ประโยชน์ของ ตำลึง ผักริมรั้ว สรรพคุณเยอะ มีฤทธิ์เย็น บำรุงสายตา
ตำลึง ผักใบเขียวริมรั้ว หาเก็บง่ายตามรั้วบ้าน ซึ่งถึงแม้ว่าจะดูเป็นผักที่หาง่ายๆ ราคาไม่แพง แต่บอกเลยว่า ประโยชน์ของ ตำลึง มีหลากหลาย ดีต่อร่างกาย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจาก ตำลึง ช่วยบำรุงสายตาแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคอื่นๆ ได้อีกด้วยค่ะ ใครที่ชอบทานอยู่แล้วต้องหลงรักมากขึ้นไปอีก จะมีสรรพคุณอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่า
ประโยชน์ และสรรพคุณของ ตำลึง
ลักษณะของ ตำลึง
ตำลึง มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว มีรูปร่างรูปไต ปลายติ่งแหลม โคนใบเป็นโคนรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นคลื่น สีเขียว ขอบใบเป็นแฉกเว้าเล็กน้อย มักจะเกิดขึ้นตามรั้วบ้าน โดยขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในฤดูฝน
ชื่อของตำลึง
- ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Coccinia grandis Voigt
- ชื่อสามัญ : ตำลึง
- ชื่อภาษาอังกฤษ : Ivy gourd
- ชื่อตามพื้นบ้าน : สี่บาท (ภาคกลาง) ผักแคบ (ภาคเหนือ) ผักตำนิน (ภาคอีสาน)แคเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน)
คุณค่าทางโภชนาการของใบตำลึงและยอดอ่อนตำลึงปริมาณ 100 กรัม
- พลังงาน 39 กิโลแคลอรี
- น้ำ 90.7 กรัม
- โปรตีน 3.3 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 5.5 กรัม
- ใยอาหาร 1.0 กรัม
- เถ้า 0.1 กรัม
- แคลเซียม 126 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 4.6 มิลลิกรัม
- เบต้าแคโรทีน 5,190 ไมโครกรัม
- วิตามินเอ 865 ไมโครกรัม
- ไทอามีน 0.17 มิลลิกรัม
- ไรโบฟลาวิน 0.13 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 1.2 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 34 มิลลิกรัม
ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สรรพคุณของ ตำลึง
- ใบ มีรสเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษ แก้อาการแสบคัน บรรเทาเริม งูสวัด
- เถา มีรสเย็น สรรพคุณช่วยรักษาโรคตาเจ็บ ใช้แก้ตาฟาง ตาช้ำ
- ดอก ใช้แก้คัน
- ผล รักษาโรคผิวหนัง รักษาอาการอักเสบของหลอดลม และช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- เมล็ด นำมาตำกับน้ำมันมะพร้าว ใช้แก้หิด
- ราก ต้มกับน้ำดื่มลดไข้ ลดอาเจียน
- ต้น ใช้กำจัดกลิ่นตัว น้ำต้มจากต้นตำลึงรักษาเบาหวานได้
ประโยชน์ของ ตำลึง
1. บำรุงสายตา
ตำลึงเป็นแหล่งของวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน ซึ่งเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นวิตามินเอได้ ทำให้ตำลึงเป็นหนึ่งในสุดยอดของอาหารบำรุงสายตา ที่หาทานง่าย และมีรสชาติอร่อย
2. เสริมภูมิต้านทาน
เนื่องจากตำลึงมีวิตามินเอ และเบต้าแคโรทียสูง จึงสามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ดี ทำให้ไม่เจ็บป่วย หรือเป็นไข้หวัดได้ง่าย
3. ตำลึงรักษาเบาหวาน
จากงานวิจัยของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ตำลึงเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ค่อนข้างสูง สามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคต่างๆ ได้ ทั้งโรคเบาหวาน เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่าตำลึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนในใบตำลึงก็มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้
4. บำรุงกระดูก
จากการศึกษาของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ใบตำลึงมีแคลเซียมสูง และแคลเซียมจากตำลึงยังเป็นแคลเซียมชนิดที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้เทียบเท่ากับแคลเซียมที่อยู่ในนมวัว เพราะฉะนั้นผู้ที่แพ้นมวัว หรือดื่มนมแล้วท้องเสียสามารถรับแคลเซียมจากตำลึงแทนได้
5. แก้อาการแสบคันจากแมลงสัตว์กัดต่อย
ใบตำลึงมีฤทธิ์เย็น ช่วยดับพิษร้อนจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ในระดับหนึ่ง โดยให้ล้างแผลด้วยน้ำไหลให้สะอาด จากนั้นใช้ใบตำลึงไม่แก่จัดหรืออ่อนจัดจนเกินไป ล้างใบตำลึงให้สะอาด จากนั้นขยี้ใบตำลึงแล้วมาประคบผิวบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อยสักพัก อาการแสบคันจะบรรเทาขึ้น หากอาการแสบร้อนยังไม่หาย ให้เปลี่ยนใบตำลึงบ่อยๆ แต่หากอาการแสบร้อนหาย แล้วอาการคันไม่หาย แนะนำให้ใช้ยาทาแก้คันแผนปัจจุบันร่วมด้วย
6. ช่วยย่อยอาหาร
ใบตำลึงและเถาตำลึงมีเอนไซม์อะไมเลสอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งได้ดี หากเกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืดจากอาหารไม่ย่อย ให้ใช้ใบตำลึงประมาณ 1 กำมือ ผสมกับเถาตำลึงเด็ดขนาดเท่านิ้วก้อย 1 กำมือ โขลกรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำตำลึงมาผสมน้ำอุ่น 1 แก้วกาแฟ ดื่มก่อนอาหารประมาณ 5-10 นาที เพื่อเรียกน้ำย่อย หรือจะใช้ใบตำลึงแก่ลวกพอสุก กินเป็นผักเคียงพร้อมกับอาหารในแต่ละมื้อเลยก็ได้
ข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์สารนิเทศทางอาหาร , มูลนิธิสุขภาพไทย
บทความที่คุณอาจสนใจ
- ประโยชน์ของ 10 ผักสวนครัว ยอดฮิต แต่ละชนิดใกล้ตัว มีคุณค่ามากกว่าคิด
- ประโยชน์ของ 15 ผลไม้หน้าฝน มีอะไรบ้าง วิตามินซีสูง ดีต่อสุขภาพ
- รวม ผลไม้ตามฤดูกาล เดือนไหนกินผลไม้อะไรดี ทั้งอร่อย และไม่แพง