เวลาที่คุณเห็นอาหารโทนสีฟ้า ในที่นี้หมายถึงตัวอาหารเอง ไม่ใช่ภาชนะที่ใส่มาแต่อย่างใด คุณอยากทานอาหารชนิดนี้หรือไม่ แน่นอนว่า คนส่วนมากจะเกิดความรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหารชนิดนั้นโดยอัตโนมัติ เหตุผลคือ สีมีผลต่อการรับรู้ของมนุษย์ สำหรับสีที่กระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารนั้น คือสีเขียว ส้ม แดง เหลือง เนื่องจากสีเหล่านี้เป็นสีของวัตถุดิบอาหาร ทั้งพืชผัก ผลไม้ รวมถึงอาหารแปรรูปต่าง ๆ ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ว่าอาหารที่รับประทานได้จะมีสีเหล่านี้ประกอบ ในการออกแบบโปสเตอร์โฆษณาที่เกี่ยวกับอาหาร จะใช้สีเขียว ส้ม แดง เหลืองเป็นหลัก เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร ลองดูตัวอย่างภาพด้านล่างนะคะ เห็นแล้วรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากขึ้นหรือไม่ Source : Pixabay โดย Daria-Yakovleva เมื่อมีสีที่กระตุ้นให้อยากอาหาร ก็จะต้องมีสีที่ลดความอยากอาหาร ซึ่งสีนั้นก็คือ สีฟ้า ดังที่ผู้เขียนเกริ่นไปในตอนต้นค่ะ ถ้าอธิบายสาเหตุตามหลักความเป็นจริง เราไม่ค่อยพบวัตถุดิบอาหารที่เป็นสีฟ้าเท่าไรนัก ส่วนมากสีฟ้าจะเป็นสีของสิ่งที่มีพิษหรือสารเคมี อีกทั้งสีฟ้ายังเป็นสีโทนเย็น ทำให้เรารู้สึกเหมือนอาหารนั้นเย็นชืด ไม่เหมาะแก่การรับประทาน สมองของมนุษย์จะเกิดการรับรู้และตัดสินได้ว่าสิ่งที่เป็นสีฟ้านั้นรับประทานไม่ได้ เมื่อมนุษย์มีสัญชาตญาณในการรับรู้ความแตกต่างของสีจากสภาพความเป็นจริงที่พบแล้ว จะเกิดความรู้สึกต่อสีแต่ละสีได้โดยอัตโนมัติ สำหรับตัวผู้เขียนเอง เวลาที่เห็นอาหารสีฟ้าก็รู้สึกไม่อยากรับประทานอาหารชนิดนั้น แม้ว่าจะเป็นของที่ชอบมากก็ตาม แต่วันนี้ผู้เขียนไปเจอภาพอาหารสีฟ้าหลาย ๆ ภาพ ที่ดูแล้วไม่รู้สึกว่ารับประทานไม่ได้ แถมบางอย่างทำให้อยากรับประทานด้วยอีกต่างหาก วันนี้ผู้เขียนจะรวบรวมเอาภาพอาหารสีฟ้าที่พบเจอในเว็บไซต์ (ฟรี) ลองดูนะคะว่าเห็นแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง คัพเค้กครีมสีฟ้าอ่อนที่มีสตอเบอร์รีวางประดับด้านบน (Source : Pixabay โดย quinntheislander) ภาพด้านบนเป็นคัพเค้กครีมสีฟ้าอ่อน ให้ความรู้สึกเป็นสีธรรมชาติหากเทียบกับสีฟ้าปกติ และใช้สตอเบอร์รีผ่าครึ่งวางประดับไว้ด้านบน โดยไม่ได้ย้อมสีสตอเบอร์รีให้เป็นสีอื่น เป็นการนำวัตถุดิบอื่นที่ไม่ได้ผ่านการแต่งเติมใด ๆ มาเสริมให้รู้สึกว่าอาหารชนิดนี้สามารถรับประทานได้ และไม่ใช้สีฟ้าฉูดฉาดมากจนเกินไป คุกกี้แต่งหน้าด้วยเกล็ดหิมะโทนสีฟ้าอ่อน-ขาว (Source : Pixabay โดย JillWellington) ภาพนี้คล้าย ๆ กับภาพแรกที่ใช้สีฟ้าอ่อนเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ และใช้สีขาวเข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย โดยวาดลวดลายเหมือนเกล็ดหิมะลงบนหน้าคุกกี้ซึ่งเป็นสีน้ำตาลอ่อน ทั้งสามสีสามารถผสมกันได้อย่างลงตัว อีกทั้งหิมะยังเป็นสัญลักษณ์ของความเย็น ซึ่งเข้ากันกับสีฟ้าที่เป็นสีโทนเย็นอยู่แล้ว จึงไม่รู้สึกว่าอาหารชนิดนี้มีพิษหรือว่าเย็นชืดไม่น่ากินแต่อย่างใด คัพเค้กกุหลาบสีฟ้าม่วง (Source : Unsplash โดย Natalie Chaney) สำหรับคัพเค้กชุดนี้เป็นรูปกุหลาบ ที่ใช้เฉดสีฟ้ากับม่วงมาไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยบีบครีมให้เป็นกลีบกุหลาบสีฟ้าเข้ม อ่อน ไล่จากด้านในออกมาด้านนอก และมีบางกลีบที่ใช้สีม่วงอ่อน เพื่อให้ตัวดอกกุหลาบมีความละมุน และส่งความรู้สึกนั้นไปถึงคนที่รับประทาน ให้รู้สึกว่าอาหารชนิดนี้ไม่เป็นพิษต่อตนเอง มาการองสีฟ้ามินต์ที่ครีมสีชมพูด้านใน (Source : Pixabay โดย JillWellington) เคยเห็นมาการองสีฟ้าล้วนใช่ไหมคะ ถ้าเป็นแบบนั้นไม่น่ากินแน่ แต่สำหรับมาการองชุดนี้ ใช้โทนสีฟ้ามินต์ซึ่งเป็นสีที่ผสมกันระหว่างฟ้ากับเขียว ให้ความรู้สึกว่าเป็นของที่รับประทานได้ นอกจากนี้ ยังสอดไส้ครีมสีชมพูไว้ตรงกลาง ทำให้มีสีตัดกันกลายเป็นอาหารที่มีสีสันน่ารับประทานแทน ชีสเค้กที่อุดมไปด้วยผลบลูเบอร์รี (Source : Unsplash โดย RAPHAEL MAKSIAN) สำหรับภาพสุดท้ายนี้คือชีสเค้กที่อุดมไปด้วยผลบลูเบอร์รีบนหน้าเค้ก ซึ่งแตกต่างจากภาพอื่น แทนที่จะผสมวัตถุดิบหรือแต่งให้เป็นสีฟ้า ก็ใช้วัตถุดิบที่มีสีฟ้าเป็นส่วนประกอบของอาหารแบบให้คนที่รับประทานได้เห็นชัด ๆ ว่าสีฟ้านี้มาจากวัตถุดิบที่รับประทานได้ ซึ่งบลูเบอร์รีเป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาทำอาหารให้เป็นโทนสีฟ้าได้โดยไม่มีพิษใด ๆ จากภาพทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า แม้ว่าสีฟ้าจะไม่เหมาะกับการเป็นส่วนประกอบของอาหาร แต่ก็ยังมีอาหารสีฟ้าหลายชนิดที่ดูแล้วน่ากิน ไม่รู้สึกลดความอยากอาหารลงแต่อย่างใด ผู้เขียนคิดว่า อาหารที่เป็นสีฟ้าแล้วน่ากินส่วนมากคือขนม ซึ่งสามารถใส่สีสันให้สวยงาม ตกแต่งตามจินตนาการได้มากกว่าอาหาร ทำให้การใส่สีฟ้าลงในขนมไม่ได้ทำให้ลดความอยากอาหารลง ซึ่งตรงข้ามกับอาหารทั่วไปที่ควรเป็นสีวัตถุดิบธรรมชาติให้มากที่สุดจึงจะกระตุ้นความอยากอาหารได้ สำหรับอาหารสีฟ้านั้นต้องใช้สีอื่น ๆ เข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย เพื่อเพิ่มความรู้สึกสดใหม่ให้อาหาร ไม่ควรใช้สีฟ้าฉูดฉาดเพื่อทำให้รู้สึกว่าอาหารนั้นรับประทานได้ ไม่มีพิษภัย หากใช้วัตถุดิบอื่นเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ควรรักษารูปลักษณ์และสีสันของวัตถุดิบเหล่านั้น ไม่ควรย้อมให้เป็นสีฟ้าไปด้วย จะทำให้อาหารที่มีสีฟ้าดูน่ารับประทานเหมือนอาหารสีปกติอื่น ๆ ซึ่งที่จริงแล้ว อาหารที่มีสีฟ้าเป็นส่วนประกอบนั้นไม่ได้มีอันตรายใด ๆ หากใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่เป็นสีฟ้า ที่เราไม่รับประทานอาหารสีฟ้าเป็นเพียงแค่ความรู้สึกของเราที่มีต่อสีเท่านั้นค่ะ หวังว่าคุณจะรู้สึกอยากรับประทานที่มีสีฟ้าเป็นส่วนประกอบมากขึ้นนะคะ ภาพปก : Pexels โดย Olga