วิธีลดสารพิษตกค้างในผัก แบบธรรมชาติ มีอะไรบ้าง | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล บ่อยครั้งเรามักพบว่า ในขณะที่เรามีความจำเป็นต้องกินผักให้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการร่างกาย แต่เราก็มักมีความกังวลใจเกี่ยวกับสารเคมีที่หลงเหลืออยู่ในผักควบคู่กันไปด้วย ซึ่งสถานการณ์นี้แต่ก่อนผู้เขียนก็เป็นเหมือนกันค่ะ แต่ได้หายจากอาการนี้มานานมากแล้ว จนลืมไปว่าตัวเองเลิกกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะไปกังวลว่าจะไม่ได้กินผักเพราะสารเคมีไปตอนไหน เพราะคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า จริงๆ แล้วเราทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้างในผักได้ โดยมีหลายวิธีการมากๆ ที่หลายคนก็อาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนเลยด้วยซ้ำไป! ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจะมาบอกต่อให้กับทุกคนได้รู้ว่า มีวิธีการอะไรบ้าง ที่เป็นวิธีแบบธรรมชาติ ที่สามารถผ่อนหนักเป็นเบา และลดความเสี่ยงที่จะมาคุกคามสุขภาพของเราได้ จากที่ผักเป็นต้นเหตุ โดยผักต้นนั้น หัวนั้นหรือชิ้นนั้น อาจจะมีสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง ซึ่งเนื้อหาที่ผู้เขียนจะได้นำเสนอนั้น อ่านจบแล้วคุณผู้อ่านจะเข้าใจมากขึ้น และมีทางเลือกที่หลากหลาย ที่สามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองได้อย่างง่ายๆ ในชีวิตจริง ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ต่อจากนั้นคงเลิกกังวลใจเกี่ยวกับสารเคมีตกค้างในผักไปเลย น่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ? งั้นเรามารู้จักกันเลยดีกว่าว่า วิธีลดสารพิษตกค้างในผัก แบบธรรมชาติ มีอะไรบ้าง กับแนวทางที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 1. เด็ดหรือตัดส่วนนอกทิ้ง การเด็ดหรือตัดขอบผักทิ้งก่อนนำมาปรุงอาหารเป็นวิธีง่าย ๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่จริง ๆ แล้วสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างได้จริงค่ะ โดยเฉพาะผักใบเขียวที่เรามักจะเจอกับยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การตัดส่วนที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกโดยตรงทิ้งไปบ้าง ก็เหมือนกับการได้ทำความสะอาดผักในเบื้องต้น ช่วยให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่า ผักที่เรากินจะมีความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยชักนำมาซึ่งปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพลดลง 2. ปอกเปลือก การปอกเปลือกผักก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ดีเลยค่ะ เพราะสารเคมีส่วนใหญ่มักจะสะสมอยู่บริเวณเปลือกของผัก การที่เราปอกเปลือกออกก็เท่ากับได้กำจัดส่วนที่มีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีออกไปได้มากพอสมควรเลยทีเดียวค่ะ ถึงแม้ว่าการปอกเปลือกอาจจะทำให้เราสูญเสียคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติบางส่วนที่อยู่ในเปลือกไปบ้าง แต่สำหรับใครที่กังวลเรื่องสารเคมีตกค้าง การปอกเปลือกก็ถือเป็นทางเลือกที่ช่วยให้สบายใจและลดความเสี่ยงมากขึ้นในการบริโภคผักค่ะ 3. ปลูกผักสวนครัวเอง หากคุณผู้อ่านหันมาปลูกผักสวนครัวเองได้ ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงสารเคมีตกค้างเลยค่ะ เพราะเราสามารถควบคุมทุกขั้นตอนการปลูกได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์ การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผักที่เราปลูกนั้นปราศจากสารเคมีอันตราย หรือหากมีการใช้จริงๆ เราก็สามารถเลือกใช้สารชีวภัณฑ์หรือวิธีธรรมชาติอื่นๆ แทนได้ ซึ่งนอกจากจะได้ผักที่ดีแล้ว การปลูกผักเองยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และยังเป็นกิจกรรมที่สร้างความเพลิดเพลินได้อีกด้วยค่ะ 4. เลือกซื้อผักปลอดสารพิษหรือผักออร์แกนิก อีกหนึ่งวิธีการสำหรับคนที่ใส่ใจสุขภาพและกังวลเรื่องสารเคมีตกค้างในผัก คือ การเลือกซื้อผักปลอดสารพิษหรือผักออร์แกนิก และวิธีถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากพอควรสำหรับปัจจุบัน เพราะว่ามีผักปลอดสารพิษหรือผักออร์แกนิกแพร่หลายมากขึ้นแล้ว โดยผักเหล่านี้ได้รับการดูแลและปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีในระหว่างการปลูก จึงทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่า ผักที่เรานำมาปรุงอาหารนั้นดีต่อสุขภาพของเราในระยะยาว ถึงแม้ว่าราคาอาจจะสูงกว่าผักทั่วไปบ้าง แต่ถ้ามองในแง่ของสุขภาพและความสบายใจที่ได้รับ ก็ถือว่าคุ้มค่าเลยทีเดียวค่ะ นอกจากนี้การสนับสนุนผักปลอดสารพิษและออร์แกนิก ยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วยค่ะ 5. เลือกซื้อผักตามฤดูกาล หลายคนยังไม่รู้ว่า ผักที่ปลูกตามฤดูกาลมักจะมีความแข็งแรงตามธรรมชาติ ต้านทานโรคและแมลงได้ดี ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการดูแลมากนัก แถมผักตามฤดูกาลยังมีรสชาติดี สดใหม่ และราคาไม่แพงอีกด้วยค่ะ ดังนั้นการที่เราหันมาเลือกซื้อผักที่ออกในช่วงนั้นๆ นอกจากจะได้ผักที่มีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งผักข้ามฤดูกาลอีกด้วยค่ะ 6. กินผักหลากหลายชนิด คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า การกินผักให้หลากหลายชนิดก็เป็นอีกเคล็ดลับสำคัญ ในการลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างได้นะคะ จากที่ผักแต่ละชนิดอาจมีการใช้สารเคมีในการปลูกที่แตกต่างกันไป การที่เรากินผักหมุนเวียนสลับชนิดกันไป ก็จะช่วยลดโอกาสที่เราจะได้รับสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณที่มากเกินไป นอกจากนี้การกินผักหลากหลายสียังทำให้ร่างกายได้รับคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นลองเพิ่มความหลากหลายให้กับเมนูผักในแต่ละวันดูค่ะ 7. หลีกเลี่ยงการซื้อผักที่มีลักษณะผิดปกติ การสังเกตลักษณะของผักก่อนตัดสินใจซื้อก็สำคัญ ในการช่วยลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างได้ค่ะ เนื่องจากผักที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น มีรูพรุนมากเกินไป มีรอยช้ำขนาดใหญ่ หรือมีสีสันที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ อาจเป็นสัญญาณว่าผักเหล่านั้นถูกรบกวนจากแมลงศัตรูพืชมาก ทำให้เกษตรกรอาจต้องใช้สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อควบคุมปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นการเลือกซื้อผักที่มีลักษณะสมบูรณ์ สดใหม่ และมีสีสันตามธรรมชาติ ก็เป็นอีกวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีตกค้างในปริมาณมากได้ค่ะ 8. เก็บรักษาผักอย่างถูกวิธี ถึงแม้ว่าการเก็บรักษาผักอย่างถูกวิธี จะไม่ได้ช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ตกค้างอยู่แล้วโดยตรง แต่ก็มีความสำคัญในการคงคุณภาพและความสดใหม่ของผัก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่เราจะต้องทิ้งผักเน่าเสียไปก่อนที่จะได้นำมาปรุงอาหาร ซึ่งการเก็บผักในอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ในตู้เย็น และเก็บแยกผักแต่ละชนิดอย่างเหมาะสม จะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพและลดการเกิดเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี่เองก็สามารถก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อคนได้ค่ะ ดังนั้นการใส่ใจในการเก็บรักษาผักจึงเป็นอีกขั้นตอนที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้เราได้รับประทานผักที่สดใหม่และมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนนะคะ 9. เลือกซื้อผักที่มีตรารับรอง หลายคนยังมองภาพไม่ออกว่า ตรารับรองต่างๆ ที่ด้านข้างถุงของผักมีความสำคัญ เพราะการเลือกซื้อผักที่มีตรารับรองมาตรฐาน เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้เรามั่นใจในความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างได้มากยิ่งขึ้นค่ะ เพราะว่าตราสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า ผักนั้นผ่านกระบวนการผลิตและการตรวจสอบตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น เกษตรอินทรีย์ (Organic) หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งมีการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวด ดังนั้นการเลือกซื้อผักที่มีตรารับรองจึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า ผักที่เราเลือกนั้นมีคุณภาพและปลอดภัยต่อเรามากขึ้น และถึงแม้ว่าราคาอาจจะสูงกว่าผักทั่วไปบ้าง แต่ก็เป็นหลักประกันถึงความใส่ใจในกระบวนการผลิตที่เน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญค่ะ 10. สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น การสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ ในการช่วยลดปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในผักได้ค่ะ เพราะเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นหลายท่านมีความใส่ใจในการปลูกผักแบบธรรมชาติ หรือลดการใช้สารเคมีเพื่อลดต้นทุนและรักษาสภาพดิน การที่เราเลือกซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในชุมชนของเราโดยตรง นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจชุมชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรเหล่านี้มีกำลังใจในการผลิตผักที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยค่ะ 11. เรียนรู้และติดตามข้อมูลข่าวสาร รู้ไหมคะว่า การเรียนรู้และติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับด้านสุขาภิบาลอาหาร ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรารู้เท่าทันและสามารถเลือกบริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างได้นะคะ เพราะการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับมาตรฐานอาหาร การแจ้งเตือนเกี่ยวกับสารเคมีตกค้างในผักบางชนิด หรือข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งผักปลอดภัย จะช่วยให้เรามีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคได้อย่างมั่นใจมากขึ้น นอกจากนี้การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการล้างผักที่ถูกต้อง หรือวิธีการเลือกซื้อผักตามฤดูกาล ก็เป็นความรู้พื้นฐานที่ช่วยให้เราสามารถลดความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมีตกค้างได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจและมีความรู้จึงเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดอีกทางหนึ่งค่ะ การกินผักมีความสำคัญค่ะ เพราะสามารถให้สารอาหารตามธรรมชาติได้ และผักจัดเป็นหนึ่งในอาหารหลัก 5 หมู่ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ในขณะเดียวกันการรู้วิธีการลดสารเคมีตกค้างในผักก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน เนื่องจากอาหารสามารถนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ ได้ แต่แนวทางข้างต้นที่ผู้เขียนได้นำเสนอเอาไว้นั้น จะเป็นตัวช่วยให้เราหลีกเลี่ยงสารเคมีตกค้างในผักได้ค่ะ โดยหลายวิธีการในนี้ผู้เขียนใช้ตลอด เช่น การหันมาปลูกผักสวนครัวเองที่หน้าบ้านและนำมาประกอบอาหาร การเลือกซื้อผักจากเกษตรกรในอำเภอ และนานๆ ที่ได้เข้าตัวเมืองใหญ่ ก็มักจะไปเลือกซื้อผักที่มีตรารับรองต่างๆ กลับมาบ้านค่ะ สำหรับการปอกเปลือกและการตัดส่วนด้านนอกของผักทิ้งก็ทำประจำอยู่แล้ว รวมไปถึงการเก็บรักษาผักให้เหมาะสม ที่จะว่าไปแล้วทุกวิธีการในนี้ทั้งหมดผู้เขียนได้นำมาปรับใช้เพื่อลดสารเคมีตกค้างในผักค่ะ เพียงแต่ว่าบางวิธีการได้ทำมากหน่อย ในขณะที่บางวิธีการก็ตามแต่โอกาสจะเอื้อนะคะ ซึ่งวิธีในบทความนี้ คุณผู้อ่านก็สามารถนำไปได้เช่นเดียวกัน ยังไงนั้นลองอ่านทำความเข้าใจอีกสักรอบและนำไปปรับใช้กันค่ะ และผู้เขียนหวังว่าเนื้อหาในบทความนี้จะสามารถเป็นแนวทางให้กับคุณผู้อ่านได้บ้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะเพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปก โดย picjumbo.com จาก Pexels ภาพประกอบเนื้อหา: ภาพที่ 1-2 โดยผู้เขียน, ภาพที่ 3 โดย Onur Burak Akın จาก Unsplash และภาพที่ 4 โดย sasint จาก Pixabay ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่เกี่ยวข้องโดยผู้เขียน 13 ผักที่มีสีแดง มีคุณค่าทางโภชนาการ ส่งเสริมสุขภาพ 8 ผลเสียจากการล้างผักไม่สะอาด มีอะไรบ้าง ที่ต้องรู้! 10 ข้อดีล้างผลไม้ให้ถูกต้อง ก่อนนำมากิน ดีกว่าที่คิด! หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !