9 วิธีประหยัดน้ำมันพืช ทำยังไงดี ใช้น้อยลงได้ | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว การที่น้ำมันพืชมีราคาสูงขึ้น ก็มักเป็นต้นเหตุที่ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนเรื่องการใช้น้ำมันพืชในการทำอาหาร ว่าเราได้ใช้มากไปหรือใช้เกินความจำเป็นหรือเปล่า จริงไหมคะ? โดยที่หลายคนก็อาจจะยังมองภาพไม่ออกว่า หากเราต้องการใช้น้ำมันพืชในการทำอาหารน้อยลงสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งยังค้างคาใจและไม่ได้คำตอบกับข้อสงสัยนี้อยู่ ยังตกอยู่ในอาการนี้อยู่ไหมคะ? โดยต้องบอกว่าในบทความนี้มีทางออกมาให้แล้วค่ะ เพราะผู้เขียนจะมาส่งต่อวิธีประหยัดน้ำมันพืชกัน ซึ่งหลายวิธีการที่จะได้พูดถึงเอาไว้ในบทความนี้ ผู้เขียนเองก็ได้นำมาปรับใช้ตลอดค่ะ เพราะเป็นคนไม่ชอบอะไรมันเยิ้ม ที่ไม่ได้เกี่ยวแค่เพียงว่าประหยัดเงินในกระเป๋าเท่านั้นนะคะ แต่ยังมองไปถึงอนาคตด้านสุขภาพของตัวเองด้วย จึงทำให้ในทุกๆ วัน มีสติตลอดตอนต้องทำเมนูที่มีน้ำมันค่ะ และต่อไปนี้คือเทคนิคที่น่าสนใจที่สามารถลดการใช้น้ำมันพืชในการทำอาหารได้จริงค่ะ 1. ใช้การสเปรย์น้ำมัน การใช้สเปรย์น้ำมันเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราประหยัดน้ำมันพืชในการทำอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักการทำงานของสเปรย์น้ำมัน คือ สเปรย์น้ำมันจะช่วยให้น้ำมันพืชกระจายตัวเป็นละอองฝอยขนาดเล็ก ทำให้ครอบคลุมพื้นที่ผิวของกระทะหรืออาหารได้ทั่วถึง โดยใช้น้ำมันในปริมาณที่น้อยกว่าการเทน้ำมันโดยตรง ช่วยให้เราควบคุมปริมาณน้ำมันที่ใช้ได้อย่างแม่นยำ โดยที่สามารถใช้กับกระทะ หม้อหรืออาหารได้หลากหลายประเภทค่ะ 2. ควบคุมปริมาณการใช้ การกะปริมาณน้ำมันให้พอดีกับความต้องการในการปรุงอาหารแต่ละครั้ง เป็นวิธีสำคัญที่ช่วยลดการใช้น้ำมันพืชเกินความจำเป็น ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งก่อนเริ่มทำอาหาร ควรกะปริมาณน้ำมันที่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับประเภทอาหารและปริมาณอาหารที่จะปรุง เช่น อาหารทอดอาจต้องการน้ำมันมากกว่าอาหารผัดหรืออบ การใช้ช้อนตวงหรือถ้วยตวงจะช่วยให้กะปริมาณน้ำมันได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึกทำอาหาร ขณะทำอาหาร เราควรสังเกตปริมาณน้ำมันที่ใช้ หากรู้สึกว่ามากเกินไป สามารถลดปริมาณลงในการปรุงครั้งถัดไปได้ค่ะ และวิธีการกะปริมาณน้ำมัน มีดังนี้ อาหารทอด: โดยทั่วไปแล้วอาหารทอดจะใช้น้ำมันค่อนข้างมาก ควรใช้ในปริมาณที่ท่วมอาหาร เพื่อให้อาหารสุกทั่วถึงและไม่อมน้ำมันมากเกินไป แต่ก็ไม่ควรมากเกินความจำเป็น อาหารผัด: อาหารผัดใช้น้ำมันน้อยกว่าอาหารทอด โดยทั่วไปจะใช้ประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะต่อการผัด 1 ครั้ง อาหารอบ: อาหารอบบางชนิดอาจไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเลย หรืออาจใช้เพียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันอาหารติดภาชนะค่ะ และสำหรับอาหารอบนั้นในบางอย่างเราสามารถใช้การทาน้ำมันลงในถาดได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ผู้เขียนมีโอกาสทำเป็นบางครั้งค่ะ อาหารประเภทแกง: แกงส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมัน แต่บางชนิดอาจใช้น้ำมันเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความหอมเท่านั้น โดยเฉพาะตอนผัดเครื่องแกงนะคะ 3. ใช้น้ำมันที่เหลือให้คุ้มค่า น้ำมันที่เหลือจากการทอดอาหารนั้น ไม่จำเป็นต้องทิ้งเสมอไป หากเราบริหารจัดการอย่างถูกวิธี เราสามารถนำน้ำมันที่เหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายทาง ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งน้ำมันที่เหลือจากการทอดอาหาร สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 2-3 ครั้ง แต่ต้องใส่ใจในขั้นตอนการจัดการดังนี้ค่ะ กรองน้ำมัน: หลังจากการทอด ควรรอให้น้ำมันเย็นลงเล็กน้อย จากนั้นใช้กระชอนหรือผ้าขาวบางกรองกากอาหารและเศษต่างๆ ออกให้หมด เพื่อป้องกันการเหม็นหืนและทำให้น้ำมันมีคุณภาพดี เก็บรักษาน้ำมัน: ควรเก็บน้ำมันที่กรองแล้วในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด และเก็บในที่แห้ง เย็น ห่างจากความร้อนและแสงแดด เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของน้ำมัน โดยปัจจุบันจะมีหม้อกรองน้ำมันขายนะคะ เราสามารถซื้อมาชื้อได้ ซึ่งผู้เขียนก็ซื้อมาใช้เหมือนกันค่ะ สังเกตคุณภาพน้ำมัน: ก่อนนำน้ำมันกลับมาใช้ซ้ำ ควรสังเกตลักษณะของน้ำมัน หากน้ำมันมีสีดำคล้ำ มีกลิ่นเหม็นหืน หรือมีฟองมาก แสดงว่าน้ำมันเสื่อมสภาพแล้ว ไม่ควรนำกลับมาใช้ 4. ทำอาหารเอง การทำอาหารเองที่บ้านเป็นวิธีที่ดีในการควบคุมปริมาณน้ำมันค่ะ เพราะว่าเมื่อทำอาหารเอง เราสามารถควบคุมปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหารได้ตามความต้องการ ทำให้ลดปริมาณน้ำมันที่บริโภคลงได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกด้วย เมื่อทำอาหารเอง เราจะรู้ว่าในอาหารแต่ละจานมีส่วนประกอบอะไรบ้าง และใช้น้ำมันในปริมาณเท่าใด ทำให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำมันที่บริโภคได้ การทำอาหารเองทำให้เรายังสามารถเลือกวิธีการปรุงอาหารที่ใช้น้ำมันน้อย หรือไม่ใช้น้ำมันเลยก็ได้ เช่น การต้ม นึ่ง อบ ย่าง หรือผัดโดยใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้การทำอาหารเองง่ายมากๆ เวลาที่เราต้องการปรับสูตรอาหารให้ใช้น้ำมันน้อยลงได้ ที่อาจเป็นการใช้สมุนไพร เครื่องเทศ หรือส่วนผสมอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารแทนการใช้น้ำมันในปริมาณมากค่ะ 5. ปรุงอาหารด้วยวิธีอื่น การปรุงอาหารด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการทอด เป็นทางเลือกที่ดีในการลดปริมาณน้ำมันที่ใช้ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกด้วย การปรุงอาหารด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การอบ การนึ่ง การย่าง การต้ม หรือการตุ๋น สามารถช่วยลดการใช้น้ำมันพืชลงได้ เนื่องจากวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ใช้น้ำมันเป็นตัวกลางในการนำความร้อนทำให้อาหารสุกค่ะ การอบใช้ความร้อนจากเตาอบทำให้อาหารสุกโดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมัน อาหารที่นิยมอบ ได้แก่ ขนมปัง เค้ก คุกกี้ เนื้อสัตว์ และผัก การนึ่งใช้ไอน้ำร้อนทำให้อาหารสุก เป็นวิธีที่ดีในการรักษาสารอาหารในอาหาร และไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมัน อาหารที่นิยมนำมานึ่ง ได้แก่ ปลา ผัก และอาหารทะเล การย่างใช้ความร้อนโดยตรงจากแหล่งความร้อน เช่น เตาปิ้งย่าง ทำให้อาหารสุก โดยทั่วไปแล้วการย่างใช้น้ำมันน้อยกว่าการทอด อาหารที่นิยมนำมาย่าง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผัก และอาหารทะเล การต้มใช้น้ำเดือดทำให้อาหารสุก เป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมัน อาหารที่นิยมนำมาต้ม ได้แก่ พาสต้า ซุป และผักบางชนิด การตุ๋นใช้ความร้อนต่ำและใช้เวลานานในการทำให้อาหารสุก โดยทั่วไปแล้วการตุ๋นใช้น้ำมันน้อยกว่าการทอด อาหารที่นิยมนำมาตุ๋น ได้แก่ เนื้อสัตว์และผัก 6. เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม หลายคนอาจจะยังมองภาพไม่ออกว่า การเลือกใช้อุปกรณ์ทำอาหารที่เหมาะสมเป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหารได้ ซึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมช่วยประหยัดน้ำมันพืชได้ นั่นเป็นเพราะว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติและกลไกการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร ดังตัวอย่างต่อไปนี้ กระทะเคลือบสารกันติดช่วยลดการใช้น้ำมันในการปรุงอาหาร เนื่องจากอาหารจะไม่ติดกระทะ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันในปริมาณมาก หม้อทอดไร้น้ำมันใช้ลมร้อนในการทำให้อาหารสุก โดยใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อยหรือบางเมนูอาจไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเลย หม้ออัดแรงดันใช้ความดันในการทำให้อาหารสุกเร็วขึ้น ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการปรุงอาหารและลดการใช้น้ำมัน หม้อตุ๋นไฟฟ้าใช้ความร้อนต่ำในการทำให้อาหารสุกอย่างช้าๆ ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำมัน 7. เลือกซื้อน้ำมันพืชอย่างฉลาด การเลือกซื้อน้ำมันพืชในขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน หากซื้อขวดใหญ่เกินไป อาจใช้ไม่หมดและทำให้น้ำมันเสื่อมคุณภาพก่อนได้ หากเราทำอาหารไม่บ่อยนัก หรือใช้น้ำมันในปริมาณน้อย ควรเลือกซื้อขวดเล็ก เพื่อป้องกันน้ำมันเสื่อมคุณภาพก่อนใช้หมด น้ำมันพืชแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ให้เลือกชนิดที่เหมาะสมกับการใช้งาน เพราะการเลือกชนิดที่เหมาะสมกับการใช้งาน จะช่วยลดปริมาณน้ำมันที่ใช้ได้ 8. ใช้เทคนิคการทำอาหาร การเรียนรู้เทคนิคการทำอาหารที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราใช้น้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดระยะเวลาในการปรุงอาหารได้อีกด้วยค่ะ การผัดที่ถูกต้องจะใช้น้ำมันน้อยกว่าการผัดแบบทั่วไป โดยใช้ความร้อนที่เหมาะสมและผัดอย่างรวดเร็ว การหั่นอาหารให้มีขนาดเล็ก จะช่วยให้อาหารสุกเร็วขึ้น และลดปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการทอด การใช้ความร้อนที่เหมาะสม จะช่วยให้อาหารสุกทั่วถึง และลดการใช้น้ำมัน 9. ใช้สมุนไพร คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า การเพิ่มการใช้สมุนไพรในการทำอาหารสามารถช่วยลดการใช้น้ำมันพืชได้หลายทางค่ะ จากที่สมุนไพรหลายชนิดมีกลิ่นหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด พริกไทย โหระพา แมงลัก ผักชี ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหารได้โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันในปริมาณมากนัก กลิ่นหอมและรสชาติของสมุนไพรจะช่วยเสริมรสชาติของอาหารให้มีความซับซ้อนและน่าสนใจยิ่งขึ้น ทำให้ไม่รู้สึกขาดรสชาติ แม้จะใช้น้ำมันน้อยลง สมุนไพรบางชนิดมีสรรพคุณช่วยลดกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์และอาหารทะเลได้ เช่น ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด การใช้สมุนไพรเหล่านี้จะช่วยลดความจำเป็นในการใช้น้ำมันเพื่อดับกลิ่นคาวค่ะ ซึ่ง ตัวอย่างการใช้สมุนไพรลดการใช้น้ำมัน ผัดผัก: ใช้กระเทียม หอมแดง พริกไทย ในการผัดผักแทนการใช้น้ำมันในปริมาณมาก แกง: ใช้ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด พริกแกง ในการทำแกงต่างๆ แทนการใช้น้ำมันในปริมาณมากเพื่อเพิ่มความหอม อาหารอบ: ใช้สมุนไพรแห้ง เช่น ออริกาโน โรสแมรี่ ในการอบอาหารแทนการใช้น้ำมันที่มากเกินความจำเป็น ก็จบแล้วค่ะ กับเคล็ดลับดีๆ ในการปรุงอาหารโดยไม่ใช้น้ำมันหรือใช้น้ำมันน้อยลง จะเห็นได้มีหลากหลายหนทางมากๆ ที่นอกจากเราจะประหยัดน้ำมันพืชแล้ว วิธีการข้างต้นยังมีส่วนช่วยลดปริมาณไขมันที่เราได้รับด้วยค่ะ ซึ่งก็เป็นผลดีต่อสุขภาพ โดยเทคนิคต่างๆ ในบทความนี้ปกติผู้เขียนก็ใช้อยู่แล้ว เช่น การทำอาหารด้วยวิธีการอื่นๆ แทนการทอดและผัด มีการตวงน้ำมันก่อนทำอาหาร เลือกน้ำมันให้เหมาะสม และใช้น้ำมันอย่างคุ้มค่าค่ะ ซึ่งคุณผู้อ่านก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามอย่านำน้ำมันที่ใช้แล้วและไม่สามารถใช้ได้อีกทิ้งลงในอ่างล้างจานนะคะ เพราะจะทำให้ท่ออุดตัน แต่ควรนำไปทิ้งเป็นขยะหรือนำไปขายเพื่อทำประโยชน์อย่างอื่น เพื่อลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อมค่ะ ยังไงนั้นก็อย่าลืมนำเคล็ดลับทั้งหมดไปใช้กันนะคะ และผู้เขียนหวังว่าเนื้อในบทความนี้จะสามารถเป็นแนวทางให้กับคุณผู้อ่านได้บ้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปก โดย Max Avans จาก Pexels ภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1-2 โดยผู้เขียน, ภาพที่ 3 และภาพที่ 4 โดย RDNE Stock project จาก Pexels ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน วิธีกำจัดไขมันในร้านอาหาร กำจัดน้ำมันจากการประกอบอาหาร ทำไงดี 10 วิธีลดกินของทอด งดอาหารที่มีน้ำมันและไขมัน 6 วิธีเลือกน้ำมันพืช แบบไหนดี มีคุณภาพ น่าซื้อ หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !