ขนมปังก้อนรีหอมกลิ่นเนย โรยหน้าด้วยเกล็ดเกลือสีขาว ความหอมมันของเนยภายใน ตัดกับรสเค็มของเกลือที่อยู่ด้านนอกขนมปังได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่แน่ว่าผู้คนอาจจะหลงไหลในความเรียบง่ายของรสชาตินั้น หรืออาจจะกำลังรู้สึกแปลกใหม่กับการมาของขนมปังชนิดนี้ก็เป็นไปได้ มันเป็นขนมปังที่ไม่ว่าจะไปเบเกอรี่ร้านไหนก็ไม่มีทางที่จะหนีพ้นขนมชนิดนี้ไปได้ จากแต่เดิมที่เราแทบไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของมันเลยด้วยซ้ำ ถ้าให้นึกถึงขนมปังญี่ปุ่นซักอย่าง ชื่อของโชกุปังก็อาจมาแทนที่ แต่แล้วทำไม เมื่อไม่นานมานี้ขนมปังเกลือคงได้เข้ามาโลดแล่นในตลาดเบเกอรี่ของไทยกันล่ะ ในบทควาามนี้ พวกเรามาพูดคุยกันว่าด้วยเรื่องของ "Shio Pan" กันเลยครับ Shio Pan หรือ ขนมปังเกลือ ชื่อของมันก็แสนจะตรงตัว Shio แปลว่าเกลือ Pan ก็แปลว่าขนมปัง ได้เป็นชื่อขนมปังเกลือที่พวกเรารู้จัก ว่ากันว่าเจ้า Shio Pan มาจากการผสมกันระหว่างขนมปังเนยทั่วไปของญี่ปุ่นกับขนมปังเนื้อกรอบ ๆ ของฝรั่งเศส ขนมปังนี้จึงมีรูปร่างคล้ายครัวซองต์ที่นอกจากจะโรยเกลือไว้ด้านบนให้สมชื่อขนมปังเกลือแล้ว ก็ยังมีการใส่แท่งเนยที่กลางขนมปังก่อนอบ จนกลายเป็นขนมปังกรอบนอก หอมกลิ่นเนยและตรงกลางกลวงฉ่ำอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อเขียนมาถึงจุดนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะเริ่มจับทางได้แล้วใช่ไหมครับว่าขนมปังแบบนี้ควรจะทานตอนที่มันพึ่งอบสดใหม่จากเตา เพื่อให้เนื้อสัมผัสแล้วก็รสชาติยังคงติดอยู่กับตัวขนมปัง อาจจะนำมาทานคู่กับเครื่องดื่มที่ชื่นชอบ จะร้อนก็ได้ จะเย็นก็ดีไม่แพ้กัน ยิ่งถ้าเราลองฉีกเนื้อขนมปังไปจุ่มลงบนเครื่องดื่มแล้วล่ะก็ มิติใหม่ของการทานขนมจะเกิดขึ้นเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้ Shio Pan แทบไม่มีขายเลยไม่ว่าจะที่ไหนก็ตามในไทย ทว่าเมื่อมันมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้น แทบทุกซอกทุกมุมที่ผมไปก็จะพบกับร้านที่ขายขนมปังเกลืออันเลื่องชื่อ ผมเองก็ไม่ค่อยซื้อขนมปังกินบ่อยนัก จึงแนะนำร้านอร่อย ๆ ให้ไม่ค่อยได้ ถึงอย่างนั้น ผมว่าผมสามารถแนะนำการเตรียมขนมปังเกลือไว้ทานเองที่บ้านได้นะครับ สำหรับใครที่ต้องการซื้อมาทานที่บ้านเอง ให้อร่อยได้เหมือนกับไปทานในร้านขนม ตอนที่สั่งขนมปังเกลือมาไว้ที่บ้าน แน่นอนว่าตัวเนยที่ละลายอยู่ด้านในก็คงจะแข็งตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (หรืออาจจะยังละลายอยู่เพราะอากาศสุดแสนจะร้อน) เนื้อขนมปังด้านนอกก็คงจะเปลี่ยนจากกรอบเป็นเหนียวแบบตัดไม่ขาด สิ่งที่เราทำได้เมื่อต้องการจะกินอีกรอบก็คงจะหนีไม่พ้นการอุ่นใหม่ ให้ย้ายขนมปังเกลือไปในภาชนะที่สามารถเข้าไปอุ่นใหม่ได้ หากมีเนยก็ให้วางเนยไว้บนก้อนขนมปังประมาณหนึ่งช้อนโต๊ะ ไม่ต้องโรยเกลือเพิ่มนะครับ เดี๋ยวขนมปังจะเค็มเกินไป และถ้าเป็นไปได้ก็ให้ตัวขนมปังขึ้นสูงจากภาชนะเล็กน้อย เพื่อให้เนยที่เราเพิ่มเข้าไปไม่ชุ่มฐานขนมปังจนแฉะ แล้วเราก็นำไปอุ่นได้เลย จะใช้ไมโครเวฟก็ไม่แย่หรอก แต่ถ้ามีเตาอบไม่ก็หม้ออบลมร้อนจะดีขึ้นมาก (จะใช้หม้อทอดไร้น้ำมันก็ได้เหมือนกันครับ) ผมเชื่อว่าตามคู่มือของเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ต้องมีการแนะนำการอุ่นขนมปังอยู่แล้ว อย่างหม้ออบลมร้อนของผมก็ยังแนะนำว่าให้เปิดความร้อนไว้ 150-180 องศา อบประมาณสิบถึงสิบห้านาที เนื้อขนมปังที่ได้จะกรอบนอกนุ่มในเหมือนมาจากเตาใหม่ ๆ (อาจจะไม่ได้เหมือนเป๊ะ แต่ก็น่าจะพอแทนกันได้นะ) ส่วนขนมปังก้อนที่เหลือจะเอาใส่ถุงซิปล็อคและแช่แข็งไปเลยก็ไม่ว่ากัน ยังไงมันก็สามารถอยู่ในช่องแช่แข็งได้ประมาณเดือนนึงอยู่แล้ว นอกจากขนมปังเกลือกรอบนอกฉ่ำเนยข้างในแบบปกติ ร้านขายขนมปังต่างก็สร้างสรรค์เมนูนี้กันอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้อ่านคงจะเคยพบเห็น Shio Pan รสชาติอื่นกันมาบ้าง แถวบ้านของผมก็จะมี ขนมปังเกลือรสชีส ที่มีทั้งรสเค็มแหลมของเกลือปนไปกับรสเค็มนัวของชีส หรือว่าจะเป็นขนมปังเกลือรสเห็ดทรัฟเฟิล ที่นอกจากจะได้กลิ่นของเนยแล้ว กลิ่นของเห็ดทรัฟเฟิลก็เตะจมูกมาไม่แพ้กัน บางทีก็จะเห็นการผสมผสานระหว่างขนมที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วงนี้เข้ามาด้วย เช่น ขนมปังเกลือสอดไส้คูนาฟ่าพิตาชิโอ ที่ดัดแปลงเอาไส้จากช็อกโกแลตดูไบมาใส่ในขนมปัง ไม่ก็การนำขนมปังเกลือมาหั่นครึ่ง ทำให้เหมือนกับการกินเบเกิลซะเลย การดัดแปลงที่แปลกที่สุดที่ผมเคยเห็นมาก็คงเป็นการนำขนมปังเกลือมาเป็นโคนไอศกรีมแล้วล่ะครับ ทว่านั่นก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไร เพราะขนมที่หน้าตาคล้ายกันอย่างครัวซองต์ก็เคยโดนแบบนั้นมาแล้ว ทีนี้พวกเรามาวิเคราะห์กันดีกว่าครับ ว่าทำไมขนมปังชนิดนี้ถึงได้เป็นที่นิยมกันจัง โดยขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าหลังจากนี้จะเป็นการคาดเดาของตัวผมเอง ไม่ได้มีข้อมูลอะไรมารองรับ ผู้อ่านก็คิดเสียว่ามาพูดคุยกันเล่น ๆ เอาก็แล้วกันครับ ซึ่งเหตุผลแรกผมขอยกให้เนื้อสัมผัสของขนมปังเกลือด้วยความที่มันเป็นลูกผสมระหว่างขนมปังจากสองสัญชาติ ทำให้ขนมปังเกลือมีเนื้อสัมผัสที่อาจจะถูกใจผู้คนจากสองฝั่ง แถมยังดึงดูดเอาผู้คนที่ไม่เคยทานเนื้อสัมผัสแบบนี้มาก่อน ให้มาเจอกับอะไรที่ดูแปลกใหม่ (ความแปลกใหม่ก็คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ขนมปังชนิดนี้ถูกพูดถึงมากมาย) อีกเหตุผลก็คงจะเป็นที่รสชาติกลาง ๆ ของมันที่สามารถนำไปจับคู่กับขนมหรือเครื่องดื่มชนิดอื่นได้ด้วย ทำให้แม้มันจะมีเนื้อสัมผัสที่แปลกใหม่ แต่การนำมาทานคู่กับอะไรที่คุ้นเคยก็อาจทำให้เราปรับต่อมรับรสเข้าหาขนมชนิดนี้ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง นำไปสู่เหตุผลที่สาม เช่นเดียวกับช็อกโกแลตดูไบหรือขนมอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ เจ้าชิโอะปังได้ถูกนำมารีวิว ถูกผลักดันโดยผู้คนตามโซเชียลมีเดีย จนมันดังมาถึงทุกวันนี้ และเช่นเดียวกันกับกระแสช็อกโกแลตดูไบที่ยังมาแรงไม่หยุดหย่อนนี่เอง ผมว่าเจ้าชิโอะปังตัวนี้ ก็คงจะไม่หายไปไหนโดยเร็ว ตัวผมก็ทนกระแสเจ้าขนมปังตัวนี้ไม่ไหว ต้องได้ไปซื้อมาทานจนกลายเป็นบทความนี้นี่แหละครับ แล้วผู้อ่านล่ะครับ ได้เริ่มชิมขนมปังเกลือกันบ้างหรือยัง และตัดสินใจชิมขนมปังนี้ตอนไหน รสชาติของขนมปังเกลือแต่ละที่เป็นอย่างไร ก็มาเล่าให้อ่านกันได้ใต้บทความนะครับ สำหรับวันนี้ผมคงต้องลาไปก่อน สวัสดีครับ เครดิตรูปภาพ ภาพปกและภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !