เมื่อพูดถึงคนล้านนาหรือคนไทยในอดีต วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่เรียบง่าย เป็นชุมชนล้านนาโบราณ ที่มีการพัฒนา จนเป็นเมืองในยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่ผู้สูงอายุรุ่น ปู่ย่า ตายาย ยังนำเอาวัฒนธรรมการใช้ชีวิตดั้งเดิม เหมือนในอดีตบางอย่าง มาปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้ วันนี้ผู้เขียนจะขอพูดถึง การอมเมี่ยง และ การเคี้ยวหมาก ที่ปัจจุบัน ยังคงมี ผู้สูงอายุบางท่าน ยังทานอยู่ คนโบราณจะนำเอา เมี่ยง และ หมาก มาเป็นอาหารว่าง หรือ อาหารสำหรับเคี้ยวเล่น หรือเป็นของไว้สำหรับต้อนรับแขก ปัจจุบันยังพอมีหลงเหลือให้เห็นกันอยู่ เมี่ยง เป็นใบชาชนิดหนึ่งนิยมปลูกกันมาก ในภาคเหนือตอนบน คนพื้นเมืองในอดีตนิยมนำเมี่ยงไว้สำหรับเคี้ยวเล่น โดยการนำใบของต้นชานึ่ง แล้วนำไปหมักประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน จากนั้นก็จะได้เมี่ยงที่มีรสชาติแตกต่างกัน ตามระยะเวลาที่หมัก เช่น รสเปรี้ยว และ รสฝาด ใบเมี่ยงหรือใบชาเมี่ยง มีสรรพคุณ ทำให้ผ่อนคลาย และ ทำให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยในการลดกลิ่นปากและกลิ่นกายได้ดีอีกด้วย เมี่ยงรสเปรี้ยว และ รสฝาด นิยมนำมาทานคู่กับเกลือเม็ด และขิงอ่อน จะได้รสชาติที่เข้ากัน เมี่ยงหวาน หรือ เมี่ยงคำ ชนิดนี้มีการนำเอาเมี่ยงมาดัดแปลงให้เป็นของทานเล่นรสหวาน มีการใส่สมุนไพร และ วิธีการทำที่แตกต่างแต่ละพื้นที่ โดยเมี่ยงชนิดนี้จะมีการนำเมี่ยง มาคลุกเคล้ากับไส้ ซึ่งเรียกว่า ไส้เมี่ยง จะมีรสชาติที่หวานกลมกล่อมหอมขิงคั่ว และ มะพร้าวคั่ว เป็นของทานเล่นอีกชนิดหนึ่งที่คนนิยมทานกันมาก ปัจจุบันมีให้เห็นในงานทำบุญ ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช และ งานบุญต่าง ๆ ไส้เมี่ยง มีส่วนผสมของน้ำอ้อยคือน้ำตาลเคี่ยวจนเหนียวจากนั้นจะนำขิงคั่ว และมะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงทอด หมากพลู ในสมัยโบราณหรือคนพื้นเมือง นิยมเคี้ยวหมาก เพราะถือว่าเป็นของทานเล่นอีกชนิดหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ หมากจะแตกต่างกับเมี่ยง เพราะจะมีรสชาติเผ็ด เมื่อเคี้ยวเป็นเวลานานจะทำให้ฟันมีสีแดง หรือ สีดำคล้ำ เมื่อไม่ได้เคี้ยวจะเกิดอาการหงุดหงิดทันที ส่วนผสมของหมากก็จะมีใบพลู ปูนแดง ขี้เสียด หมากสด หรือ หมากแห้ง สำหรับผู้ที่เคี้ยวหมากบางท่าน อาจจะใส่ยาเส้นไปด้วย สรรพคุณของการทานหมาก สามารถช่วยยับยั้งกลิ่นปากได้ ช่วยลดอาการปวดฟัน ที่สำคัญช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจได้เป็นอย่างดี ผู้สูงอายุ หรือ คนเฒ่าคนแก่ในสมัยโบราณ ท่านที่ชอบอมเมี่ยง หรือ ชอบเคี้ยวหมาก จะพกติดตัวไปด้วยทุกที่ นับได้ว่าเป็นของทานเล่นที่กลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว ปัจจุบันยังมีให้เห็นไม่มากนัก แต่ผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบทต่างหวัด จะยังมีบางท่านที่ยังอมเมี่ยงและเคี้ยวหมาก เป็นชีวิตประจำวัน บางท่านถึงกับทานหลังมื้ออาหาร และ นำมาอมหรือเคี้ยวในขณะที่รู้สึกง่วงไม่สดชื่น นับว่าเป็นของทานเล่นที่ให้ทั้งประโยชน์ และทำให้สดชื่นได้ดีเลยทีเดียว หมายเหตุ รูปภาพโดยผู้เขียน