คั่วกลิ้งตำรับพื้นบ้าน กินบำรุงธาตุ เลือดลมไหลเวียนดี อาหารพื้นบ้านของภาคใต้ที่หลายคนเคยได้ลิ้มลองรสชาติกันมาบ้างแล้ว คงทราบถึงความอร่อยเด็ด เผ็ดร้อนตามตำรับของอาหารปักษ์ใต้ ซึ่งในยุคก่อนคั่วกลิ้งนิยมทำเก็บไว้กิน เพื่อเป็นการถนอมอาหารเนื้อสัตว์ให้เก็บไว้ได้นาน เนื่องจากไม่มีตู้เย็นอย่างปัจจุบันนี้ ผู้เขียนคุ้นเคยกับคั่วกลิ้งมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้ว ซึ่งคุณแม่จะทำเก็บไว้คราวละหนึ่งหม้อ จะนำมาอุ่นทุกวันจนกว่าจะกินหมด ซึ่งตอนใกล้หมดที่ติดก้นหม้อ ผู้เขียนจะนำข้าวสวยลงไปคลุกกับเศษเครื่องแกง ซึ่งมีสีเหลืองหอมเครื่องแกงกินอร่อยกว่าส่วนที่เป็นเนื้อสัตว์เสียอีก กินแล้วรู้สึกโล่งสบายท้อง เหตุผลที่คั่วกลิ้งต้องใส่สมุนไพรเช่น ขมิ้น ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม พริกไทยดำ เป็นจำนวนค่อนข้างมาก และพริกขึ้หนูเล็กน้อย ก็เพื่อช่วยในการดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมนำเนื้อวัว และเนื้อหมูมาปรุง นอกจากนี้ยังช่วยในการย่อยอาหาร แก้ท้องอืด เนื่องจากเนื้อสัตว์ย่อยยาก แต่วันนี้ผู้เขียนเปลี่ยนมาใช้โปรตีนถั่วเหลืองได้รสชาติดีเช่นกัน เมื่อกินคั่วกลิ้งคำแรกยังไม่เผ็ด จนกินไปเรื่อย ๆ ความเผ็ดร้อนจะค่อย ๆ ทวีมากขึ้น แต่เป็นความเผ็ดที่แฝงความเอร็ดอร่อยไว้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากความเผ็ดของพริกขึ้หนู ที่จะเผ็ดทันทีที่ได้กิน สำหรับสูตรการทำคั่วกลิ้งฉบับพื้นบ้านแท้ ๆ จะไม่ใส่น้ำปลา น้ำ และน้ำมัน เพื่อต้องการให้เนื้อสัตว์คลุกเคล้าเข้ากับเครื่องแกงจนแห้งมากที่สุด ก็จะช่วยให้เก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น สามารถห่อไปกินเวลาเดินทางไกลหลาย ๆ วันได้โดยที่ไม่บูด วิธีการปรุง 1. เตรียมเนื้อหมู หรือเนื้อวัวก็ได้หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ 1 กิโลกรัม เครื่องแกงคั่วกลิ้ง ประกอบด้วย 1. พริกขี้หนูแห้ง 15 เม็ด ชอบเผ็ดมากเพิ่มได้ หอมแดง 4 หัว กระเทียมจีน 10 กลีบ ขมิ้น 2 แง่ง ตะไคร้ 4-5 ต้น พริกไทยดำ 1 ช้อนโต๊ะ กะปิ 1 ช้อนชา ตำรวมกันให้ละเอียดพักไว้ 2. ข่าอ่อน หั่นเป็นแว่น 3 ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูดซอย 1 ช้อนโต๊ะ 3. นำกะทะตั้งไฟกลาง ใส่เครื่องแกง และเนื้อสัตว์ลงไปผัด คนจนกว่าเครื่องแกงจะคลุกทั่วเนื้อสัตว์ทุกชิ้น ช่วงนี้อาจจะมีนำซึมออกมาค่อย ๆ ผัดจนสุก และน้ำเริ่มแห้ง ใส่ข่าซอยลงไป ชิมรสหากยังไม่มีความเค็มจากกะปิ ให้เติมเกลือได้จนมีรสชาติดีขึ้นออกเค็มเล็กน้อย ส่วนใหญ่คั่วกลิ้งจะมีรสชาติเผ็ด เค็ม ส่วนความหวาน และความมัน มีตามธรรมชาติของเนื้อสัตว์อยู่แล้ว ผัดไปจนกว่าเนื้อสัตว์แห้งสนิทโดยใช้ไฟอ่อน ๆ เมื่อแห้งดีแล้ว โรยใบมะกรูดซอย คนให้เข้ากันแล้วตักขึ้น สรรพคุณที่ได้จากการกินคั่วกลิ้ง 1. ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด แน่นท้องเนื่องจากอาหารไม่ย่อย ช่วยขับลมในท้อง 2. ช่วยขับเหงื่อ ขับของเสียออกจากร่างกาย 3. ช่วยให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างได้ดี 4. ช่วยบำรุงธาตุไฟ โดยเฉพาะผู้หญิงคลอดลูกใหม่ กินแล้วช่วยให้ร่างกายอบอุ่น แก้หนาวได้ดี และยังช่วยให้น้ำนมไหลดีอีกด้วย การกินคั่วกลิ้ง ซึ่งมีรสชาติเผ็ดร้อนนิยมกินกับข้าวสวย และต้องมีผักเหนาะแกล้ม ซึ่งเป็นผักที่มีฤทธิ์เย็นอย่าง แตงกวา มะเขือเปราะ ยอดมันปู รวมถึงผักพื้นบ้านอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มรสชาติให้มีความอร่อยมากยิ่งขึ้น และยังได้รับวิตามินซีจากผักสด ๆ ซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกาย ในการต่อต้านเชื้อโรคอีกด้วย