ผักหนอกหรือใบบัวบกอีสาน คืออะไร ขมไหม กินกับอะไรดี | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล ในบางครั้งความสับสนในบางเรื่องอาจเกิดจากที่เราใช้ภาษาต่างกัน และตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการเรียกชื่อของผักชนิดต่างๆ ในประเทศไทยเรา โดยมีหลายคนอาจสงสัยว่า ผักหนอกคือผักอะไร ใบบัวบกของทางภาคอีสานคืออะไร หน้าตาแบบเดียวกันหรือเป็นคนละอย่าง รสชาติและการนำมาใช้เป็นอาหารต้องประมาณไหน ซึ่งคำถามเหล่านี้น่าจะยังติดอยู่ในหัวของใครหลายคนมาจนถึงปัจจุบัน จริงไหมคะ? แต่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะในบทความนี้ผู้เขียนมีข้อมูลมาให้แล้ว ที่จะว่าเป็นข้อมูลจากคนเป็นๆ ตัวจริง จากในพื้นที่เลยก็ได้ เพราะผู้เขียนเป็นคนอีสานค่ะ และตั้งแต่จำความได้ก็รู้จักผักหนอกแล้ว ซึ่งมีประสบการณ์เคยเห็น เคยได้เก็บและเคยนำมาทานเป็นผักสดนับครั้งไม่ถ้วนมาแล้ว แถมครั้งหนึ่งเคยได้ช่วยแม่ปลูกผักหนอกด้วย ดังนั้นพอพูดถึงผักหนอกหรือใบบัวบกอีสาน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้เขียนอีกต่อไป ดังนั้นถ้าอยากรู้มากขึ้นเกี่ยวกับผักชนิดนี้ เรามาอ่านต่อกันเลยดีกว่า กับเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้ค่ะ หลายคนยังไม่รู้ว่า คำว่า "ผักหนอก" เป็นภาษาอีสานที่ใช้เรียกใบบัวบกค่ะ และนอกจากภาคอีสานของประเทศไทยที่เรียกว่าผักหนอกแล้ว ภาคเหนือจะเรียกว่าผักหนอกเช่นกัน ส่วนภาคใต้และจังหวัดตราดจะเรียกว่าผักแว่น และคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า ผักหนอกเป็นไม้ล้มลุก เป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ เช่น ริมลำธาร หนองน้ำ หรือทุ่งนา โดยในธรรมชาติเราจะพบว่า ผักหนอกมีลำต้นเลื้อยไปตามดินที่ชื้นแฉะ มีรากงอกออกตามข้อของลำต้น มีใบแบบใบเดี่ยว ใบออกเรียงสลับกัน โดยใบงอกเป็นกระจุกออกจากข้อ ข้อละ 2-10 ใบ ลักษณะใบของผักหนอกคล้ายรูปไต รูปร่างกลม ฐานใบโค้งเว้าเข้าหากัน ขอบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย แผ่นใบมีสีเขียวและมีขนเล็กน้อย ก้านใบมีสีเขียวยาว ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกใบ มีประมาณ 2-5 ช่อ ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 4-5 ดอก ผักหนอกดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกมีสีม่วงเข้มอมแดงสลับกัน และก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร โดยเมล็ดของผักหนอกมีสีดำ ผักหนอกมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีลักษณะที่แตกต่างกันเล็กน้อย เช่น ผักหนอกใหญ่: มีลักษณะใบที่ใหญ่กว่าผักหนอกทั่วไป และมีขอบใบจักเป็นเหลี่ยม ผักหนอกใบเล็ก: มีลักษณะใบที่เล็กกว่าผักหนอกทั่วไป และมีขอบใบจักเป็นพูตื้น ๆ และหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ผักหนอกสามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าผักหนอกมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี สามารถทนต่อสภาพอากาศที่หลากหลายได้ในระดับหนึ่ง ลำต้นของผักหนอกสามารถเลื้อยไปตามดินและงอกรากออกตามข้อ ทำให้เกิดต้นใหม่ได้ เมล็ดของผักหนอกสามารถกระจายไปตามลมหรือน้ำ และงอกเป็นต้นใหม่ได้เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ผักหนอกจะสามารถเกิดเองตามธรรมชาติได้ ต้องมีปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตค่ะ เช่น ดินต้องมีความชื้นเพียงพอเพื่อให้รากของผักหนอกดูดซับน้ำและสารอาหารได้ ดินควรมีการระบายน้ำได้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้รากเน่า ดินที่เหมาะสมควรเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินเหนียวที่มีความชื้น แสงแดดที่เพียงพอจะช่วยให้ผักหนอกสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตได้ดี เป็นต้น สามารถนำมาทานได้ทั้งใบและต้น โดยนำมาทำเป็นผักสด ซึ่งผักชนิดนี้มีความขมตามธรรมชาติค่ะ ใบของผักหนอกมีรสขมเล็กน้อยถึงปานกลาง ใบแก่จะมีรสขมมากกว่าใบอ่อน ส่วนของลำต้นมีรสขมเล็กน้อย ลำต้นส่วนที่อยู่ใกล้รากจะมีรสขมมากกว่าส่วนปลาย และรากของผักหนอกเป็นส่วนที่มีความขมมากที่สุด โดยทั่วไปแล้ว ความขมของผักหนอกไม่ได้ขมจนทานไม่ได้ แต่จะมีความขมติดปลายลิ้นเล็กน้อย ซึ่งความขมนี้เองที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติของผักหนอก และปัจจัยที่มีผลต่อความขมของผักหนอก ได้แก่ ชนิดของผักหนอก: ผักหนอกมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีความขมที่แตกต่างกัน สภาพแวดล้อม: ผักหนอกที่ขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะมีความขมน้อยกว่าผักหนอกที่ขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม อายุของผักหนอก: ผักหนอกอ่อนจะมีรสขมน้อยกว่าผักหนอกแก่ อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็ได้รู้แล้วว่า ผักหนอกเป็นผักที่ขึ้นตามธรรมชาติ จึงอาจมีดินโคลนหรือสิ่งสกปรกติดมาได้ การล้างผักหนอกให้สะอาดก่อนทานจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความปลอดภัยและรสชาติที่ดี แต่ไม่ควรแช่ผักหนอกในน้ำผสมนานเกินไป เพราะอาจทำให้ผักช้ำและเสียรสชาติ และควรล้างผักหนอกก่อนนำมาปรุงอาหารทันที เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค โดยวิธีล้างผักหนอกด้วยเกลือให้ทำตามนี้ค่ะ ตัดส่วนรากและส่วนที่เน่าเสียทิ้ง เปิดน้ำให้ไหลผ่านผักหนอก และใช้มือคลี่ใบผักถูไปมาเบาๆ เพื่อล้างดินโคลนและสิ่งสกปรกออก ล้างซ้ำ 2-3 ครั้ง จนน้ำล้างสะอาด ผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำ 1 ลิตร นำผักหนอกลงแช่ในน้ำเกลือประมาณ 10-15 นาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ปกติผู้เขียนได้มีโอกาสทานผักหนอกเป็นผักสดค่ะ ที่ส่วนมากแล้วจะไม่ได้ซื้อ เพราะที่สวนมีผักหนอกเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ในสถานการณ์จริงก็ไม่ได้ทานผักหนอกทุกวัน เพราะตลอดทั้งปีของบ้านเราก็ดูเหมือนว่าจะมีผักหลากหลายให้เลือกค่ะ ซึ่งเหตุผลที่ผู้เขียนเลือกทานผักหนอกเป็นบางครั้งนั้น เพราะชอบที่ว่าผักหนอกเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นผักปลอดสารพิษ ประกอบกับผักหนอกสามารถนำมาทานสดได้กับหลากหลายเมนู เช่น ส้มตำ น้ำพริกชนิดต่างๆ ยำข้าวแหนมคลุก ลาบ เป็นต้น และถ้าคุณผู้อ่านสนใจอยากทานผักหนอกบ้าง แนะนำว่าให้ไปซื้อที่ร้านขายผักพื้นบ้านค่ะ ราคาไม่ได้แพงมาก ถ้าแถวต่างจังหวัดเริ่มต้นกำละ 5 บาท แต่ในเมืองอาจจะกำละ 10 บาทขึ้นไป แต่ก็อาจมีบางร้านขายผักหนอก 3 กำ 10 บาท โดยใน 3 กำที่เลือกมาอาจเป็นผักหนอกรวมกับผักชนิดอื่นก็ได้ จะเรียกว่าราคาผักหนอกที่มีขายค่อนข้างหลากหลายก็ได้ค่ะ แต่โดยภาพรวมคือสามารถเข้าถึงได้ จึงอยากแนะนำเกี่ยวกับผักหนอกสำหรับคนที่สนใจเรื่องการทานผักพื้นบ้านไว้เพียงเท่านี้ ยังไงก็อย่าลืมซื้อผักหนอกมาลองทานกันค่ะ และผู้เขียนหวังว่าเนื้อในบทความนี้จะสามารถเป็นแนวทางให้กับคุณผู้อ่านได้บ้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน ต้นทูน กินกับส้มตำ ต่างจากบอนไหม รสชาติแบบไหน มะอึก คืออะไร รสชาติแบบไหน ทำอะไรได้บ้าง ดอกหอม คืออะไร ทำเมนูไหนได้บ้าง รสชาติอร่อยไหม เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !