สวัสดีครับบทความนี้เรามาว่ากันในเรื่องของอาหารการกินกันหน่อยแล้วกันนะครับ ยิ่งช่วงนี้กำลังเป็นการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวกันแล้ว ข้าวใหม่นี่แหล่ะทำข้าวหลามดีมากๆ ทั้งหอมทั้งนุ่ม และอร่อยจนหยุดทานไม่ได้เลยทีเดียว บทความนี้จึงอยากจะมาแบ่งปัน วิธีทำข้าวหลามแบบสุกง่ายๆ ไม่เปลืองไฟ ติดเยื่อทุกกระบอก ให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านได้ลองไปทำตามดูกันครับ ก่อนอื่นเรามาดูวัสดุอุปกรณ์กันก่อนเลย 1. ข้าวสาร ข้าวเหนียว แช่น้ำไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง 2. กระบอกไม้ไผ่ เลือกใช้ไม้กลางอ่อนกลางแก่ คือไม้ไผ่ที่กำลังแตกตาออกมา และยังมีเปลือกหุ้มตาไว้ตรงส่วนปลายจำนวนหนึ่ง 3. กะทิ จะใช้กะทิกระป๋องหรือคั้นจากมะพร้าวเองก็ได้เช่นกัน 4. ถั่วลิสง ถั่วดำ หรือถั่วแดง 5. น้ำตาลทรายขาวหรือแดงก็ได้ ขั้นตอนและวิธีการทำ 1. นำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อนโดยใช้เลื่อย เลื่อยเบาๆ ระวังอย่าให้แตก และให้เลื่อยที่ส่วนโคนเท่านั้นเพื่อทำเป็นปากกระบอกข้าวหลาม ส่วนปลายจะเป็นโคนของกระบอกข้าวหลามนั่นเอง และเลือกกระบอกที่ด้านในมีเยื่อที่สมบูรณ์ มีสีขาวสะอาด ไม่มีร่องรอยของแมลงกัดกิน 2. นำข้าวที่แช่ไว้มาล้างอีกครั้งจนน้ำใส แล้วนำไปลงกระทะเติมกะทิ น้ำตาลทราย คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรสตามใจชอบได้ 3. นำถั่วที่เตรียมไว้มาล้างทำความสะอาดแล้วต้มในน้ำเดือดจนถั่วนิ่มหรือสุก แล้วนำมาลงในกระทะรวมกันกับข้าวที่ผสมกะทิและน้ำตาลทรายเอาไว้ 4. ผัดข้าวที่ผสมถั่ว น้ำกะทิ น้ำตาลทราย ด้วยไฟอ่อนๆ เรื่อยๆ จนกว่าเม็ดข้าวจะมีความอ่อนตัวเล็กน้อยจึงค่อยยกออกจากเตา เมื่อยกออกจากเตาแล้วให้สังเกตว่าข้าวที่ผัดแห้งไปไหม ถ้าแห้งให้เติมน้ำเปล่าหรือหางกะทิลงไปให้ข้าวแฉะนั่นเอง ห้ามให้ข้าวแห้งเด็ดขาด 5. เสร็จแล้วนำข้าวที่ได้มากรอกลงในกระบอกไม้ไผ่ที่ตัดไว้ให้เกือบเต็ม ให้เหลือไว้ประมาณ 2 ข้อนิ้วชี้ และห้ามกระแทกให้ข้าวอัดลงไปจนแน่นเด็ดขาดเพราะข้าวสุกจะดันจนล้นออกมานั่นเอง 6. ให้กรอกข้าวลงกระบอกให้หมดก่อนเพื่อไม่ให้เยื่อในกระบอกไม้ไผ่แห้งก่อน จากนั้นให้นำกากมะพร้าวที่คั้นน้ำกะทิแล้วมายัดลงให้เต็ม ถ้าหากไม่มีให้ใช้ใบเตยมาม้วนแล้วยัดไว้แทน เพื่อไม่ให้สิ่งแปลกปลอมลงไปและช่วยรักษาความร้อน 7. นำต้นกล้วยมาทำขาตั้งโดยใช้ไม้เสียบลงไปทั้งสองด้าน ด้านละ 2 ท่อนลักษณะเป็นตัว V ความสูงให้พอดีกับกระบอกข้าวหลามเรา เสร็จแล้วจับคว่ำลง 8. ก่อไฟใต้ต้นกล้วยที่เราทำไว้ แล้วนำกระบอกข้าวหลามมาวางพิงไว้กับท่อนต้นกล้วยที่ทำไว้ทั้งสองด้านเท่าๆ กัน 9. คอยควบคุมไฟไม่ให้ดับและไม่ให้ไหม้กระบอกข้าวหลาม โดยเราต้องคอยหมุนกลับด้านกระบอกข้ามหลามให้ทั่วทุกกระบอก 10. สังเกตปากกระบอกข้าวหลามหากกากมะพร้าวหรือใบเตยที่อุดไว้ดันล้นออกมา แสดงว่าข้าวข้างในสุกแล้ว และควรจับแยกออกจากไฟแรง 11. เมื่อได้ข้าวหลามที่สุกแล้วให้ปลอกโดยใช้มีดปลอกเปลือกไม้ไผ่ออก ปลอกทีละบางๆ อย่าปลอกหนาเพราะจะไปโดนข้าวข้างในกระบอกได้ เมื่อปลอกเปลือกออกหมดแล้วจึงค่อยเหลาให้บางลงเรื่อยๆ 12. ใช้มีดตัดก้นกระบอกข้าวหลามแล้วเริ่มแกะหรือฉีกจากด้านก้นของกระบอกข้าวหลามขึ้นมาหาปากกระบอกข้าวหลาม เพื่อให้เยื่อไผ่ติดกับข้าวในกระบอกได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง เพียงเท่านี้ทุกท่านก็สามารถทำข้าวหลามทานเองได้แล้วล่ะครับ หากว่าเราไม่ผัดข้าวและต้มเม็ดถั่วก่อน จะทำให้ข้าวหลามสุกยาก สิ้นเปลื้องเชื้อเพลิง ใช้เวลาในการเผานาน และมีโอกาสที่ข้าวหลามจะไม่สุกสูงอีกด้วย ลองนำไปทำตามกันดูนะครับ ภาพโดยผู้เขียน หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !