"กล้วยเชื่อม" เป็นขนมไทยที่มีมานาน ในอดีตนิยมนำกล้วยน้ำว้ามาเชื่อม แต่ปัจจุบันมีการดัดแปลงนำกล้วยหลายๆชนิดมาเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นกล้วยหักมุก กล้วยไข่ ซึ่งการใช้กล้วยต่างชนิดกัน ขนมกล้วยเชื่อมที่ได้จะให้รสชาติและรสสัมผัสที่แตกต่าง เช่น กล้วยน้ำว้าเชื่อม จะมีสีแดง รสชาติหวาน หนึบหนับ จากความเหนียวหนึบของเนื้อกล้วย ส่วนกล้วยไข่เชื่อม จะให้สีเหลืองทอง รสชาติหวาน ซุย ไม่หนึบหนับเท่ากล้วยน้ำว้า แต่การนำกล้วยไข่มาเชื่อม ขั้นตอนการทำจะแตกต่างจากการใช้กล้วยน้ำว้า เนื่องจากเนื้อกล้วยไม่เหมือนกับกล้วยน้ำว้า และวันนี้ใครที่คิดว่าการเชื่อมกล้วยไข่นั้นทำได้ยาก วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆในการทำกล้วยไข่เชื่อมมาฝากกันจ้า รับรองกล้วยไม่เละน้าา #สูตรกล้วยไข่เชื่อม# 1.กล้วยไข่ห่าม(เปลือกกล้วยมีสีเขียวปนเล็กน้อย) 20 ผล 2.น้ำตาลทราย 500 กรัม 3.น้ำเปล่า 400 มิลลิลิตร 4.ใบเตย 3-4 ใบ 5.น้ำมะนาว 1 ช้อนชา #น้ำแช่กล้วยไข่# 1.น้ำปูนใส 1,200 มิลลิลิตร 2.เกลือป่น 1/2 ช้อนโต๊ะ 3.น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ # หัวกะทิราดกล้วยเชื่อม# 1.หัวกะทิ 200 กรัม 2.เกลือป่น 1/2 ช้อนชา 3.ใบเตย 2-3 ใบ #วิธีทำ# 1.นำน้ำปูนใส เกลือป่น น้ำมะนาว ผสมให้เข้ากัน เตรียมแช่กล้วยไข่ก่อนนำไปใช้ เพื่อไม่ให้กล้วยไข่ดำ และ เละ เมื่อนำไปเชื่อม 2.ปอกเปลือกกล้วยไข่ โดยตัดหัวตัดท้ายผลกล้วย แล้วใช้มีดกรีดเปลือกเบาๆ ตามแนวยาวของผล จากนั้นแกะเปลือกออก นำกล้วยไข่ไปแช่ในน้ำที่เตรียมไว้ในข้อ 1 ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป จากนั้นนำกล้วยไข่ไปล้างน้าเปล่าให้สะอาด 2-3 ครั้ง 3. นำน้ำตาลทราย เกลือ น้ำเปล่า บีบมะนาวลงไป 1 ซีก ใบเตย ผสมรวมกัน ยกขึ้นตั้งไฟ โดยใช้ไฟกลาง คนให้น้ำตาลละลาย เมื่อน้ำตาลละลายหมด ให้ลดไฟลงจนอ่อนเคี่ยวต่อไปจนน้ำตาลเริ่มยืดเล็กน้อย นำใบเตยออก จากนั้นนำกล้วยไข่ที่เตรียมไว้ใส่ลงไป ให้ใช้ไฟอ่อน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง สังเกตกล้วยไข่ค่อยๆสีเข้มขึ้น ลูกใสขึ้น น้ำตาลหนืด ยืด แทรกเข้าไปในเนื้อกล้วยไข่ ยกลง ปิดไฟ แล้วพักกล้วยไข่ไว้ในน้ำเชื่อมต่อไปให้น้ำตาลซึมเข้าเนื้อกล้วยไข่เต็มที่ 4.นำหัวกะทิ เกลือป่น ใบเตย ผสมรวมกัน ยกขึ้นตั้งไฟ พอกะทิเดือด ยกลง อย่าให้กะทิแตกมัน ถ้าต้องการให้กะทิหนืดให้ผสมแป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ แล้วคนให้แป้งละลาย ยกขึ้นตั้งไฟ คนไปเรื่อย พอกะทิเดือด ยกลง 5.วิธีการตักเสริฟ ให้ตักกล้วยไข่ใส่ถ้วย ราดด้วยหัวกะทิตามชอบ *ทริค* 1.การแช่กล้วยไข่ในน้ำปูนใส ช่วยให้กล้วยไข่ไม่เละ เมื่อนำไปเชื่อม 2. การแช่กล้วยไข่ด้วยน้ำเกลือผสมน้ำมะนาว ช่วยให้กล้วยไข่ไม่ดำ เพราะล้างยางกล้วยออกไปหมดแล้ว 3.การเลือกใช้กล้วยห่ามมาทำขนม ช่วยลดการเละของกล้วยได้ส่วนหนึ่ง 4.การใช้แป้งข้าวเจ้าผสมในหัวกะทิ ช่วยให้หัวกะทิหนืด ข้น ขึ้น 5.การบีบมะนาวลงไปในน้ำตาลเชื่อม ช่วยให้น้ำตาลไม่ตกทราย และน้ำตาลจะใส 6.การเชื่อมกล้วยถ้าใช้ไฟแรง กล้วยจะเละ น้ำตาลจะแห้งและไหม้ ก่อนที่น้ำตาลจะแทรกเข้าไปในเนื้อกล้วย "กล้วยไข่เชื่อม"สูตรนี้ เป็นสูตรดั้งเดิม ที่เน้นการใช้น้ำตาลทราย รสหวานที่ได้จะเป็นรสหวานแหลม ผสมความหวานของกล้วย ตัดด้วยความมันของ หัวกะทิที่มีรสเค็มเล็กน้อย ทำให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น รสหวานจะไม่จัดจ้านเท่าการใช้น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลมะพร้าว น้ำเชื่อมที่ได้จะมีลักษณะใส แวววาว การรับประทานกล้วยเชื่อม ถ้าไม่มีหัวกะทิ สามารถรับประทานกล้วยเชื่อมไม่ราดหัวกะทิได้เลย รสชาติของกล้วยเชื่อมจะแตกต่างจากรสกล้วยเชื่อมที่ราดหัวกะทิ กล้วยไข่เชื่อมที่ได้จะมีสีเหลืองทอง สวย น่ารับประทานมาก จะแตกต่างจากกล้วยน้ำว้าเชื่อม ซึ่งจะได้กล้วยเชื่อมสีแดง และมีความเหนียวหนึบจากเนื้อกล้วยมากกว่ากล้วยไข่ นั่นเอง เครดิตภาพหน้าปกตกแต่งเทมเพลต โดย AlfianSaputra/ภาพผลิตภัณฑ์หน้าปก โดย Bw/ภาพที่ 1-4 โดย Bw ผู้เขียน Bw ห้องส่องร้านดังมาแรง รวมของกินอร่อยต้องโดน บอกสูตรเมนูลับที่ไม่ลับอีกต่อไป