บ่ได้กินง่ายดอกอ้ายว่าเจ้าคาแต่ถ่ายรูปอยู่หั่น เสียงพี่เขยของผู้เขียนดังขึ้นหลังจากที่ผู้เขียนยกจานตำกล้วยตานีออกไปหาแสงเพื่อถ่ายรูป นาน ๆ ผู้เขียนจะได้ไปเยี่ยมบ้านที่อุบลราชธานีสักครั้ง ข้อดีของการที่ไม่ค่อยได้กลับคือเวลาอยากกินอะไรก็มักจะมีคนหามาให้กิน “ตำกล้วยตานี” คือหนึ่งในเมนูที่บ่นอยากกิน แล้วน้าบ้านข้าง ๆ คงได้ยินถือมาให้แต่บอกให้ตำกินเอง “ถ้าน้าตำให้กินจะติดใจในฝีมือครั้งหน้าน้าก็ต้องตำอีก” แกบอกแบบนั้น จริงอย่างที่น้าแกได้บอกไว้ หากใครทำอะไรอร่อยเวลาทำก็จะนึกถึงแต่คนนั้นอยากกินรสมือ อยากกินฝีมืออีกหากอยู่ใกล้ ๆ กันเป็นต้องตามให้มาทำทุกครั้ง เมื่อเอ่ยถึง “กล้วยตานี” ถ้าเป็นคนอีสานคงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่หากเป็นคนภาคอื่นอาจจะไม่รู้ว่าลูกกล้วยตานีอ่อนนำมาทำส้มตำได้ ตำกล้วยตานี ส่วนใหญ่นิยมตำเป็นของกินเล่นยามว่าง รสชาติของกล้วยตานีดิบจะฝาดมาก แต่เมื่อตำผสมผสานกับรสเปรี้ยวของมะนาว ปรุงรสให้กลอมกล่อม นัว ๆ รับรองจะติดใจจนต้องหามาทำกินอีกในครั้งหน้า ไปดูวิธีทำกันเลยค่ะ วัตถุดิบเครื่องปรุง 1. กล้วยตานีอ่อนพระเอกของเรา 2. มะนาว 3. มะเขือเปราะ 4. พริกสดหรือพริกแห้ง 5. ปลาร้า 6. น้ำปลา (สำหรับคนที่ไม่กินปลาร้า) 7. น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลปี๊บ 8. ผงชูรส วิธีทำง่าย ๆ สไตล์บุหงาอันดามัน 1. สับกล้วยตานีอ่อนให้เป็นเส้นฝอย หั่นมะนาวทั้งเปลือกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เอาเม็ดกับไส้ในทิ้ง หั่นมะเขือเปราะเป็นชิ้นเล็ก ๆ พักไว้ 2. ตำพริกตามชอบเผ็ดมาก เผ็ดน้อย วันนี้ผู้เขียนใส่เผ็ดกลางพริก 4 เม็ด ตำให้พอแตกไม่ต้องละเอียดมาก 3. ใส่กล้วยตานี มะนาว และมะเขือเปราะ ที่หั่นเตรียมไว้ ลงไปแล้วตำให้ทุกอย่างเข้ากันโดยยังไม่ต้องปรุง เพื่อให้รสเปรี้ยวของมะนาวคลุกเค้ากับรสฝาดของกล้วยตานี 4. ปรุงรสด้วย ปลาร้า 2 ช้อนโต๊ะ (หากชอบตัวปลาร้าก็สามารถใส่ลงไปได้) น้ำตาล 3 ช้อนโต๊ะ น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ ผงชูรสเล็กน้อยปลายช้อนโต๊ะ (ปริมาณนี้เท่ากับ 1 ครกหรือกล้วย 4 ลุก) จากนั้นตำคลุกเค้าให้ส่วนผสมเข้ากันดี ชิมรสชาติ ตำกล้วยตานีต้อง เปรี้ยว หวาน ติดรสฝาดของกล้วยดิบนิด ๆ เพียงเท่านี้ก็ตักเสิร์ฟได้เลย ตำกล้วยตานี เสน่ห์ของเมนูกินเล่นของชาวบ้านภาคอีสานนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การปรุงขึ้นมาแล้วนั่งกินเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่เมื่อทำเสร็จจะเรียกเพื่อน ๆ บ้านใกล้เรือนเคียงหรือญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้ ๆ มาร่วมวงกันกินด้วยกันนับว่าเป็นภาพที่หาได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน เคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ 1. สำหรับเมนูนี้ เราเลือกกล้วยตานีผลอ่อน เพราะกล้วยตานีเป็นกล้วยที่มีเมล็ดเยอะ คือทั้งลูกมีเมล็ดเต็มลูก หากผลแก่เมล็ดจะแข็งและกินไม่ได้ 2. ความขมของเปลือกมะนาวจะช่วยตัดรสฝาดของกล้วยให้มีรสชาติกลมกล่อมขึ้น 3. จะสังเกตได้ว่าเรามีการใส่ผงชูรสลงไปในเมนูนี้เล็กน้อย เพื่อความกลมกล่อมของส้มตำ หรือคนอีสานเรียกว่า “นัว” :::::เรื่องและภาพโดยบุหงาอันดามัน:::::