เห็ดหน้าขาว กินได้จริงไหม ทำเมนูอะไรดี ขมไหม | บทความโดย Pchalisa เห็ดป่าเป็นแหล่งอาหารที่พบได้มากในช่วงหน้าฝนค่ะ ที่คนในชนบทนั้นมีความรู้เพื่อเอาตัวรอด โดยสามารถไปหาเก็บเห็ดและเรียนรู้ว่าแบบแบบไหนสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ ซึ่งเห็ดหน้าขาวเป็นเห็ดอีกหนึ่งชนิดที่คนไปหาเห็ดมักมองหา ที่คุณผู้อ่านอาจจะยงไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเห็ดชนิดนี้มาก่อน แต่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะในบทความนี้ผู้เขียนจะมาส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดหน้าขาวให้ได้อ่านกันค่ะ โดยทั้งหมดของเนื้อหาในนี้มาจากประสบการณ์เลย ที่สมัยเป็นเด็กเคยเข้าไปในป่าเพื่อหาเห็ดชนิดนี้กับป้าด้วย แต่ตอนนั้นไปแบบสนุกค่ะ ที่ได้เห็ดหรือไม่ได้เห็ดก็ไม่ไดคิดอะไรเยอะค่ะ โดยที่ในตอนหลังมาโอกาสจะได้ไปหาเห็ดแบบเดิมไม่มีแล้ว แต่ผู้เขียนยังได้ทานเห็ดหน้าขาวจากการซื้อเห็ดแบบนี้มาจากตลาดค่ะ ส่วนเห็ดหน้าขาวรสชาติแบบไหน ทำเมนูอะไรดี และมีอะไรน่าสนใจอีก งั้นเรามาอ่านต่อกันเลยดีกว่าค่ะ ดังนี้ เห็ดหน้าขาวที่เห็นในรูปที่ใส่ในกะละมังสีชมพูตามรูปข้างบนนี้ ผู้เขียนซื้อมาในราคา 100 บาท จากป้าค่ะ ป้าคนนี้คือคนที่ผู้เขียนเคยไปเก็บเห็ดด้วยสมัยเด็ก ที่ตอนนี้ป้าแกก็ยังมีทำสิ่งนี้อยู่คือเข้าป่าไปหาเห็ดค่ะ โดยคนแถวนี้มองว่าป้าคือผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดป่าและเห็ดหน้าขาวเป็นเห็ดเป้าหมายที่ป้าก็สนใจเก็บมาขายและเก็บมาไว้เป็นอาหารค่ะ เห็ดหน้าขาวเป็นที่รู้จักกันสำหรับคนแถวนี้นะคะ แถวนี้ที่ผู้เขียนหมายถึงก็คือภาคอีสานค่ะ เห็ดหน้าขาวเป็นเห็ดป่าที่นิยมนำมาทานและขายเพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทยค่ะ ที่เห็ดชนิดนี้มีรสชาติอร่อย เนื้อแน่นตอนสุก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด และลักษณะเด่นอย่างอื่นของเห็ดหน้าขาว คือ หมวก: มีรูปร่างคล้ายกรวยตื้นหรือจานก้นลึก ผิวหมวกเรียบหรือมีเกล็ดเล็กๆ สีขาวนวลหรือสีครีม ก้าน: แข็งและเหนียว ติดอยู่ตรงกลางหรือด้านข้างของหมวก ครีบ: สีขาวหรือสีครีม เรียงชิดกัน เนื้อ: แน่นและเหนียว โดยที่อยู่อาศัยและช่วงเวลาที่พบเห็ดหน้าขาวเป็นช่วงที่มีฝนตก ซึ่งเป็นช่วงที่เห็ดชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีที่สุด และคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? เห็ดหน้าขาวมักชอบเกิดตามที่ชื้นและมีอินทรีย์วัตถุมาก เช่น ขอนไม้ผุ โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็งรัง ไม้มะม่วง บริเวณโคนไม้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีใบไม้ร่วงทับถมกันหนาแน่น นอกจากนี้เห็ดหน้าขาวยังเกิดได้ในดินร่วนปนทรายที่มีความชื้นสูงและมีเศษไม้ใบไม้ผุ และบริเวณที่เคยมีการตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากจะมีเศษไม้และซากพืชให้เห็ดเจริญเติบโตได้ค่ะ ปกติคนมักเก็บเห็ดหน้าขาวที่ยังอ่อนอยู่เป็นหลัก ที่หมวกยังไม่บานและเนื้อยังแน่นค่ะ แต่ถ้าคุณผู้อ่านไปซื้อเห็ดชนิดนี้มาทำอาหาร ก็ให้เลือกเห็ดที่มีสีขาวนวล เนื้อแน่น ไม่มีรอยช้ำหรือแมลงกัดกินนะคะ ที่ก่อนนำมาทำอาหารควรล้างให้สะอาด โดยการล้างเห็ดหน้าขาวสามารถทำได้สองลักษณะค่ะ คือ ลวกเห็ดก่อนนำมาล้าง เพื่อลดการแตกของดอกเห็ด กับล้างเห็ดหน้าขาวผ่านน้ำโดยตรงแต่ล้างแบบเบามือค่ะ เห็ดหน้าขาวทานได้ เพราะตั้งแต่ผู้เขียนทานเห็ดชื่อนี้มา ยังไม่เคยมีอาการแพ้หรือได้รับพิษจากเห็ด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องซื้อเห็ดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ค่ะ เพราะไม่อย่างงั้นก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน เห็ดหน้าขาวสามารถทำได้หลายเมนูนะคะ เช่น น้ำพริกเห็ดหน้าขาวผัด นำไปผัดก็ได้ แต่ที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดและทำประจำคือแกงเห็ดหน้าขาวค่ะ การทำแกงเห็ดหน้าขาวทำได้ง่ายมาก โดยให้เริ่มจากล้างเห็ดใส่ลงไปหม้อก่อน จากนั้นโขลกพริกสดกับกระเทียมที่มีเกลือเล็กน้อย พริกที่เพิ่มความเผ็ดนี้จะใช้พริกแดงหรือพริกหนุ่มก็ได้ค่ะ แม้แต่พริกแห้งก็ยังสามารถใส่ได้ แต่คนแถวนี้เขาชอบใส่พริกหนุ่มเพราะไม่ได้ต้องการเผ็ดแหลมมาก และเขาจะเพิ่มแหล่งความเผ็ดจากการเพิ่มพริกอ่อนมาเป็นลูกโดด ลูกโดดคือพริกที่จะทำให้เกิดความเผ็ดตอนเราตักแกงเห็ดหน้าขาวทานค่ะ จากนั้นให้ใส่เครื่องปรุงลงไปได้เลย ได้แก่ ผงปรุงรส น้ำปลาร้า น้ำปลา หัวหอม ยอดผักติ้วหรือลูกตะลิงปลิง เพื่อเพิ่มความเปรี้ยวให้กับแกงเห็ดหน้าขาวค่ะ และเติมน้ำเปล่าลงไปเพียงนิดเดียวก่อน เพราะเห็ดหน้าขาวมีน้ำตามธรรมชาติ หรือจะแกงใส่น้ำย่านางก็ได้ค่ะ อร่อยทั้งสองแบบ เมื่อทำแกงเห็ดหน้าขาวสุกและปรุงรสชาติได้ตามต้องการแล้ว สุดท้ายให้โยนผักที่เพิ่มความหอมลงไปค่ะ เช่น แมงลัก ผักแขยง เป็นต้น เพียงเท่านี้เราก็จะได้แกงเห็ดหน้าขาวอร่อยและหอมน่าทานเป็นกับข้าวแล้วค่ะ ที่น้ำแกงจะเหนียวและข้นนิดๆ เห็ดชนิดนี้ไม่ขมค่ะ เคี้ยวเพลิน เคี้ยวง่าย เด็กทานได้และผู้สูงอายุเคี้ยวได้อร่อยแบบไม่ต้องหั่นอะไรให้วุ่นวาย ซดร้อนๆ ทานกับข้าวเหนียวหรือข้าวสวยก็ได้อร่อยหมดค่ะ ซึ่งแกงเห็ดหน้าขาวเป็นเมนูที่ผู้เขียนสามารถทำได้ด้วยตัวเองค่ะ ถ้าคุณผู้อ่านสนใจทานเห็ดชนิดนี้ ให้ลองแวะซื้อเห็ดตามตลาดที่ขายของป่าค่ะ และจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนรู้มานั้น เห็ดแบบนี้สามารถลองแวะดูได้ที่ตลาดขายของจากป่าที่ตลาดโคกอีโด่ย อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ตลาดของป่าแถวอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ และตลาดตามต่างจังหวัดแถวอีสานก็สามารถเป็นแหล่งของเห็ดชนิดนี้ค่ะ และเมื่อได้เห็ดมาแล้วอย่าลืมซื้อผักที่ให้ความเปรี้ยวและเพิ่มความหอมมาด้วยนะคะ กับถ้าต้องการแกงใส่น้ำย่านาง ก็ต้องซื้อน้ำย่านางมาด้วย ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://food.trueid.net/detail/5Ll1ekNaD4RO https://food.trueid.net/detail/oV6QzyzeJwM0 https://food.trueid.net/detail/QdR5LBprBVVj เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !