สวัสดีเด้อจ้า พี่น้องทุกหม่องทุกแจ วันนี้ขอทักทายเป็นภาษาอีสานสักเล็กน้อยก็แล้วกันค่ะ คือว่าที่ปูทางมาแบบนี้เพราะว่าวันนี้มีอาหารอีสานมาแนะนำ อีกแล้ว ซึ่งไม่ใช่ส้มตำ หรือลาบ ก้อย แต่อย่างใดค่ะ เป็นอาหารป่าพื้นบ้านที่เป็นที่ฮือฮาของคนภาคอีสานเพราะบางอย่าง 1 ปี จะมีให้ได้ทานกันแค่เพียง 1 ครั้ง เป็นของที่ถ้าใครนึกอยากจะลิ้มลองคือต้องใช้เวลารอคอยและอดทนสูงค่ะ แต่สำหรับบางคนหรือหลาย ๆ คนในถิ่นอีสานก็ยอมเฝ้ารอ เพื่อความอร่อยนานแค่ไหนใจก็รอได้ค่ะ ยอดเยี่ยมจริง ๆ และผู้เขียนก็ไปรวมของป่า ของหายากที่เด็ด ๆ มาแนะนำค่ะ ที่สำคัญไปกว่านั้น บางอย่างก็แอบมีราคาที่ปรี๊ดเหมือนกันค่ะ เรามาดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง สำหรับเพื่อน ๆ พี่ ๆ คนไหน ยังไม่เคยทราบก็มาทราบพร้อมกันที่นี่ ตอนนี้กันเลยค่ะ โดยจะเรียงลำดับตามราคาจากน้อย ๆ ไปหาราคามาก ๆ นะคะ ไปกันเลยจ้า 1. ไข่มดแดงและแม่เป้ง (หรือไข่มดส้ม)ชาวบ้านนิยมนำไข่มดแดงมาทำอาหาร เช่น ก้อย แกงอ่อม หมก และไข่เจียวใส่ไข่มดแดงเป็นต้น และตัวแม่เป้งก็สามารถนำมาทานได้เช่นกัน จะนิยมนำมาคั่วและปรุงรส ทานเล่น หรืออาจจะนำมาปรุงอาหารเช่น เอาไปใส่แกง หรือต้ม เพื่อให้ให้มีรสชาติเปรี้ยว เพิ่มอรรถรสของอาหารให้อร่อยตามความชอบนั่นเองค่ะ ราคาขาย “ไข่มดแดง” จะอยู่ที่ประมาณ ห่อละ ไม่เกิน 50 บาท ส่วน “ตัวแม่เป้ง” ราคาประมาณห่อละ 15-20 บาท (ส่วนมากคนจะนิยมทานไข่มดมากกว่าค่ะ) ฤดูกาลที่ได้รับผลผลิต จะมีในช่วงฤดูร้อนถึงร้อนจัดช่วง เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี 2. จิ้งหรีดหรือจิ้งโกร่ง (โดยภาษาอีสานจะเรียก จิ๊ล่อ บางที่ก็เรียก จิ๊โปม)จิ้งหรีดนี้ก็ถือเป็นอาหารที่นิยมทานกันอีกชนิดหนึ่ง มีโปรตีนค่อนข้างสูง และสามารถทานได้ทั้งตัว และยังนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่างค่ะ เช่น นำมาทำน้ำพริก ทอดกรอบ หรือแกงใส่หน่อไม้ หรือจะคั่วทานเป็นของว่างก็ได้เช่นกันค่ะ ราคาขาย จะอยู่ที่ประมาณตัวละ 1-2 บาท หรือ ห่อละ 50 บาท ฤดูกาลที่ได้รับผลผลิต จะมีในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี 3. แมงจินูนหรือแมงขะนูน (บางพื้นที่ก็เรียกไม่เหมือนกันค่ะ)แมงจินูนก็เป็นอีกหนึ่งอาหารภูมิปัญาท้องถิ่นไม่แพ้กับจิ้งหรีดเลยค่ะ มีโปรตีนสูงและสารอาหารครบถ้วน นำมาปรุงอาหารได้หลายเมนูเช่นกัน เช่น คั่ว ป่น (ตำน้ำพริก) ทอด แกง และถ้าแกงกับพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านด้วยแล้วยิ่งจะทำให้เพิ่มสารอาหาร และคุณค่าทางสมุนไพรได้อีกด้วยค่ะ ราคาขาย จะขายขีดละ 15-20 บาท กิโลกรัมละไม่เกิน 200 กว่าบาท ฤดูกาลที่ได้รับผลผลิต จะเริ่มมีในกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนค่ะ เพราะต้นไม้จะผลัดใบอ่อนเป็นที่ต้องการของเจ้าแมงจินูน และแมลงชนิดต่าง ๆ และจำนวนจะมาน้อยก็จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วยค่ะ (กว่าจะได้กินก็ลุ้นเหมือนกันนะคะเนี้ย) 4. เห็ดปลวกเห็ดปลวกหรือบางคนก็เรียกว่าเห็ดโคน ก็จะนำมาปรุงอาหารได้ง่ายและอร่อยทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็นเอามาแกง ต้ม ย่าง จะมีกลิ่นที่หอม และหวานมาก ๆ และนำมาผัดก็ยังได้จ้า และนอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังมีสรรพคุณทางยาช่วยให้ย่อยและขับเสมหะได้อีกด้วย ว้าวเลย!! หากใครยังไม่ลิ้มลองก็แนะนำนะคะ ราคาขาย จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-300 บาท ฤดูกาลที่ได้รับผลผลิต จะเริ่มมีในช่วงฤดูฝนหรือฝนตกใหม่ ๆ หรือช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมใน 1 ปี จะมีให้ทาน 1 ครั้งเท่านั้นค่ะ 5. เห็ดเผาะเห็ดเผาะเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่นับว่าเป็นขวัญใจใครหลายคน นำมาทำอาหารได้หลากหลายและอร่อยด้วย เช่น แกงใส่ไข่มดแดง คั่ว ผัด นึ่งทานกับน้ำพริกนอกจากนี้ยังมีประโยชน์หลายอย่างด้วยค่ะเช่น บำรุงร่างกาย ช่วยรักษาอาการร้อนใน และแก้ช้ำในเป็นต้น ราคาขาย อยู่ที่ขีดละ 50 บาท กิโลกรัมละ 800-1000 บาท (ว้าว ๆ ประโยชน์เยอะ ราคาก็ไม่เบานะคะ^^) ฤดูกาลที่ได้รับผลผลิต จะมีมาให้ได้ทานกันในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และมีราคาค่อนข้างสูง 6. เห็ดระโงกเห็ดระโงกนับว่าเป็นราชาเห็ดเลยก็ว่าได้ค่ะ จะมีสีเหลืองและสีขาวดอกใหญ่ และหายากมีราคาสูงปรี๊ด จะนิยมนำมาแกงใส่ผักที่มีรสชาติเปรี้ยวค่ะ เช่นผักติ้ว หรือใบมะขามอ่อน ต้มยำ และนำไปนึ่งจิ้มแจ่ว เห็ดระโงก มีส่วนช่วยบำรุงร่างกายให้มีกำลังแข็งแรง สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ดีอีกด้วยจ้า ราคาขาย กิโลกรัมละ 900-1200 บาท หรืออาจะขึ้นไปตามความหายากง่ายค่ะ ฤดูกาลที่ได้รับผลผลิต จะเริ่มออกช่วงต้นฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคมเรื่อยไปจนสิ้นฤดูค่ะ (เห็ดชนิดนี้ก็ราคาค่อนข้างปรี๊ดขั้นสุดเหมือนกันนะคะ แต่สำหรับคนชอบก็พลาดไม่ได้ ปีนึงต้องมีสักครั้งละคะ) และนี่ก็เป็นอาหารป่าของชาวภาคอีสานที่นับว่าเป็นอาหารภูมิปัญญาชาวบ้านที่หาได้จากธรรมชาติ ที่มีกันมายาวนานจนถึงปัจจุบันนี้ และยังเป็นการหารายได้อีกช่องทางหนึ่งของคนในท้องถิ่นอีกด้วยค่ะ ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์และความรู้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ทางภาคอื่น ๆ บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ #ขอบคุณพื้นที่จากทรู ที่เป็นสื่อกลางให้ได้แบ่งปันเรื่องราวอาหารพื้นบ้านภาคอีสานให้กับพี่น้องชาวภาคอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยได้ทราบมาก่อนได้รับรู้รับทราบนะคะ ^^ และขอบคุณทุกการกดติดตาม_เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนค่ะ ภาพประกอบทั้งหมดโดย || ถั่วงอกลีบ