บีทรูท เป็นพืชหัวที่คนไทยเริ่มรู้จักกันเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง จำได้ว่าเวลานั้นคนไทยจะเรียกบีทรูทแบบผิด ๆ ถูก ๆ เช่น บี๊ด-หรูด หรือไม่ก็ บี-ทรู้ด ซึ่งกว่าจะจำชื่อบีทรูทกันได้นั้นก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร แรกเริ่มเดิมทีดิฉันสนใจบีทรูทเพราะสีของมันค่ะคุณ เมืองไทยไม่เคยมีพืชหัวที่เนื้อข้างในเป็นชมพูม่วงเข้มแบบนี้มาก่อน ฉะนั้นเวลาเจอผักที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวดิฉันจะปรี่เข้าหาก่อนเพื่อนเลยค่ะ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไร นอกจากเอามาสไลด์เป็นเส้น ๆ กินกับสลัด แล้วก็ได้แต่ซื้อน้ำบีทรูทที่ผสมเสาวรสมากินบ้าง กระทั่งได้กินบีทรูทต้มที่ Sizzler ก็เลยได้รู้ว่า ออ มันเอามาต้มกินก็ได้นี่นะ สมัยนั้นการหาข้อมูลค่อนข้างจำกัดเพราะอินเตอร์เนตยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ การอัพเดทข้อมูลของดิฉันจึงได้มาจากนิตยสารรายเดือนเป็นหลักค่ะคุณ โดยเฉพาะนิตยสารสายอาหารค่ะ เครดิตภาพ : https://www.facebook.com/PizzoPizzaSisaket/ ภาพด้านบนคือสเต็กเนื้อซอสฟักทองที่แต่งด้วยใบบีทรูทค่ะคุณ เนื้อใบสีเขียวเข้มตัดกับก้านเส้นสีชมพูม่วง สวยมากเลยทีเดียว ขอบอกว่าใบบีทรูทในภาพนี้คือปลูกเองนะคะ รสชาติเท่าที่จำได้คือไม่ขมเลยค่ะคุณ กินเพลินค่ะ จากนั้นมาเมื่อได้มีโอกาสทำงานที่ห้องเบเกอรี โรงแรมพระนครนอนเล่น แถบเทเวศร์ ดิฉันจึงลองนำบีทรูทมาทำขนมปังค่ะคุณ เป็นการนำบีทรูทสดมาขูดฝอยด้วยที่ขูดชีสค่ะ เหตุผลที่เลือกขูดแทนการบดหรือปั่นเพราะดิฉันอยากให้มีเท็กซ์เจอร์ในขนมปังค่ะคุณเครดิตภาพ : พริกเผ็ด(ผู้เขียน) แล้วเมื่ออบออกมาก็จะได้ขนมปังบีทรูทดังภาพด้านล่างค่ะ สวยเนอะว่ามั้ย? เครดิตภาพ : พริกเผ็ด(ผู้เขียน) เมื่อได้รู้ว่าบีทรูทพอทำอะไรได้บ้าง ดิฉันก็เริ่มจับทางถูก ทีนี้ก็จัดไปอีกหลายเมนูเลยทีเดียว ซึ่งเมนูที่กลายเป็นเมนูประจำตัวไปเลยคือซุปบีทรูทค่ะคุณ ดิฉันเคยเขียนบทความและสูตรการทำซุปไปก่อนหน้านี้แล้วที่ลิ้งค์นี้ค่ะคุณ ครีมซุป-ซุปครีม ซึ่งสีของบีทรูทที่ได้จากการผสมครีมก็เป็นสีชมพูสวยอย่างในภาพด้านล่างเลยค่ะ เหมือนภาพลักษณ์ของหญิงสาวมาก นึกถึงคิมเบอร์รี่เลยค่ะ(เกี่ยวมั้ย?) เครดิตภาพ : พริกเผ็ด(ผู้เขียน) จากนั้นดิฉันก็เอาซุปที่เหลือมาสานต่อเป็น สปาเก็ตตี้พิ้งค์ซอส ตามภาพด้านล่างเลยค่ะ เพียงแค่ผัดเนยกับแฮมแผ่น ใส่เส้น แล้วเทซุปบีทรูทที่เหลือลงไป โปรยเกลือและพริกไทยเพิ่ม เติมครีมอีกสักเล็กน้อย พอเดือดก็ปิดแก๊ส เส้นสปาเก็ตตี้จะดูดสีชมพูเข้าไปค่ะคุณ เครดิตภาพ : พริกเผ็ด(ผู้เขียน) ต่อมาเกิดอยากกินบีทรูทแบบสดบ้าง ก็จัดไปเลยค่ะกับสลัดบีทรูท ดิฉันซอยบีทรูทเป็นแท่งยาว ราดครีมสลัดที่น้องชายทำ โรยผงกะหรี่นิดหน่อยเพิ่มกลิ่น รสชาติโอเคมากเลยค่ะ กลิ่นผงกะหรี่กลบความฉุนเฉพาะตัวของบีทรูทได้เยอะ กินง่าย สบายท้อง เครดิตภาพ : พริกเผ็ด(ผู้เขียน) บางครั้งดิฉันก็จะต้มบีทรูทกินกับสลัดค่ะ กินเฉย ๆ ก็อร่อยเพราะหลังจากต้มแล้วรสชาติมันจะออกหวานค่ะคุณ เครดิตภาพ : พริกเผ็ด(ผู้เขียน) ทีนี้มาต่อกันที่ซุปบีทรูทที่เหลืออีกที ดิฉันเทซุปผสมกับไข่ไก่ 4 ฟอง ตีให้เข้ากัน นำไปทำข้าวหน้าไข่ข้นชมพูตามภาพด้านล่าง เหมือนกับข้าวหน้าไข่ข้นกุ้งนั่นแหละค่ะ อร่อยดีเชียวล่ะ มัน ๆ ครีม ๆ นุ่ม ๆ เครดิตภาพ : พริกเผ็ด(ผู้เขียน) สุดท้ายสำหรับการนำบีทรูทมาทำอาหาร ภาพด้านล่างนี้คือเค้กเลมอนบีทรูทค่ะคุณ มิใช่เค้กชาเขียวถั่วแดงแต่อย่างใดนะคะ เครดิตภาพ : พริกเผ็ด(ผู้เขียน) ด้วยเพราะดิฉันอยากทำเค้กเลมอนค่ะคุณ คราแรกจะทำเค้กบีทรูทคู่กันกับไวท์ช็อกโกแลต แต่พอดีไปเจอเลมอนลูกสวยเข้า ก็เลยเอามาทำคู่กันกับบีทรูท รสชาติเค้กตัวนี้จะไม่เปรี้ยวมาก แต่หอมนวล ๆ จากผิวเลมอนผสมกับกลิ่นของวานิลลา ตัวสีแดงด้านบนคือบีทรูทรสชาติเปรี้ยวอมหวานที่เคี่ยวกันกับน้ำตาลและใส่น้ำเลมอนเพิ่มรส มีกลิ่นของผิวเลมอนกับวานิลลาเหมือนกับตัวเค้ก แทรกชั้นกลางด้วยเลมอนครีมรสอมเปรี้ยว ส่วนเนื้อเค้กไหงออกมาเป็นสีเขียวก็ไม่รู้ คงเป็นปฎิกิริยาของบีทรูทกับสารบางตัวล่ะมั้งคะคุณ โดยรวมคืออร่อยค่ะ ท้ายนี้ หวังว่าบทความของดิฉันจะทำให้ใครบางคนหลงเสน่ห์ของยัยบีทรูทอย่างที่ดิฉันเป็นบ้างนะคะ รักค่ะคุณ บาย