ใบชะมวงกินดิบได้ไหม อีสานเรียกว่าอะไร เปรี้ยวแบบไหน | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล หลายคนยังไม่รู้ว่า ต้นไม้ที่เราสามารถนำใบและยอดอ่อนมากินเป็นผักได้ในประเทศไทยนั้น จริงๆ แล้วมีหลายอย่างมากๆ ค่ะ โดยใบชะมวงเป็นอีกหนึ่งอย่างที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยได้เห็นของจริง ในขณะที่บางคนอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้างแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเรียกว่า “ใบชะมวง” ซึ่งในตอนแรกสุดผู้เขียนก็เคยเป็นคนแบบนั้นมาก่อนเหมือนกันค่ะ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว! เพราะว่าที่นี่มียอดอ่อนของชะมวงเอาไว้กินเป็นผักในครัวเรือนได้แบบสบายๆ แล้วชะมวงที่ให้ยอดอ่อนได้หน้าตาแบบไหน ยอดและใบอ่อนรสชาติเป็นยังไง ถ้านำมากินคู่กับลาบหมูอร่อยๆ จะเปรี้ยวประมาณไหนหรือฝาดกันแน่ ในบทความผู้เขียนจะมาบอกต่อข้อมูลเกี่ยวกับใบชะมวงในหลายๆ ประเด็นค่ะ โดยเป็นข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้มาด้วยตัวเองด้วย ที่อ่านจบแล้ว คุณผู้อ่านจะรู้ได้ทันทีว่าชะมวงน่าสนใจยังไง กินดิบได้ไหม แถมยังจะรู้ต่อด้วยว่าในภาคอีสานคนในท้องถิ่นเขาเรียกว่าอะไร และถ้าอยากรู้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว งั้นเรามาอ่านต่อกันเลยดีกว่า ดังนี้ คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า ต้นชะมวงเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบเขตร้อนชื้นของประเทศไทยเราอย่างมาก เพราะมีฝนตกชุก และมีอากาศอบอุ่น ซึ่งดินที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นชะมวงควรเป็นดินร่วนค่ะ ที่มีระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นกลาง และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอินทรียวัตถุ นอกจากนี้ต้นชะมวงยังต้องการแสงแดดแบบเต็มที่เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและให้ผลผลิตนะคะ ต้นชะมวงค่อนข้างปลูกง่ายเลยทีเดียวค่ะ หากเข้าใจถึงความต้องการพื้นฐานของต้นไม้ชนิดนี้แล้ว ซึ่งการดูแลรักษาก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก เพียงแค่ให้ดินมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ ระบายน้ำได้ดี และได้รับแสงแดดที่เพียงพอในช่วงแรกของการเจริญเติบโต หลังจากนั้นต้นก็จะค่อยๆ แข็งแรงและทนทานมากขึ้น และต้องมีการกำจัดวัชพืชบ้างในช่วงแรก แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นพืชที่เลี้ยงดูง่าย เหมาะสำหรับคนที่อาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำสวนมากนักค่ะ ชะมวงเป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลายด้านอย่างน่าสนใจค่ะ โดยใบอ่อนนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะส่วนประกอบสำคัญของเมนูอาหารไทยรสเปรี้ยวอมหวานอย่างแกงส้ม ซึ่งให้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติ นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นยังมีการนำผลดิบของชะมวงมาใช้ปรุงรสเปรี้ยวในอาหารอื่นๆ ได้อีกด้วย คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า ใบชะมวงสามารถทานสดได้นั้น แต่ใบชะมวงมีความเป็นกรดสูง ซึ่งกรดนี้ทำให้เกิดรสเปรี้ยวที่เราสัมผัสได้ โดยกรดหลักๆ ที่พบในใบชะมวงหากรับประทานในปริมาณน้อยๆ ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรค่ะ แต่สามารถทำให้รู้สึกสดชื่นและกระตุ้นน้ำลายได้ค่ะ ซึ่งการทานสดจึงเหมือนเป็นการได้รับรสชาติเปรี้ยวที่เป็นเอกลักษณ์ และได้รับสารอาหารบางชนิดโดยตรงตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามความเปรี้ยวที่ค่อนข้างโดดเด่น และเป็นข้อจำกัดในการทานสดในปริมาณมากนั่นเองค่ะ เพราะถ้าถ้าทานในปริมาณมาก อาจจะทำให้รู้สึกเปรี้ยวจัดจนเกินไป หรืออาจจะระคายเคืองในช่องปากและกระเพาะอาหารได้ค่ะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรามักจะคุ้นเคยกับการนำใบชะมวงไปปรุงสุกในแกงส้มมากกว่า ซึ่งความร้อนจะช่วยลดความเปรี้ยวลงและทำให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น ดังนั้นหากต้องการทานใบชะมวง ควรจะลองชิมในปริมาณน้อยๆ ก่อนนะคะ สำหรับผู้เขียนนั้นชอบนำใบชะมวงมาทานเป็นผักสดค่ะ ซึ่งพบว่ารสชาติของใบชะมวงดิบจัดว่า