ต้นทูน กินกับส้มตำ ต่างจากบอนไหม รสชาติแบบไหน | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล ผักที่สามารถนำมารับประทานคู่กับส้มตำได้ บางอย่างบางชนิดเราต่างก็รู้จักกันดี เช่น กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ถั่วพู เป็นต้น แต่ผักบางชนิดที่สามารถนำมารับประทานกับส้มตำได้ เราก็อาจจะนึกภาพไม่ออกหรือบางคนอาจจะไม่เคยเห็นของจริงเลยด้วยซ้ำไป เคยแต่ได้ยินคนอื่นบอกมาว่า ผักชนิดนี้สามารถรับประทานได้อร่อยกับส้มตำ เช่น ต้นทูน พอพูดคำนี้มาเห็นไหมคะว่า เราจะนึกภาพไม่ออก ต้นทูนเป็นผักสดที่รับประทานคู่กับส้มตำได้จริงๆ ค่ะ โดยต้นทูนเป็นพืชล้มลุกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน คล้ายกับบอนและเผือก แต่มีขนาดใหญ่กว่า ก้านใบอวบน้ำและมีแป้งเคลือบ ทำให้มีสีขาวนวลสวยงาม เนื้อในกรอบและมีรูพรุนมากมาย ใบมีขนาดใหญ่ รูปหัวใจ ปลายใบมน ต้นทูนเป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบดินชื้นและแสงแดดปานกลาง การขยายพันธุ์ก็ทำได้โดยการแยกหน่อ อีกทั้งการปลูกต้นทูนสามารถทำได้ทั้งในกระถางและในดินนะคะ ซึ่งที่นี่ผู้เขียนเริ่มปลูกต้นทูนในกระถางค่ะ ต้นทูนมีชื่อเรียกที่พบบ่อย ได้แก่ ทูน: เป็นชื่อที่นิยมใช้กันมากในภาคกลางและภาคอีสาน คูน: ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งที่ใช้สลับกับคำว่า "ทูน" โดยเฉพาะในภาคอีสาน ตูน: เป็นชื่อที่นิยมใช้ในภาคเหนือ ออดิบ: ชื่อที่นิยมใช้ในภาคใต้ ตุน: ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งที่พบได้ทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ โดยลักษณะเด่นของต้นทูน มีดังนี้ หัวใต้ดิน: เป็นส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์และสะสมอาหาร ก้านใบ: ยาว อวบน้ำ มีแป้งเคลือบสีขาวนวล เป็นส่วนที่นำมารับประทานได้ ใบ: ขนาดใหญ่ รูปหัวใจ ปลายใบมน ดอก: ออกเป็นช่อ แต่ไม่ค่อยพบเห็นในพืชที่ปลูกเพื่อบริโภคนะคะ จากที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์มานั้น ส่วนของต้นทูนที่เราสามารถรับประทานได้ คือ ก้านใบค่ะ โดยสามารถนำมารับประทานได้ทั้งแบบสดและสุก ตลอดจนสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น แกงส้มต้นทูน ส้มตำต้นทูน ต้นทูนลวกจิ้ม แกงเปรอะต้นทูน เป็นต้น ซึ่งเมนูที่ทำจากต้นทูนมักจะมีรสชาติหวานกรอบ แต่ก็มีบางส่วนที่อาจมีรสขมเล็กน้อย โดยเฉพาะบริเวณใกล้โคนก้านค่ะ แต่โดยรวมแล้วรสชาติของต้นทูนดิบ สามารถอธิบายได้ว่า หวาน: มีความหวานอ่อนๆ คล้ายกับผักชนิดอื่นๆ เช่น บวบ กรอบ: เนื้อสัมผัสกรอบและมีน้ำมาก จืด: รสชาติโดยรวมค่อนข้างจืด แต่มีความหวานและรสชาติเฉพาะตัว บางส่วนอาจมีรสขม: โดยเฉพาะบริเวณโคนก้าน คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า วิธีการรับประทานต้นทูนดิบนั้น ให้นำก้านใบมาล้างให้สะอาด ปอกเปลือก และหั่นเป็นชิ้นพอคำค่ะ โดยสามารถรับประทานคู่กับน้ำพริกหรือส้มตำได้อร่อย แต่เมนูอื่นๆ ก็สามารถนำต้นทูนไปรับประทานเป็นผักสดได้ เพราะก้านทูนสามารถรับประทานได้ง่ายๆ เข้ากับอาหารที่มีรสชาติจัดจ้านได้ดีพอสมควรค่ะ ในขณะที่รสชาติของต้นทูนเมื่อสุกจะแตกต่างจากตอนดิบไปพอสมควรค่ะ ที่โดยทั่วไปแล้วเมื่อนำต้นทูนไปปรุงสุก เช่น นึ่ง ต้ม หรือผัด รสชาติจะนุ่มขึ้น หวานขึ้น และมีความมันเล็กน้อย ทำให้รับประทานง่ายขึ้นไปอีก และรสชาติโดยรวมของต้นทูนสุกสามารถอธิบายได้ว่า นุ่ม: เนื้อสัมผัสจะนุ่มกว่าตอนดิบมาก หวาน: มีความหวานเพิ่มขึ้นจากการปรุงสุก มัน: มีความมันเล็กน้อยจากแป้งที่อยู่ในก้านใบ รสชาติเฉพาะตัว: ยังคงมีรสชาติเฉพาะตัวของต้นทูนอยู่ แต่จะอ่อนลงกว่าตอนดิบค่ะ หลายคนอาจสงสัยมาตลอดว่า ต้นทูนกับบอนคือสิ่งเดียวกันหรือแตกต่างกัน เพราะต่อให้รู้มาว่าเป็นคนละอย่าง ก็ยังไม่สามารถเชื่อได้สนิทใจว่ามันจริงไหม จากที่ผู้เขียนเป็นคนที่รู้จักต้นทูนมาตั้งแต่จำความได้จนถึงตอนนี้ ขอยืนยันค่ะว่า ต้นทูนกับบอนไม่เหมือนกัน ขนาดบอนหวานกับบอนคันก็ยังเป็นคนละแบบเลย โดยความแตกต่างที่สำคัญระหว่างต้นทูนและบอน มีดังนี้ค่ะ ลักษณะใบ ต้นทูน: ใบมีรูปหัวใจ ปลายใบมน ก้านใบอวบน้ำ มีแป้งเคลือบสีขาวนวล บอน: ใบมีรูปร่างหลากหลาย เช่น รูปหัวใจ รูปลูกศร หรือรูปหอก ก้านใบอาจมีสีเขียวเข้ม หรือมีจุดด่าง ลักษณะก้านใบ ต้นทูน: ก้านใบอวบน้ำ มีแป้งเคลือบสีขาวนวล ก้านใบติดบริเวณด้านหลังห่างจากขอบใบ บอน: ก้านใบอาจอวบน้ำหรือไม่ก็ได้ ก้านใบติดบริเวณฐานแผ่นใบ รสชาติ ต้นทูน: เมื่อนำมารับประทานจะมีรสชาติหวานกรอบ บอน: บางชนิดมีพิษ ไม่สามารถรับประทานได้โดยตรง ต้องนำไปปรุงอาหารหลายขั้นตอน การนำมารับประทาน ต้นทูน: นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น แกง ลวก เป็นผักสด บอน: บางชนิดนำมาประกอบอาหารได้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องพิษ บางชนิดใช้เป็นไม้ประดับเท่านั้น ในอดีตต้นทูนเป็นผักที่นิยมปลูกไว้ตามบ้านเรือน ที่เราจะสามารถขอป้าข้างบ้านได้แบบฟรีๆ แบบไม่มีใครหวงด้วยค่ะ แต่ปัจจุบันด้วยความที่การสร้างบ้านมีการถมที่ และคนรุ่นใหม่ไม่ได้อนุรักษ์ต้นทูนเอาไว้ ทำให้ต้นทูนแบบฟรีๆ ไม่มีง่ายๆ อีกแล้ว และในตอนหลังมาต้นทูนกลายเป็นผักที่มีค่าตัว หากอยากนำมาปลูกต้นพันธุ์ก็มีขายที่ร้านขายต้นไม้ค่ะ และถ้าอยากรับประทานต้นทูนดิบและสุก ก้านทูนแบบมัดเป็นกำๆ ก็มีวางขายที่ตลาด โดยเฉพาะร้านขายผักพื้นบ้าน และจากสถานการณ์ที่ว่าต้นทูนฟรีๆ ไม่มีแล้ว ทำให้ผู้เขียนมานั่งทบทวนและสรุปว่า ต้นทูนน่าจะหายากขึ้นเรื่อยๆ เลยทำให้ตอนนี้ผู้เขียนได้ปลูกต้นทูนไว้ที่บ้านค่ะ ซึ่งต้นพันธุ์ได้มาจากการที่ให้น้องสาวขอมาจากบ้านย่าของเขามา ที่จะบอกว่าแหล่งที่ขอมาต้นทูนก็ดูบางเบามาก และถ้าไม่มีใครขยายพันธุ์ไว้ต่อ ก็ไม่แน่ว่าอีก 5 ปี ถ้ากลับไปขอที่เดิมคิดว่าคงจะไม่มีแล้วแน่ๆ ค่ะ ถ้าคุณผู้อ่านต้องการเลือกซื้อก้านทูนที่ตลาดแล้วล่ะก็ การเลือกซื้อก้านทูนที่ดีนั้นสำคัญมากนะคะ เพราะจะส่งผลต่อรสชาติและคุณภาพของอาหารที่เรา และการสังเกตจุดเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้คุณผู้อ่านได้ก้านทูนที่สดใหม่และอร่อยที่สุดค่ะ และต่อไปนี้คือวิธีเลือกก้านทูน แบบไหนสดใหม่ แบบไหนน่าซื้อ แบบไหนดีและมีคุณภาพ ให้สังเกตสิ่งเหล่านี้ค่ะ 1. สังเกตลักษณะภายนอก สี: ก้านทูนที่ดีควรมีสีขาวนวล หรือสีเขียวอ่อน ดูสดใส ไม่เหลืองหรือมีรอยช้ำ ผิว: ผิวเรียบเนียน ไม่มีรอยขีดข่วน รอยบุบ หรือรอยด่าง ความอวบ: ก้านทูนควรมีความอวบน้ำ ไม่เหี่ยว หรือแห้ง ขนาด: เลือกก้านทูนที่มีขนาดพอเหมาะกับการนำไปประกอบอาหาร ไม่เล็กเกินไปหรือใหญ่เกินไป 2. สังเกตความสด ความสดใหม่: ก้านทูนที่สดใหม่ จะมีความกรอบเมื่อกดเบาๆ กลิ่น: ไม่มีกลิ่นเหม็น หรือกลิ่นผิดปกติ น้ำหนัก: ก้านทูนที่สดใหม่จะมีน้ำหนักค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับขนาด 3. สังเกตส่วนที่ตัด ส่วนที่ตัด: บริเวณที่ตัดควรดูสดใหม่ ไม่เปลี่ยนสี และไม่มีรอยช้ำ ไม่มีรอยแมลง: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีรอยแมลงกัดแทะ และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ก้านทูนที่เหี่ยว: ก้านทูนที่เหี่ยวแสดงว่าเก็บไว้นาน รสชาติจะไม่อร่อย ก้านทูนที่มีรอยช้ำ: รอยช้ำจะทำให้รสชาติของก้านทูนเปลี่ยนไป ก้านทูนที่เปลี่ยนสี: ก้านทูนที่เปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล แสดงว่าไม่สดใหม่ หากซื้อก้านทูนมาจำนวนมากและต้องการเก็บรักษาเพื่อคงความสดในช่วงสั้น หลังจากซื้อก้านทูนมาแล้ว ควรนำไปแช่ในตู้เย็นช่องผัก เพื่อคงความสดใหม่ค่ะ และก่อนนำไปประกอบอาหาร ควรล้างก้านทูนให้สะอาดหลายๆ ครั้ง เพื่อขจัดสิ่งสกปรก แต่ถ้าหากคุณผู้อ่านต้องการเก็บก้านทูนไว้รับประทานในภายหลังที่นานขึ้น ควรทำดังนี้ ควรปอกเปลือก: การปอกเปลือกออกก่อนเก็บ จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ลดโอกาสที่ก้านทูนจะเน่าเสีย และยังช่วยลดการปนเปื้อนของสิ่งสกปรกอีกด้วย ล้างให้สะอาด: หลังจากปอกเปลือกแล้ว ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หั่นเป็นชิ้น: หั่นก้านทูนเป็นชิ้นพอดีคำ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปรุงอาหารในครั้งต่อไป เก็บในตู้เย็น: นำก้านทูนที่หั่นแล้วไปใส่ภาชนะปิดสนิท เก็บไว้ในช่องผักของตู้เย็น จะช่วยรักษาความสดได้นานขึ้น ปกติผู้เขียนชอบรับประทานก้านทูนกับส้มตำ ทานแล้วเคี้ยวไม่ยากค่ะ กรอบอร่อย เคี้ยวเพลิน หวานตามธรรมชาติ เข้ากันได้ดีกับส้มตำ ไม่ตัดรสชาติของส้มตำค่ะ สำหรับเมนูอื่นๆ จากต้นทูนยังไม่เคยทำค่ะ เพราะชอบแบบสดๆ มากกว่า และการเตรียมต้นทูนเป็นผักสดก็ทำได้ง่ายๆ ด้วย ที่บางทีก็ชอบอะไรที่ทำได้ง่ายๆ เหมือนกันค่ะ ก็เลยนำมาเป็นผักสดเป็นหลัก อีกทั้งที่ได้นำต้นทูนมาปลูกเอาไว้ที่นี่ ก็เพื่อจะทำให้ตัวเองมีก้านทูนสดๆ เอาไว้รับประทานเป็นผักแบบง่ายๆ ด้วย เพราะแค่เพียงเดินไปหน้าบ้านก็ได้ก้านทูนสดๆ แล้วค่ะ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านสนใจเรื่องต้นทูนในประเด็นไหนบ้าง หากอยากรู้ว่าหน้าตาประมาณไหน ก็ตามรูปภาพในบทความนี้เลยค่ะ แต่ถ้าอยากรู้ว่ารสชาติของจริงเป็นยังไง แบบนี้ต้องไปตลาดซื้อก้านทูนนะคะ ซึ่งเคล็ดลับในการเลือกซื้อผู้เขียนก็ได้นำเสนอไว้ให้แล้ว หรือถ้าสนใจปลูกต้นทูนก็ทำได้ง่ายๆ ค่ะ เพราะต้นทูนเกิดง่ายมาก ขนาดผู้เขียนปลูกครั้งแรกในชีวิต ยังรอดและเริ่มงามมากแล้วตอนนี้ ยังไงนั้นก็ลองหามาปลูกในสวนผักกันค่ะทุกคน และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน https://food.trueid.net/detail/pM8PXjGDJR5M https://food.trueid.net/detail/lDoOYKpjqX0D https://food.trueid.net/detail/By4VKGAblGm1 หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !