วัน หลังเปิดกล่อง และเก็บไว้ในตู้เย็นตลอดเวลา
  • การเก็บรักษา (หลังตี) : ควรแช่ตู้เย็นเพื่อรักษาอุณหภูมิ
  • เหมาะกับเมนู : เครื่องดื่ม เมนูเบเกอรี่ที่มีการแต่งกลิ่น เมนูเบเกอรี่ที่ต้องมีการขนส่ง

 

 

วิปปิ้งครีมชนิด Canned Whipping Cream (วิปครีมแบบกระป๋องสำเร็จรูป)

 

 

     Canned Whipping Cream หรือ วิปครีมแบบกระป๋องสำเร็จรูป ตามท้องตลาดจะวางขายอยู่ที่ตู้แช่เย็น มีทั้งแบบ Dairy และ Non-Dairy เป็นวิปปิ้งครีมที่ง่ายต่อการใช้งาน อยู่ในรูปแบบของกระป๋องอัดแก๊ส ก่อนใช้ต้องเขย่าก่อนเพื่อให้วิปปิ้งครีมมีความฟูเมื่อบีบ ไม่ต้องตีเอง เหมาะกับใช้ที่บ้าน เพราะราคาสูง และมีปริมาณที่น้อย ควรเก็บรักษาที่ 2-8 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บได้นานตามวันหมดอายุที่ระบุในกระป๋อง

 

  • กลิ่น : หอมนมเบาๆ และมีกลิ่นวานิลลาเล็กน้อย
  • รสสัมผัส : เนียนนุ่ม ฟู ไม่แน่น เนื้อเบาที่สุด มีรสหวานเล็กน้อย
  • สี : ขาวครีมอ่อนๆ
  • ตีขึ้นง่าย : ไม่ต้องตีเอง
  • การเก็บรักษา : ควรใช้ให้หมดภายใน 4-5 วัน หลังเปิดกล่อง และเก็บไว้ในตู้เย็นตลอดเวลา
  • เหมาะกับเมนู : ท็อปบนเครื่องดื่ม ทานคู่ไอศกรีม และขนมต่างๆ เช่น วาฟเฟิล แพนเค้ก

 

 

วิปปิ้งครีมชนิด Whipping Powder (วิปปิ้งครีมแบบผง)

 

 

     Whipping Powder วิปปิ้งครีมแบบผง ตามท้องตลาดจะมีทั้งแบบ Dairy และ Non-Dairy เป็นวิปปิ้งครีมชนิดที่มีราคาถูกที่สุด และเก็บรักษาง่ายที่สุด เหมาะกับการเอามาทำเมนูเบเกอรี่ที่ต้องการให้ครีมคงทน อยู่ตัวได้นานในอุณหภูมิปกติ ตีให้ขึ้นฟูได้ง่าย เนื่องจากเป็นวิปปิ้งครีมที่มีปริมาณไขมันมากกว่าวิปปิ้งครีมแบบน้ำ โดยก่อนตีต้องเอาผงวิปปิ้งครีมมาผสมกับน้ำอุณหภูทิห้องก่อน แล้วค่อยตี

 

  • กลิ่น : กลิ่นคล้ายนมผง
  • รสสัมผัส : แน่น มันลื่น จับตัวกันเป็นก้อน มีรสหวานอ่อนๆ
  • สี : ขาว
  • ตีขึ้นง่าย : 5/5 (ใช้เวลาในการตีน้อยที่สุด)
  • การเก็บรักษา (ก่อนตี) : เก็บได้นานในที่แห้ง ไม่ต้องแช่ตู้เย็น
  • การเก็บรักษา (หลังตี) : เก็บในตู้เย็นได้นานกว่าวิปปิ้งครีมชนิดอื่น
  • เหมาะกับเมนู : เค้กที่ตั้งราคาไม่สูงมาก หรือเค้กที่วางขายนอกตู้เย็น

 

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

---------------------------

 

อัพเดทคาเฟ่สุดชิล รีวิวร้านอร่อยร้านดัง แจกสูตรอาหารเด็ดๆ
มาพูดคุยแชร์รูปยั่วน้ำลาย ให้สายกินต้องอิจฉา
ที่แอปทรูไอดี คลิกเลย > TrueID Food Community <

 

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิพิเศษแนะนำ

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิพิเศษแนะนำ

ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
ดาวน์โหลด ทรูไอดีแอป
สัมผัสโลกไร้ขีดจำกัดกับทรูไอดี