เป็นรสเปรี้ยวที่ค่อนข้างโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์มากๆ ความเปรี้ยวจะไม่ได้เปรี้ยวแหลมเหมือนมะนาว แต่จะเป็นรสเปรี้ยวแบบอมฝาดเล็กน้อย ทำให้รู้สึกถึงความสดชื่นและกระตุ้นน้ำลายได้ดีค่ะ แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่าเปรี้ยวจนทำให้ต้องหรี่ตาเลยก็มีนะคะ แต่สำหรับคนที่ชอบรสเปรี้ยวจัดๆ ผู้เขียนว่าน่าจะถูกใจรสชาติของใบชะมวงดิบได้ไม่ยากเลยค่ะ ยิ่งถ้าได้ทานคู่กับอาหารที่มีรสชาติจัดจ้านอื่นๆ ก็อาจจะช่วยตัดเลี่ยนและเพิ่มความอร่อยได้อย่างลงตัวเลย โดยใบชะมวงดิบสามารถทานเป็นผักแกล้มคู่กับเมนูอาหารได้หลายเมนูนะคะ เช่น น้ำพริก ลาบ ยำข้าวแหนมคลุก แหนมเนือง เมี่ยงปลาเผา เป็นต้น โดยคำว่า “ชะมวง" นั้นเป็นชื่อทางภาคกลางที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดีค่ะ แต่สำหรับคนไทยในภาคอีสานบ้านเฮาแล้ว ก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะถิ่นที่คุ้นเคยกันมากกว่านะคะ ที่ผู้เขียนเคยได้ยินมาบ่อยๆ เลยก็คือคำว่า "ส้มโฮง” ค่ะ คำนี้ตรงตัวเลย เพราะรสชาติของใบชะมวงนั้นมีความเปรี้ยวคล้ายกับมะม่วงดิบๆ ผสมกับความฝาดนิดๆ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเขา ทำให้ชื่อนี้สื่อถึงรสชาติและลักษณะของพืชชนิดนี้ได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายสำหรับคนในท้องถิ่นค่ะ นอกจากชื่อส้มโฮงแล้ว ในบางพื้นที่ของภาคอีสานก็อาจจะมีชื่อเรียกอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามสำเนียงและวัฒนธรรมย่อยของแต่ละจังหวัดหรือแต่ละภูมิภาคค่ะ อย่างไรก็ตาม คำว่า "ส้มโฮง" ดูจะเป็นชื่อที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในหมู่คนอีสานเมื่อพูดถึงต้นไม้ใบเปรี้ยวชนิดนี้ค่ะ การเรียกชื่อเฉพาะถิ่นแบบนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความผูกพันและความคุ้นเคยของคนในท้องถิ่น กับพืชพรรณที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ค่ะ สำหรับผู้เขียนชอบรสชาติของใบชะมวงกับแหนมเนือง ข้าวแหนมคลุกและลาบมากค่ะ รู้สึกว่าเข้ากันได้ดี ช่วยดึงรสชาติอาหาร แต่ไม่ทำให้รสชาติอาหารผิดเพี้ยนไป คือยังจะพูดว่าอาหารที่นำมาทานกับใบชะมวงยังอร่อยเหมือนเดิม ที่พอได้ใบชะมวงเป็นผักแกล้มกลับทำให้รสชาติอร่อยกว่าเดิมค่ะ ซึ่งตอนแรกสุดที่นำต้นชะมวงมาปลูก ก็เพราะต้องการนำมาเป็นผักในครัวเรือนค่ะ แต่ยังไม่เคยได้ทำแกงส้ม และผู้เขียนได้ยินมาว่าแถวจังหวัดจันทบุรีของประเทศไทย เมนูแกงส้มหมูใส่ใบชะมวงคือเมนูเด็ดดังของที่นั่นค่ะ ที่โดยส่วนตัวแ้วยังไม่เคยลองชิม แต่ใบชะมวงสดๆ ทานเป็นผักเรื่อยๆ ค่ะ และที่มีใบชะมวงทานนั้น เริ่มจากซื้อต้นพันธุ์มาปลูกด้วยเงิน 20 บาทเท่านั้นค่ะ โดยตอนแรกยังงงๆ อยู่ แม่เลยปลูกติดกับต้นไม้ชนิดอื่นเกินไป แต่ก็สมกับที่ว่าดูแลง่ายและไม่ซับซ้อนค่ะ เพราะต้นชะมวง 20 บาท ที่มีเพียงต้นเดียวตอนนั้น ก็รอดมาจนถึงปัจจุบันและให้ยอดอ่อนมาเป็นผักแบบเหลือเฟือในตอนนี้ค่ะ ที่โดยสรุปแล้วใบและยอดอ่อนของต้นชะมวงสามารถกิบดิบได้นะคะ แต่ให้กินแค่พอดีๆ พอเป็นพิธีค่ะ ก็ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านสนใจชะมวงในประเด็นไหนบ้าง ถ้าอยากลองชิมรสชาติสดๆ ของผักชนิดนี้ ตามตลาดขายผักพื้นบ้านมีขายค่ะ แถวภาคอีสานกำละ 5 บาทเท่านั้น ที่เป็นคนในท้องถิ่นเก็บมาวางขาย สดๆ ใหม่ๆ จากต้นโดยตรง แต่ไม่ค่อยพบมากค่ะ นานๆ จะโผล่มาที แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้เขียนค่ะ เพราะมีต้นชะมวงเป็นของตัวเอง และถ้าคุณผู้อ่านอยากปลูกบ้าง สมัยนี้การสั่งต้นไม้ออนไลน์และส่งถึงหน้าบ้าน กลายเป็นเรื่องปกติแล้วนะคะ ยังไงลองนำใบชะมวงมาทานเป็นผักกันค่ะ ที่เป็นผักพื้นบ้านและให้คุณค่าทางโภชนาการได้ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากสนใจเนื้อหาเช่นนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้ เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ ในบทความต่อไปค่ะ เครดิตรูปภาพประกอบบทความ รูปภาพทำหน้าปกและหน้าปกโดยผู้เขียน ออกแบบใน Canva รูปภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน ยอดพริกกินได้ไหม รสชาติยังไง ทำเมนูไหนอร่อย ผักกาดหิ่น คืออะไร รสชาติแบบไหน ขมไหม ผักอีแปะ คืออะไร เกิดที่ไหนในธรรมชาติ กินกับอะไรดี เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !