สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน^^ มากิซูชิ “มากิซูชิ” ก็คือข้าวห่อสาหร่ายญี่ปุ่นที่สอดไส้ต่าง ๆ ได้หลากหลายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปลา กู้ง ปูอัด ไข่กุ้ง ไข่ปลาแซลม่อน หรือผักต่าง ๆ ที่เราเคยเห็นกันทั่วไปตามร้านอาหารญี่ปุ่น หรือแม้แต่ตามตลาดนัดทั่วไปนั่นล่ะค่ะ ลักษณะก็จะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดพอดีคำ ด้านในมีส่วนประกอบคือข้าวกับวาซาบิ และถูกห่อด้วยสาหร่ายแห้ง ส่วนรสชาตินั้นก็จะแบบกลมกล่อม มีทั้งเปรี้ยว เค็ม หวานในคำเดียวกันแต่รสชาติเหล่านั้นก็จะไม่จัดจ้านมากนัก และยังหอมกลิ่นสาหร่าย ก็ตามสไตล์แบบอาหารของชาวญี่ปุ่น ที่พวกเค้าจะเน้นปรุงและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแบบไม่ปรุงแต่งรสชาติมากจนเกินไปเพราะชาวญี่ปุ่นนั้นชอบรับประทานรสธรรมชาติของอาหารแต่ละชนิดแบบเน้น ๆ นั่นเอง จะว่าไปจริง ๆ แล้วเมนูอาหารญี่ปุ่นนั้นน่าสนใจ และมีหลากหลายอยู่มิใช่น้อย บางเมนูก็เหมือนจะทำง่าย แต่ด้วยความที่เราคนไทยนั้นก็ยังไม่ถนัดกับการใช้วัตถุดิบ และเครื่องปรุงแบบต้นตำรับตัวจริง แต่ก็ยังนับเป็นความโชคดีที่ในเมืองไทยบ้านเรานั้นมีร้านอาหารญี่ปุ่นหลายร้าน หลายสาขาใกล้บ้าน ที่เรียกได้ว่าอยากทานเมื่อไรก็เข้าร้านสั่งทานกันได้เลย.. แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดระบาดแบบนี้ ร้านอาหารก็ต้องปิดให้บริการแบบทานที่ร้านไปซะงั้น ถ้าจะให้สั่ง delivery มาทานที่บ้านนอกจากจะต้องจ่ายค่าส่งเพิ่มแล้ว การสั่งอาหารแต่ละอย่างก็ทานกันได้แค่ไม่กี่คำก็หมด ทานยังไม่ทันอิ่มเลยด้วยซ้ำจริงมั้ยล่ะคะ.. ดังนั้นในบทความนี้แฟรี่พิมก็เลยจะมาบอกวิธีการทำมากิซูชิ หรือข้าวห่อสาหร่ายแบบง่าย ๆ ให้คุณผู้อ่านได้ไปลองทำทานกันดูที่บ้านค่ะ รับรองได้ว่าการทำซูชิจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเมื่อคุณผู้อ่าน อ่านบทความนี้จนจบ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูอุปกรณ์และของที่ต้องใช้ในการทำข้าวห่อสาหร่ายกันได้เลย.. วันนี้เราจะทำเพียงไส้เดียวคือไส้ปลาแซลม่อนนะคะ อุปกรณ์ หม้อมีฝาปิดสำหรับหุงข้าวญี่ปุ่น กล่องไม้ หรือชามเซรามิก สำหรับใส่ข้าว มู่ลี่ไม้ไผ่ วัตถุดิบและเครื่องปรุง ข้าวญี่ปุ่น 500 ก. สาหร่ายแห้ง มิริน 150 มล. เกลือ 1 ชช. น้ำตาล 50 ก. แซลม่อน (หรือไส้ต่าง ๆ ตามชอบ) วาซาบิ ซอสโชยุ ขั้นตอนที่ 1 วิธีการหุงข้าว ก่อนอื่นเราจะล้างข้าวให้สะอาดหลาย ๆ น้ำเลยค่ะ จะคล้าย ๆ การล้างข้าวเหนียวบ้านเราเลย แฟรี่พิมล้างประมาณ 7-8 น้ำจนน้ำใสเลยค่ะ จากนั้นแช่ข้าวทิ้งไว้ 15 นาทีด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ พอครบเวลาก็เสด็จน้ำออกแล้วเทใส่หม้อหุงได้เลย ใส่น้ำเปล่าลงไปแค่พอท่วมข้าวเท่านั้น ถ้ามากเกินไปข้าวจะแฉะ ตัดแผ่นสาหร่ายปิดลงไปหน้าข้าวด้วยค่ะข้าวจะได้หอมกลิ่นสาหร่าย ปิดฝาตั้งไฟกลาง ๆ ไว้ประมาณ 10-15 นาที (ห้ามเปิดฝาในช่วงนี้) ครบเวลาแล้วก็ปิดไฟและปิดฝาทิ้งไว้แบบนั้นอีก 5 นาที ส่วนของสาหร่ายแฟรี่พิมจะค่อย ๆ เอาช้อนขูดออกค่ะ เหลือติดข้าวบ้างไม่เป็นไร ขั้นตอนที่ 2 เตรียมน้ำปรุงข้าว เทมิริน น้ำตาลทราย และเกลือลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟคนให้น้ำตาลและเกลือละลาย พอเริ่มจะเดือดก็ปิดไฟเลยค่ะ พักไว้ให้เย็นซักหน่อย ขั้นตอนที่ 3 เทข้าวลงในกล่องไม้ ถ้าไม่มีให้ใช้ชามเซรามิกเหมือแฟรี่พิมได้ค่ะ ใช้พายเกลี่ยไล่ความร้อนออกจากข้าวเบา ๆ ค่อย ๆ เติมส่วนผสมน้ำปรุงที่เตรียมเอาไว้ลงไปแล้วเกลี่ยข้าวกับน้ำปรุงให้เข้ากัน ทำไปเรื่อย จนไอความร้อนเริ่มเหลือน้อยลง และค่อย ๆ หมดไป พักส่วนนี้ไว้ให้เย็นค่ะ คลุมภาชนะด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำหมาด ๆ ขั้นตอนที่ 4 การเตรียมปลาแซลม่อน แนะนำให้ใช้ปลาแซลม่อนแช่แข็งที่ละลายแล้ว (สามารถหาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ) บางชิ้นจะมีก้างชิ้นใหญ่ ๆ ติดมาด้วยให้ใช้ที่คีบดึงออกค่ะ จะดึงออกง่ายมาก แร่เอาหนังปลาออก แล้วหั่นเป็นเส้นยาวไม่บางมากนะคะ เราจะเอาไว้ใส่ตรงกลางไส้เลย ชิ้นไหนสั้นก็ใช้ได้ค่ะ เวลาห่อก็เอามาวางต่อกันได้เลย ขั้นตอนที่ 5 ถึงเวลาห่อข้าวกันแล้วค่ะ เราจะตัดแบ่งครึ่งแผ่นสาหร่าย หรือขนาดประมาณ 3”x6” กางมูลี่ออกแล้วคว่ำสาหร่ายด้านที่เป็นเงาลงไป ขั้นตอนนี้ควรมีถ้วยใส่น้ำสำหรับจุ่มมือด้วยนะคะ.. จากนั้นให้หยิบข้าวขึ้นมาเป็นก้อนกลม ๆ แล้ววางลงไปที่ขอบด้านหนึ่งของสาหร่าย กดเบา ๆ ลากไปหาขอบอีกด้านหนึ่ง แล้วใช้นิ้วค่อย ๆ กดแผ่ข้าวให้ทั่วแผ่นสาหร่าย (ไม่ต้องหนามาก) โดยให้เหลือขอบด้านยาวเอาไว้ปิดตอนม้วนเสร็จ.. เอาวาซาบิใส่ที่ปลายนิ้วแล้วทาเป็นเส้นยาวตรงกลางแผ่นข้าว วางเนื้อปลาแซลม่อนทับลงไป คราวนี้จับขอบแผ่นมู่ลี่ขึ้นมาแล้วม้วนไปข้างหน้า กดเบา ๆ ค้างไว้แล้วม้วนต่อจนแผ่นสาหร่ายติดกัน กดอีกครั้งให้แน่ใจว่าข้าวของเราติดกันดีแล้วก็กางมู่ลี่ออกได้เลยค่ะ คราวนี้เราก็จะได้ข้าวห่อสาหร่ายเส้นยาว เอามาตัดเป็นชิ้นเท่า ๆ กันได้เลยค่ะ มีดที่ใช้ควรจะมีความคมพอสมควรนะคะจะได้ตัดสวย ๆ และก่อนตัดทุกครั้งจะต้องเอามีดจุ่มลงไปในน้ำก่อน ข้าวจะได้ไม่ติดมีดค่ะ สำหรับข้าวที่เหลือให้คลุมไว้ด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำวางไว้นอกตู้เย็นได้อีกหนึ่งมื้อนะคะ แต่ถ้าใครจะเก็บเข้าตู้เย็นเวลาจะทานต้องเอาออกมาวางไว้ให้หายเย็นซะก่อน แต่เม็ดข้าวก็อาจจะแข็งหน่อยค่ะ แฟรี่พิมจะเอาเข้าไมโครเวฟแค่แป๊บเดียว แล้วจะรอให้เย็นสนิทอีกทีค่อยเอามาห่อก็ได้เช่นค่ะ ใครมีเทคนิคจะห่อแบบอื่นก็จัดไปตามชอบเลยนะคะ ทีนี้เมื่ออยากทานมากิซูชิเมื่อไหร่ก็สามารถทำทานเองที่บ้านได้ไม่ยากเลยจริงมั้ยล่ะคะ รับรองว่าถูกกว่า ประหยัดกว่าแน่นอนค่ะ.. หวังว่าคุณผู้อ่านจะชอบบทความนี้กันนะคะ ไว้พบกันใหม่บทความหน้ากับสาระดี ๆ และมีประโยชน์เช่นเคยค่ะ^^ Cr.ภาพถ่ายทั้งหมดจากผู้เขียนบทความ