วิธีล้างเห็ดป่าให้สะอาด ดินหลุดง่าย ปลอดภัยสำหรับทำอาหาร / บทความโดย Pchalisaช่วงนี้เป็นฤดูกาลของเห็ดป่าค่ะ ที่บางคนก็อยากมีประสบการณ์ทานเห็ดป่ากับเขาบ้าง แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การหาซื้อเห็ด เพราะจากที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มานั้น การล้างเห็ดคือเรื่องใหญ่มาก กอ ไก่ ล้านตัว ขนาดคนหาเห็ดจากป่าจากเขาเก่งๆ อย่างป้าของผู้เขียนยังต้องส่ายหัว พอพูดถึงเรื่องการทำความสะอาดเห็ดค่ะ แต่ก็หนีไม่พ้นหรอกค่ะ เพราะถ้าอยากทำอาหารจากเห็ดที่ตัวเองเก็บมา เราก็ต้องลองผิดลองถูกหาทางล้างเห็ดให้สะอาดให้ได้ค่ะ ซึ่งป้าของผู้เขียนเองก็ลองมาเยอะ! จนเหนื่อย! แต่เป็นความโชคดีสำหรับคุณผู้อ่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ค่ะ ที่จะได้เลิกลองผิดสักทีและหันมาลองถูกกันดีกว่า!เพราะในบทความนี้เรามาบอกต่อวิธีการล้างเห็ดป่า จากที่มีดินติดมาตามธรรมชาติจนดูไม่จืด ให้พร้อมสำหรับนำไปทำอาหารได้ ซึ่งบางวิธีการในนี้ก็ได้จากการเรียนรู้ของป้าของผู้เขียนเองค่ะ จากตอนแรกที่เป็นคนที่หาเห็ดเก่ง แต่ดันมาตกม้าตายตอนล้างเห็ด จนในตอนหลังมาป้าก็ค้นพบวิธีเอาชนะความสกปรกของเห็ดได้และบอกต่อคนอื่นๆ ที่รู้จักด้วย การล้างเห็ดสำคัญรองลงมาจากการรู้ว่าเห็ดทานได้น่าตายังไงค่ะ เนื่องจากว่าเห็ดป่ามักมีรูพรุน ที่สามารถดูดซับสิ่งสกปรกตามธรรมชาติได้ง่าย ดังนั้นการล้างให้สะอาดอย่างถูกวิธีก็เป็นเรื่องที่ต้องได้คิด และต่อไปนี้คือวิธีเด็ดล้างเห็ดป่าให้สะอาดแบบไร้ดินติดค่ะ1. ตัดส่วนของโคนเห็ดทิ้งจากที่ผู้เขียนได้สังเกตมานั้น โคนเห็ดคือจุดที่มีดินมากที่สุดค่ะ ดังนั้นหากเราตัดส่วนนี้ออกไปก่อนเป็นอย่างแรก เห็ดของเราก็จะมีดินติดน้อยลงไปมากแล้วนะคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโคนเห็ดบางอย่างอาจเป็นภาระในการมานั่งตัด นี่คือจากประสบการณ์ที่ป้าบอกเล่ามาอีกทีหนึ่งค่ะ เพราะเห็ดบางอย่างดอกมันเล็กมาก พอเป็นแบบนี้ป้าจะใช้การเด็ดโคนเห็ดทิ้งด้วยมือ ในขณะที่เรากำลังล้างเห็ดในช่วงน้ำแรกค่ะ ซึ่งแบบนี้ก็เป็นทางออกเหมือนกัน เพราะบริเวณโคนของเห็ดมักมีสิ่งสกปรกเกาะอยู่เยอะ พอเด็ดออกในน้ำก็จะง่ายขึ้นและสะอาดขึ้นมาได้ระดับหนึ่งในน้ำแรกค่ะ2. ใช้พัดลมหรือแปรงขนอ่อนมันเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัตินะคะ ที่พอเราจะทำความสะอาดเห็ดป่าที่เราเก็บมาหรือซื้อมาก็ตามแต่ เรามักจะใช้ปากเป่าเศษดิน เศษใบไม้ออกจากเห็ด นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นมาค่ะ และตัวเองในบางทีก็ทำแบบนี้ด้วย แต่ถ้าใครอยากจะใช้พัดลมหรือแปรงขนอ่อนปัดๆ ที่ดอกเห็ดให้สะอาดขึ้นแบบนี้ก็ใช้ได้ โดยความสกปรกจะหลุดออกไปเพียงบางส่วนเท่านั้นนะคะ แต่แบบนี้มันดีตรงทีว่า พอจะล้างด้วยวิธีการอื่นถัดมาเรื่องมันง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ เพราะสิ่งสกปรกโดยส่วนมากหลุดไปเยอะแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ควรเป่าลมแรงหรือปัดด้วยแปรงแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้เนื้อเห็ดช้ำ โดยเฉพาะคนที่จะนำเห็ดไปขายค่ะ3. แช่เห็ดด้วยน้ำสะอาดการเทเห็ดลงไปในกะละมังที่มีขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยน้ำสะอาด คือวิธีลดความสกปรกในเห็ดป่าที่คนแถวนี้ทำจนเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วค่ะ คือถ้าคิดวิธีอื่นไม่ออกเขาจะทำแบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่ แต่มีจุดสังเกตคือเขาจะไม่ได้ล้างเพียงน้ำเดียวนะคะ ส่วนกี่ครั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสกปรกของเห็ดค่ะ เช่น เห็ดระโงก แบบนี้ดอกใหญ่ ไม่ค่อยสกปรกมาก ล้างสองน้ำก็สะอาดแล้วค่ะ สำหรับเห็ดขอนป่า ล้างง่ายค่ะเพียงน้ำเดียวใช้ได้เลย เพราะเห็ดแบบนี้เกิดที่ขอนไม้ที่ผุพังแล้ว จึงมีสิ่งปรกน้อยมากเมื่อเทียบกับเห็ดชนิดอื่นๆ4. แช่ด้วยน้ำเกลือการผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ลงในน้ำเปล่า 1 ลิตร จากนั้นแช่เห็ดในน้ำเกลือประมาณ 10-15 นาที แบบนี้ทำให้เห็ดสะอาดและปลอดภัยขึ้นค่ะ เนื่องจากว่าเกลือแกงที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โซเดียมคลอไรด์นั้น เกิดจากการรวมกันของโซเดียมที่มีประจุบวก และคลอไรด์ที่มีประจุลบ เห็ดสะอาดขึ้นเพราะประจุของเกลือไปจับกับความสกปรกที่มีประจุตรงกันข้าม เลยทำให้สิ่งสกปรกนั้นสูญเสียสภาพไป โดยเฉพาะดินค่ะ เราเลยเห็นเม็ดดินจำนวนมากตกตะกอนนอนที่ก้นของกะละมังที่เราแช่เห็ดเอาไว้ในน้ำเกลือ ทั้งนี้ความสกปรกที่ไม่ได้มีเรื่องของประจุมาเกี่ยวข้อง ก็จะยังคงติดอยู่กับดอกเห็ดเช่นเดิมนะคะซึ่งวิธีการนี้สามารถช่วยให้เห็ดของเราง่ายขึ้นสำหรับการล้างให้สะอาดในขั้นตอนถัดมาได้ โดยอาจล้างอีกเพียงแค่น้ำเดียวก็สะอาดแล้วในเห็ดบางชนิด สำหรับวิธีนี้ขอให้ข้อสังเกตอีกนิดหน่อยคะว่า ปริมาณเกลือต้องสอดคล้องกับความสกปรกที่เห็ด เพราะลองนึกภาพตามค่ะว่า สมมติเราใส่ประจุเข้าไป 100 แต่ความสกปรกมีประจุ 300 แบบนี้มันไม่ชนะ เหมือนเราใส่ผงซักฟอกไปนิดเดียวแล้วมันสู้ความสกปรกไม่ได้ เราจึงพบว่าไม่มีฟองสักที ก็เช่นเดียวกันเราจึงอาจจะยังพบว่าต่อให้แช่ด้วยน้ำเกลือตอนล้างเห็ด แต่ทำไมดินก็ยังเยอะ ดังนั้นต้องมองภาพให้ออกนะคะทุกคน5. ล้างด้วยน้ำสะอาดข้อนี้คนละอย่างกันกับการแช่เห็ดด้วยน้ำสะอาดนะคะ โดยวิธีนี้จะเป็นวิธีการถัดมาหลังจากเราได้แช่เห็ดแล้ว ที่ไม่ว่าจะเป็นการแช่ด้วยเกลือแกงหรือแช่ด้วยน้ำเปล่าก็ตามแต่ การที่เห็ดจะสะอาดแบบไร้มลทินได้ถัดมา คือเราต้องล้างเห็ดหลายๆ ครั้งด้วยน้ำสะอาดค่ะ โดยวิธีการนี้เห็ดบางชนิดเหมาะมาก เพราะไม่ทำให้เห็ดช้ำและดอกเห็ดแตกละเอียด แต่สำหรับเห็ดบางชนิดป้าของผู้เขียนบอกว่าควรหลีกเลี่ยง และให้ไปใช้วิธีการอื่นก่อนจะดีที่สุด ซึ่งสำหรับผู้เขียนนั้นวิธีนี้เอาอยู่ค่ะ เพราะส่วนตัวไม่ได้ขายเห็ด พอล้างเสร็จก็โยนลงหม้อทำแกงเห็ดต่อเลย จึงไม่เครียดมากว่าเห็ดจะช้ำบ้างเพราะโดนน้ำนาน แต่ถ้าใครขายเห็ดก็ต้องระวังและใช้วิธีการอื่นร่วมด้วยเพื่อลดความเสียหายกับดอกเห็ดค่ะ6. ล้างเห็ดด้วยตะกร้าที่มีรูวิธีนี้ขอแนะนำให้นำไปใช้ล้างหลังจากที่เราตัดโคนเห็ดทิ้งแล้ว หรือหลังจากแช่เห็ดในน้ำเกลือแล้วก็ได้ค่ะ ตะกร้าที่มีรูช่วยให้เห็ดส่วนที่แตกเป็นชิ้นเล็กๆ หลุดออกไปได้ แถมพวกใบไม้ เศษหญ้าและเศษดินก็อยู่ยากด้วย ยังไงนั้นรูของตะกร้าก็ให้สอดคล้องกับขนาดของดอกเห็ดด้วยนะคะ พอเราล้างเห็ดแบบนี้ มันเหมือนมีช่องทางให้ความสกปรกไหลหนีไปได้ในระหว่างที่ล้าง เห็ดเราเลยสะอาดขึ้นได้ง่ายๆ และเห็ดสะอาดแล้วก็สะอาดเลยค่ะ เพราะไม่มีโอกาสไปสัมผัสกับความสกปรกอีกรอบ แต่แนะนำว่าน้ำต้องเปิดไหลผ่านแบบเบาได้เบานะคะ เพราะถ้าน้ำแรงเหมือนฉีดเล่นในวันสงกรานต์ แบบนั้นเห็ดเละหมดแน่นอน ก็แทนที่เห็ดจะสะอาด ก็อาจจะโดนด่าจนสะอาดแทนก็เป็นไปได้! นะคะ7. กำจัดสิ่งสกปรกด้วยน้ำร้อนจัดจากที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มาจากป้าของตัวเองนั้น เห็ดที่แตกง่ายถ้าต้องล้างด้วยน้ำหลายรอบ ป้าใช้วิธีการกำจัดความสกปรกบางส่วนออกก่อนด้วยน้ำร้อนจัดค่ะ โดยการทำแบบนี้ดอกเห็ดจะไม่แตกเลย แถมดินที่ติดกับดอกเห็ดก็หลุดออกมาเยอะมากพอสมควร โดยเราจะเริ่มจากการต้มน้ำให้เดือดจัดก่อน จากนั้นนำเห็ดของเราที่ตัดโคนทิ้งแล้ว นำไปลวกแบบรวดเร็วนะคะ และต่อด้วยการนำเห็ดออกจากหม้อไปล้างด้วยน้ำสะอาดอีกที เพียงเท่านี้ในมือของเราก็จะได้เห็ดที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับทำอาหารแล้วค่ะ และตั้งแต่ผู้เขียนเคยเห็นมานั้น จะมีเห็ดน้ำหมากที่ป้าใช้วิธีการนี้ เพราะเห็ดชนิดนี้บานและดอกเห็ดแตกละเอียดได้ง่ายมากค่ะเป็นยังไงบ้างค่ะสำหรับวิธีล้างเห็ดให้สะอาด พอเข้าใจและมองภาพออกกันบ้างไหม? และถ้าไม่อยากให้เห็ดมาปราบเซียนแล้วล่ะก็ คุณผู้อ่านก็ต้องลองนำวิธีการในนี้ไปประลองกับเห็ดดูค่ะ รับรองว่าไร้ตำนานแน่นอน อ้าว! เฮ้ย! ไม่ใช่ๆ ไร้ตำหนิ เพราะดินหลุดออกหมด😄 อย่างไรก็ดีการหันมาประยุกต์ใช้หลายวิธีการรวมๆ กัน คือกุญแจดอกสุดท้ายของความลับทั้งหมด เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรอกค่ะ ขนาดล้างเห็ดด้วยการแช่น้ำเกลือก่อน ที่ว่ามีประจุบวกลบแบบมองไม่เห็น ก็ยังถูกจำกัดด้วยจำนวนของประจุในเกลือแกงเลยดังนั้นปรับใช้วิธีการที่เข้ากับสถานการณ์ของตัวเองคือดีสุดค่ะ และขอย้ำก่อนจบบทความนี้ค่ะว่า เราไม่ควรแช่เห็ดป่านานเกินไป เพราะจะทำให้เห็ดดูดน้ำจนนิ่มและเละ อีกทั้งเมื่อล้างเห็ดป่าเสร็จแล้ว อร่อยสุดก็คือควรนำเห็ดไปปรุงอาหารหรือเก็บรักษาในตู้เย็นโดยทันทีค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย และถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😁เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://intrend.trueid.net/post/449748 https://news.trueid.net/detail/kWmMxGAYYz9W https://intrend.trueid.net/post/415644เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !