ผักปลัง กินสดได้ไหม ทำอะไรดี ทานกับเมนูไหน | บทความโดย Pchalisa ผักพื้นบ้านที่ทานยอดได้มีหลากหลายมากค่ะ ซึ่งผักปลังคือหนึ่งตัวอย่างของยอดผักที่น่าสนใจ และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว โดยเมือกในผักปลังคือความแตกต่างอย่างแรกในพบได้ในผักชนิดนี้นะคะ แต่ไม่ใช่เพียงแค่นี้นะคะ ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าอะไรอีกบ้างที่น่าสนใจ ต้องอ่านให้จบค่ะ ดังนี้ ผักปลัง เป็นพืชผักสวนครัวชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือลำต้นและใบอวบน้ำ มีทั้งชนิดลำต้นสีเขียว (ผักปลังขาว) และลำต้นสีม่วงแดง (ผักปลังแดง) ซึ่งทั้งสองชนิดสามารถทานได้ โดยลักษณะทั่วไปของผักปลัง มีดังนี้ค่ะ ลำต้น: เป็นไม้เลื้อย ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม แตกกิ่งก้านสาขาได้มาก ใบ: ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปไข่หรือรูปหัวใจ ใบอวบน้ำ เป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดง่าย ขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ดอก: ออกเป็นช่อ ดอกย่อยเล็ก สีขาวหรือสีม่วงแดง ผล: ผลสด กลมแป้น ฉ่ำน้ำ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีม่วงอมดำ ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ เมล็ดเดียว ซึ่งสถานที่ที่พบผักปลังได้บ่อย ได้แก่ สวนครัวหลังบ้าน: ผักปลังเป็นพืชที่ปลูกง่าย นิยมปลูกไว้ในสวนครัวหลังบ้าน ริมรั้ว: มักจะเลื้อยตามรั้วหรือโครงสร้างต่างๆ ป่าละเมาะ: พบได้ตามธรรมชาติในป่าละเมาะที่มีความชื้นสูงค่ะ พื้นที่เพาะปลูก: เกษตรกรบางรายนิยมปลูกผักปลังเพื่อขายค่ะ คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? ผักปลังเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในหลายสภาพแวดล้อมค่ะ โดยทั่วไปแล้วผักปลังชอบ แสงแดด: ชอบแสงแดดรำไรถึงแดดจัด แต่ก็สามารถเติบโตได้ในที่ร่มได้เช่นกัน ความชื้น: ชอบความชื้นปานกลาง ไม่ชอบน้ำขัง ดิน: เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี อุณหภูมิ: ชอบอากาศร้อนชื้น และเคล็ดลับในการปลูกผักปลัง มีดังนี้ค่ะ การเตรียมดิน: ควรเตรียมดินให้ร่วนซุย ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุ การให้น้ำ: รดน้ำให้ชุ่มสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรให้น้ำขัง การให้ปุ๋ย: ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอเดือนละครั้ง การให้แสง: วางไว้ในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมงต่อวันค่ะ การค้ำยัน: หากปลูกในกระถางหรือพื้นที่จำกัด ควรทำค้างให้ผักปลังเลื้อยเกาะนะคะ หลายคนยังไม่รู้ว่า ผักปลังสามารถทานสดได้ค่ะ โดยยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของผักปลังสามารถนำมาทานเป็นผักสด จิ้มกับน้ำพริกหรือน้ำจิ้มต่างๆ ได้ค่ะ ซึ่งรสชาติจะออกจืดๆ เย็นๆ และมีเมือกเล็กน้อย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผักชนิดนี้ นอกจากทานสดแล้ว ผักปลังยังสามารถนำไปปรุงอาหารได้อีกหลากหลายเมนู เช่น ลวกจิ้ม: เป็นวิธีที่นิยมกันมาก เพราะช่วยลดเมือกและคงความกรอบของผัก ใส่แกง: เช่น แกงส้ม แกงจืด แกงเลียง ผัด: ผัดกับไข่ ผัดกับหมู หรือผัดกับวัตถุดิบอื่นๆ ค่ะ ที่ในบางคนที่ผู้เขียนรู้จักมานั้น เขาได้หั่นยอดผักปลังใส่ลงไปในการทำแกงอ่อมหอยขมด้วย เพื่อเพิ่มความข้นเหนียวในแกงอ่อมค่ะ ซึ่งการทำแบบนี้ถือเป็นความชอบส่วนตัว อย่างไรก็ตามผักปลังลวกพบได้บ่อยที่สุด และรสชาติของผักปลังลวก จะเป็นแบบนี้ค่ะ จืด: ผักปลังมีรสชาติค่อนข้างจืด แต่มีรสชาติหวานเล็กน้อย ลื่น: เนื้อสัมผัสของผักปลังเมื่อลวกแล้วจะค่อนข้างลื่นและเหนียวเล็กน้อย มีกลิ่นเฉพาะตัว: ผักปลังจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งบางคนอาจชอบ บางคนอาจไม่ชอบ และถ้าจะพูดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อรสชาติของผักปลังลวก ได้แก่ ความสดของผักปลัง: ผักปลังที่สดใหม่จะมีรสชาติหวานและอร่อยกว่า วิธีการลวก: การลวกผักปลังที่สุกกำลังดี จะทำให้ได้รสชาติที่หวานและอร่อย น้ำที่ใช้ลวก: การใช้น้ำสะอาดและเดือดจัด จะช่วยรักษาสีและรสชาติของผักปลังได้ดี เมนูที่นำมาทาน: รสชาติของอาหารที่ใช้ทานกับผักปลัง จะมีผลต่อรสชาติโดยรวมของอาหารได้ค่ะ ผักปลังลวกเป็นผักที่มีรสชาติเฉพาะตัว ที่สามารถนำไปทานคู่กับอาหารได้หลากหลายเมนูเลยค่ะ โดยเมนูนี้เป็นเมนูที่ผู้เขียนชอบทำมากที่สุดถ้ามีผักชนิดนี้ค่ะ การลวกก็ทำได้ง่ายๆ โดยให้เริ่มจากการล้างผักปลังที่เรามีด้วยน้ำสะอาดก่อน จากนั้นต้มน้ำให้เดือดค่ะ พอน้ำเดือดก็ให้ใส่ยอดผักปลังลงไป การลวกผักปลังต้องทำนานพอสมควรค่ะ โดยต้องให้ผักปลังเปื่อยค่ะ เพราะแบบนี้เราถึงทานผักปลังได้ง่ายขึ้นค่ะ ซึ่งเคล็ดลับเพิ่มเติมหากต้องการลดเมือก และไม่ชอบความลื่นของเมือกผักปลัง เราสามารถลวกผักปลังในน้ำที่มีการเติมน้ำมะนาวเล็กน้อย หรือเมื่อผัดผักปลังสามารถเติมน้ำมะขามเปียกได้ค่ะ จากที่ผู้เขียนได้ทานผักปลังลวกมาตลาดนั้น ทั้งผักปลังสีขาวและสีแดงอร่อยค่ะ ที่ก็ให้ความหวานตามธรรมชาติและมีเมือกลื่นๆ ทั้งคู่นะคะ โดยเมนูที่ผู้เขียนมักนำมาทานคู่กับผักลวกชนิดนี้คือน้ำพริกปลาทูค่ะ โดยผักปลัง 1-2 กำ คือปริมาณที่เพียงพอต่อการลวกหนึ่งครั้งค่ะ ที่หนึ่งกำของผักปลังที่ยอดงามและยาว ขายกันอยู่ที่ 10 บาท แต่ถ้าเป็นยอดสั้น ขายเพียง 5 บาทเท่านั้นค่ะ ที่สามารถหาได้ง่ายๆ ที่ตลาด ซึ่งผักปลังมักเป็นผักสดที่พบได้บ่อยในร้านที่ขายผักพื้นบ้านค่ะ ดังนั้นหากคุณผู้อ่านสนใจทานผักชนิดนี้ก็ลองแวะไปตลาดแถวดูค่ะ แต่ถ้าต้องการปลูกผักปลังก็ยังสามารถทำได้นะคะ เพราะสมัยนี้ต้นพันธุ์ผักปลังมีขายตามร้านขายต้นไม้ค่ะ และอีกวิธีการคือการนำเมล็ดแก่ของผักปลังมาหว่านในพื้นที่ของเราค่ะ ก็ลองเลือกวิธีการที่เข้ากับตัวเองดูค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://news.trueid.net/detail/jGB92dVd8RRv https://food.trueid.net/detail/J5lxkAVnxY45 https://food.trueid.net/detail/yp9beee9OdW5 หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !