เต้าหู้ สุดยอด ประโยชน์เพื่อสุขภาพ 2 ตุลา วันแห่งเต้าหู้

เต้าหู้ สุดยอด ประโยชน์เพื่อสุขภาพ 2 ตุลา วันแห่งเต้าหู้
2 ตุลาคม 2555 ( 08:27 )
18.2K

2 ตุลาคม ของทุกปี ที่ประเทศญี่ปุ่นถือว่าวันนี้เป็น วันแห่งเต้าหู้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมเต้าหู้ ทั้งนี้มาจากการเล่นคำในภาษาญี่ปุ่น Toufu (เต้าหู้) Tou = 10 , Fu = 2 นั่นเองค่ะ

และเต้าหู้ก็ได้รับการยอมรับจากเหล่านักโภชนาศาสตร์ในญี่ปุ่นว่าเป็น อาหารเพื่อสุขภาพ ชนิดหนึ่งเช่นกัน ยิ่งในเมนูสำหรับคนที่กำลังไดเอ็ทด้วยแล้ว ขาดเจ้าเต้าหู้นี้ไปไม่ได้เลยล่ะ

สำหรับในประเทศไทยเรา ก็คอนเฟิร์มว่าเต้าหู้เป็นอาหารประเภทดี มีเมนูที่ทำจากเต้าหู้เยอะแยะ แต่หลายๆท่านก็ยังคงไม่ชอบรสชาติของเจ้าแผ่นขาวๆนี้อยู่ดีใช่มั้ยล่ะค่ะ 

อย่างไรก็ตาม หากคุณรู้และมองเห็นคุณค่าของ เต้าหู้ อย่างลึกซึ้ง คุณอาจจะทุ่มเทหัวใจให้ความรัก และยกให้เต้าหู้เป็นจานสำคัญในทุกๆวันเลยก็ได้

 

สุขภาพจานอร่อยตั้งแต่อดีต
คนเฒ่าคนแก่ญี่ปุ่นเล่าสืบกันมาว่า ตั้งแต่ในอดีตกาล เต้าหู้จัดว่าเป็นอาหารอายุวัฒนะ เพราะเหล่าภิกษุสงฆ์กินเต้าหู้ในฐานะ “อาหารสมาธิ” และผู้คนที่อายุยืนยาวส่วนใหญ่ทานเต้าหู้กันเป็นประจำ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า วิวัฒนาการก้าวล้ำ ก็มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันถึงคุณค่าทางอาหารของเต้าหู้ว่า เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงในปัจจุบันความเจริญทางวัตถุมากขึ้นเท่าไหร่ โรคภัยก็เข้ามาหาคนเรามากเท่านั้น ไม่ว่าจะมะเร็ง, ความดันโลหิตสูง, ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว, โรคหัวใจ, เบาหวาน แล้วไหนจะอัตราคนที่เป็นโรคอ้วน โรคชรา ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นด้วย  ซึ่งอาหารการกินเป็นส่วนสำคัญของการเกิดโรคภัยต่างๆ ดังนั้นเรายิ่งต้องให้ความสำคัญระมัดระวังมากยิ่งขึ้น สารอาหารในเต้าหู้สามารถช่วยคลี่คลาย บรรเทา ลดภาวะเสี่ยงโรคเหล่านั้นได้ ดังนั้นเต้าหู้จึงถูกขนานนามว่า “อาหารสุขภาพ” มาตั้งแต่ในอดีต

ถั่วเหลืองกับเต้าหู้
อย่างที่เราทราบกันดีค่ะว่า เต้าหู้เกิดมาจาก “ถั่วเหลือง” เท่านั้น ถั่วเหลืองอุดมไปด้วยไขมันชั้นดีกับโปรตีนเหมือนเนื้อสัตว์  (โดยเฉลี่ยมีโปรตีน 35-45%, ไขมัน 18-26%) จึงจัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมากทีเดียว และนอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยเกลือแร่และวิตามินอีกด้วย  แน่นอนว่าเต้าหู้ที่ถือกำเนิดมาจากถั่วเหลืองก็ย่อมมีคุณค่าไม่ด้อยไปกว่าต้นกำเนิด

เต้าหู้ พลังคู่สุขภาพ
พลังของเต้าหู้ช่วยดูแลสุขภาพของคนเราได้ด้วยเพราะคุณค่าทางสารอาหารที่ประกอบอยู่ในแผ่นขาวๆนั้น ลดความดันเลือด, ลดคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว (โปรตีน, กรดไลโนเลอิก {Linoleic Acid}) โปรตีนของเต้าหู้จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เนื่องจากส่วนประกอบหนึ่งที่ชื่อ “เปปไทด์” จะเข้าไปควบคุมระดับความดันในเลือดที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งกรดไลโนเลอิกที่มีอยู่มากในไขมันของเต้าหู้จะเข้าไปสกัดกั้นคอเลสเตอรอลที่เดิมทีเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งหากระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง นั่นเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆทั้ง โรคหัวใจ, หลอดเลือดแดงแข็งตัว, ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นต้น ดังนั้นเต้าหู้ช่วยได้ค่ะ


เผาผลาญไขมัน, ป้องกันตับแข็ง (เลซิติน {Lecithin})

เลซิตินเป็นส่วนประกอบในถั่วเหลือง ช่วยควบคุมกรดไขมันไม่อิ่มตัว เจ้าเลซิตินจะเป็นตัวช่วยสลายคอเลสเตอรอลที่ที่เกาะติดหนึบอยู่ที่หลอดเลือดให้ไหลออกไปได้ดี  ป้องกันไขมันจับตัวกัน  ป้องกันภาวะเลือดแข็งตัว, เลือดออกในสมอง และนอกจากการเผาผลาญไขมันแล้ว ยังช่วยลดปริมาณไขันในตับ ดังนั้นจึงช่วยลดภาวะเสี่ยงการเป็นตับแข็งสำหรับคนดื่มเหล้าได้ด้วย (แต่ทางที่ดีเลิกดื่มไปเลยจะดีที่สุด)

เพิ่มพลังความจำ, ป้องกันสมองเสื่อม (เลซิติน, โคลิน {Choline})

พลังของเลซิตินยังช่วยในเรื่องการทำงานของสมองอีกด้วย โดยสารประกอบในเลซิตินที่ชื่อว่า โคลิน (Choline) เลซิตินมีความสำคัญต่อระบบประสาทที่เกี่ยวพันกับสมอง ทางด้านโคลินจะแตกตัวกระจายอย่างอิสระในลำไส้เมื่อเรารับเลซิตินผ่านทางการรับประทานอาหาร จากนั้นจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็น อะเซททิลโคลิน (Acetylcholine) แล้วผ่านเข้าไปในสมอง ซึ่งจะช่วยป้องกันความชราภาพของภาวะสมองอันเป็นเหตุให้เกิดโรคความจำเสื่อมได้ค่ะ

ป้องกันโรคชรา (ซาโพนิน {Saponin})

คนเราเมื่ออายุมากขึ้น สภาพร่างกายและสภาวะอารมณ์ก็แปรปรวน แต่เต้าหู้ที่ทำมาจากถั่วเหลืองซึ่งมีสารซาโพนินเป็นส่วนประกอบ จะช่วยป้อกันกรดไขมันที่เป็นตัวร้ายสำคัญที่ทำให้เกิดความชรา, ช่วยควบคุมการทำงานของเอนไซม์, กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ส่งผลให้การขับถ่ายทำงานได้ดี เมื่อระบบในร่างกายทำงานดีซะอย่าง คำว่า “แก่” ก็ห่างไกลค่ะ

  

ป้องกันโรคกระดูก, มะเร็งเต้านม และภาวะเลือดแข็งตัว (อินฟลาโวนอยด์ {Inflavonoid} ที่เปรียบได้กับฮอร์โมนของผู้หญิง) 

อินฟลาโวนอยด์เป็นมิตรกับกลีโคไซด์ (Glycoside สารประกอบจำพวกหนึ่งที่ให้น้ำตาล) เช่นเดียวกับซาโพนิน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในถั่วเหลือง  ด้วยความที่มีการทำงานคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง จึงถูกเรียกว่า เอสโตรเจนพืช ดังนั้นจึงมีส่วนช่วยควบคุมการลดลงของฮอร์โมนผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงนี้มีแคลเซียม และเกี่ยวพันกับมะเร็งเต้านม ดังนั้นอินฟลาโวนอยด์ในถั่วเหลืองช่วยได้ เพราะฉะนั้นหญิงวัยหมดประจำเดือน จำเป็นอย่างยิ่งกับการรับประทานเต้าหู้ค่ะ

ป้องกันและบรรเทาอาการเบาหวาน (ทริปซิน {Trypsin})

ทริปซิน คือ เอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนให้กลายเป็นกรดอะมิโน และในปัจจุบันนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันและควบคุมการหลั่งอินซูลินที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานด้วย ดังนั้นหากรับประทานเต้าหู้ที่อุดมไปด้วยโปรตีน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้

 

เพิ่มแลคโตบาซิลัส และแบคทีเรียชั้นดีในลำไส้ (น้ำตาลโอลิโกแซ็กคาไรด์  {Oligosaccharide})

น้ำตาลโอลิโกแซ็กคาไรด์ เป็นส่วนประกอบน้ำตาลของถั่วเหลือที่ให้ความหวานในเต้าหู้นั่นเอง แลคโตบาซิลัสจะช่วยควบคุมการเพิ่มของแบคทีเรียตัวร้ายในลำไส้ (อันเป็นสาเหตุของโรคลำไส้) ลำไส้ทำงานได้ดี การขับถ่ายไม่มีปัญหา โรคภัยไม่มาเยือนค่ะ

 

เสริมสร้างกระดูกและฟัน (แคลเซียม)

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟัน และเมื่อขาดก็จะส่งผลต่อระบบประสาทและอารมณ์ ทำให้หงุดหงิดง่าย อารมณ์ บ่จอยบ่อยๆ อีกทั้งแคลเซียมยังช่วยในการดูดซึมโปรตีนของเต้าหู้ด้วย

 

ผิวพรรณสวยเปล่งปลั่งจากบรรดาวิตามินในเต้าหู้

เต้าหู้ทำมาจากถั่วเหลืองที่คับคังไปด้วยวิตามิน ทั้ง วิตามินอี, วิตามินบี1, วิตามินบี2, วิตามินบี3 ซึ่งวิตามินอีช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานได้ดี, ผิวพรรณสวย, คลายความตึงเครียด, คลายอาการปวดท้อง, ควบคุมการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันและเอนไซม์, ป้องกันมะเร็ง, ป้องกันโรคชราได้ ส่วนวิตามินบีช่วยปกป้องผิวหนัง, ป้องกันเยื่อบุผิวหนัง, ป้องกันโรคกระเพาะและลำไส้

โอ้โห…พลังมหัศจรรย์แห่งเต้าหู้…รู้เช่นนี้แล้วเห็นทีต้องทานเต้าหู้ให้มากขึ้นซะแล้วล่ะค่ะ

เรื่องโดย : อุมัย

 

ติดตาม travel.truelife.com อีกช่องทางที่

 

  

 ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และที่พัก คลิกที่ http://travel.truelife.com

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิพิเศษแนะนำ

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิพิเศษแนะนำ