11 วิธีลดอาหารรสจัดจ้าน มีอะไรบ้าง กินเผ็ดน้อยลงได้ ทำไงดี | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จากที่ผู้เขียนได้สังเกตมานั้น คนไทยหลายคนชื่นชอบอาหารที่มีรสชาติเข้มข้นแบบถึงพริกถึงขิง รสจัดจ้านพุ่งทะยานไปดาวอังคาร ที่ในบางครั้งอาหารบางอย่างก็มีความเผ็ดแบบนำโด่ง เผ็ดร้อนจนควันออกหู เคยเจอเพื่อนหรือคนที่กินเผ็ดแบบนี้บ้างไหมคะ? สำหรับผู้เขียนเคยเห็นมาเหมือนกันค่ะ เป็นหลานชายที่กินเผ็ดมากๆ และคนที่เคยอยู่ที่ทำงานเก่า เผ็ดมากแบบขอเพิ่มพริกตอนสั่ง และอีกคนเป็นเพื่อนตอนสมัยเป็นนักเรียนพยาบาล เผ็ดสุดๆ แบบที่น้ำก๋วยเตี๋ยวกลายเป็นสีแดงเข้มเลยค่ะ ซึ่งคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี แต่ที่ดีคือต้องพอดีๆ ค่ะ และประโยคนี้ก็สามารถใช้ได้กับเรื่องความเผ็ดในอาหารด้วย ที่หลายคนก็อาจจะเจอปัญหาอยู่บ้างแล้วตอนนี้ จากที่ยังดื้อกินแต่อะไรเผ็ดๆ คือการกินเผ็ดจัดจ้านจนเกินงามก็ไม่ได้ดีเสมอไปค่ะ และผู้เขียนเชื่อว่าตอนนี้หลายคนก็อยากหาทางลดความเผ็ด ซึ่งก็ถือว่ามาถูกทางที่มาเจอบทความนี้ค่ะ เพราะในบทความนี้ผู้เขียนจะมาบอกต่อเกี่ยวกับวิธีลดกินอาหารรสจัดจ้านพอดี ที่ทำยังไงจะกินเผ็ดน้อยลงได้ อยากรู้ไหมคะ? โดยหลายวิธีหลายคนก็ไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำไป ดังนั้นต้องอ่านต่อและนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเองค่ะ กับเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 1. ลดปริมาณพริกทีละน้อย การเริ่มจากลดปริมาณพริกที่ใส่ในแต่ละมื้อลงเพียงเล็กน้อย อาจจะครึ่งเม็ดหรือแค่เศษช้อนชา แล้วค่อยๆ ปรับลดลงในมื้อต่อๆ ไป วิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของเราค่อยๆ ปรับตัวกับรสชาติที่ไม่เผ็ดจัดได้โดยไม่รู้สึกทรมานมากนักค่ะ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้ จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอนค่ะ 2. เจือจางความเผ็ดด้วยส่วนผสมอื่น คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า การลดการกินอาหารรสจัดลงและหันมาเจือจางความเผ็ดด้วยส่วนผสมอื่นๆ เป็นแนวทางที่น่าสนใจและส่งผลดีในระยะยาวได้หลายด้านเลยทีเดียวค่ะ นอกจากจะช่วยลดปัญหาที่จะตามมาทีหลังแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสรสชาติที่แท้จริงของวัตถุดิบอื่นๆ ในอาหารได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งการลองใช้ส่วนผสมอย่างกะทิ นม โยเกิร์ต หรือแม้แต่น้ำซุปใส มาช่วยลดความเผ็ดร้อนลง ไม่เพียงแต่จะทำให้ทานง่ายขึ้น แต่ยังเป็นการเพิ่มมิติของรสชาติและความกลมกล่อมให้กับอาหารจานนั้นๆ ได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนที่ไม่เพียงแต่ดีต่อตัวเราเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการรับรสอาหารอีกด้วย 3. เลือกใช้พริกที่มีความเผ็ดน้อยลง การเปลี่ยนมาเลือกใช้พริกที่มีระดับความเผ็ดน้อยลง เพื่อลดการบริโภคอาหารรสจัดนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ตรงจุดและได้ผลดีทีเดียวค่ะ เพราะเป็นการจัดการกับต้นเหตุของความเผ็ดร้อนโดยตรง การทำความเข้าใจและเลือกใช้พริกแต่ละชนิดที่มีความเผ็ดแตกต่างกันออกไป เช่น พริกหยวก พริกชี้ฟ้า หรือพริกหวาน แทนที่จะใช้พริกขี้หนูหรือพริกเหลืองที่มีความเผ็ดสูง จะช่วยให้เรายังคงสามารถเพลิดเพลินกับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของพริกได้ โดยที่ไม่ต้องเผชิญกับความแสบร้อนมากจนเกินไป นอกจากนี้การค่อยๆ ปรับเปลี่ยนชนิดของพริกที่ใช้ ยังเป็นวิธีที่นุ่มนวล ทำให้ลิ้นของเราค่อยๆ คุ้นชินกับระดับความเผ็ดที่ลดลงได้ โดยไม่รู้สึกว่ารสชาติอาหารเปลี่ยนไปมากนัก นับว่าเป็นทางเลือกที่ฉลาดและยั่งยืนสำหรับการลดการทานอาหารรสจัดในชีวิตประจำวันค่ะ 4. หลีกเลี่ยงเครื่องปรุงรสเผ็ดโดยตรง โดยการหลีกเลี่ยงเครื่องปรุงรสเผ็ดโดยตรงนั้น ผู้เขียนมีตัวอย่างค่ะ เช่น พริกสด พริกแห้ง พริกเผาหรือน้ำพริกต่างๆ ในการปรุงอาหารหรือเติมในภายหลัง ซึ่งการลดความเผ็ดลง ยังช่วยให้เราสามารถลิ้มรสชาติวัตถุดิบอื่นๆ ในอาหารได้ดียิ่งขึ้น ทำให้การรับประทานอาหารเป็นประสบการณ์ที่ละมุนละไมและดีต่อตัวเราในระยะยาวค่ะ 5. เคี้ยวอาหารให้ช้าลง อีกวิธีที่ช่วยลดการบริโภคอาหารรสจัดโดยที่เราอาจไม่ทันสังเกต คือ การเคี้ยวอาหารให้ช้าลงค่ะ ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า การเคี้ยวอย่างละเอียดจะช่วยให้เรารับรู้รสชาติเผ็ดได้นานขึ้น ทำให้เรามีความรู้สึกพอกับรสชาตินั้นได้เร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเติมเครื่องปรุงรสจัดเพิ่ม ยังไงลองนำไปปรับใช้กันค่ะทุกคน 6. ทานอาหารที่มีรสชาติหลากหลาย การลดการทานอาหารรสจัดและหันมาลองลิ้มรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจและส่งผลดีในหลายด้านนะคะ เพราะการที่เราคุ้นชินกับรสชาติจัดจ้าน มักทำให้ลิ้นของเราชาชินและไม่สามารถรับรู้ถึงรสชาติที่ละเอียดอ่อนอื่นๆ ได้ แต่การเปิดใจให้กับรสชาติที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นรสหวาน กลมกล่อม เปรี้ยวหรือขมเล็กน้อย สิ่งนี้จะช่วยให้เราได้รับประสบการณ์การทานอาหารที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นค่ะ นอกจากนี้การทานอาหารที่มีรสชาติหลากหลายยังส่งผลดีต่อตัวเรา เพราะเราจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมากขึ้น จากการเลือกทานอาหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละมื้อ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารเช่นนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดโลกแห่งรสชาติใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ควบคู่ไปกับการดูแลตัวเองที่ดีในระยะยาวค่ะ 7. ดื่มน้ำเปล่าระหว่างมื้ออาหาร เพราะอาหารรสจัดมักมีเครื่องปรุงรสเข้มข้น การดื่มน้ำเปล่าในระหว่างที่เราทานอาหารรสจัด จะช่วยเจือจางความเข้มข้นของรสชาติ ลดภาระของร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้น้ำเปล่ายังช่วยให้เรารู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมปริมาณอาหารโดยรวมได้อีกด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มน้ำเช่นนี้ จึงเป็นการดูแลตัวเองแบบง่ายๆ แต่ได้อะไรมากมายกว่าที่คิดค่ะ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทานอาหารรสจัดเป็นประจำ 8. หากอยากกินเผ็ด ให้ทานในปริมาณน้อย การลดการทานอาหารรสจัดไม่ได้หมายความว่าให้เราต้องเลิกทานเผ็ดไปเลย เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเป็นการทานในปริมาณที่น้อยลงเมื่ออยากลิ้มรสชาติเผ็ดร้อนค่ะ ซึ่งการทำเช่นนี้ถือเป็นแนวทางที่ยืดหยุ่นมากกว่า และยังคงตอบสนองความต้องการของเราได้บ้าง โดยที่เรายังสามารถควบคุมปริมาณความเผ็ดได้ ไม่ให้มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อตัวเอง ซึ่งการหันมาทานเผ็ดในปริมาณน้อยๆ มีส่วนช่วยกระตุ้นความอยากอาหารและเพิ่มรสชาติให้กับมื้ออาหารได้ และในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนท้อง หรือผลเสียอื่นๆ ที่มาจากการทานเผ็ดจัดด้วย ดังนั้นการปรับสมดุลเช่นนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ยังคงชื่นชอบรสชาติเผ็ด แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตัวเราเองไปพร้อมๆ กันค่ะ 9. ปรุงอาหารเองที่บ้าน เนื่องจากการทำอาหารเองทำให้เราสามารถควบคุมปริมาณเครื่องปรุงรสต่างๆ โดยเฉพาะพริกและเครื่องเทศที่มีรสจัดจ้านได้อย่างแม่นยำ ถ้าหากเรายังอยากทานรสเผ็ดอยู่บ้าง ก็สามารถใส่พริกในปริมาณน้อยๆ หรือเลือกใช้พริกที่ไม่เผ็ดมากนักได้ตามต้องการ นอกจากนี้การทำอาหารเองยังเปิดโอกาสให้เราได้ลองปรับเปลี่ยนสูตร เลือกใช้พริกแค่พอดีๆ ที่จำเป็นเท่านั้น ที่โดยสรุปแล้วการลงมือทำอาหารเอง จึงเป็นเหมือนการดูแลตัวเองในระยะยาว ควบคู่ไปกับการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนความคุ้นเคยกับรสชาติอาหารให้มีความหลากหลายและไม่จัดจ้านจนเกินไปค่ะ 10. มองหาทางเลือกที่ไม่เผ็ดเมื่อทานอาหารนอกบ้าน การลดการทานอาหารรสจัดเมื่อต้องทานอาหารนอกบ้านสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการมองหาทางเลือกของเมนูที่ไม่เผ็ด หรือมีระดับความเผ็ดน้อยกว่าที่เราคุ้นเคยค่ะ เพราะว่าร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะมีเมนูหลากหลายให้เลือกสรรอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทต้ม ผัดหรือย่าง ที่ปรุงรสชาติกลมกล่อม ไม่เน้นความเผ็ดร้อน การเปิดใจลองสั่งเมนูเหล่านี้ดูบ้าง นอกจากจะเป็นการลดปริมาณอาหารรสจัดที่เรารับประทานแล้ว ยังเป็นการเปิดประสบการณ์การลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ ที่อร่อยและดีต่อตัวเองได้อีกด้วย และถ้าจะพูดว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกเมนูอาหารเมื่ออยู่นอกบ้านเช่นนี้ ถือเป็นการค่อยๆ ลดความเคยชินกับรสชาติเผ็ดจัด และยังช่วยให้เราสามารถเข้าสังคมและทานอาหารร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาที่จะตามมาจากการกินเผ็ดมากเกินไป ก็คงจะไม่ผิดค่ะ 11. ค่อยๆ เพิ่มรสชาติอื่นในอาหารเผ็ด คือแทนที่จะลดความเผ็ดลงทันที การเพิ่มรสชาติหวาน เค็ม เปรี้ยวหรือแม้แต่รสชาติของวัตถุดิบสดใหม่ จะช่วยให้เราเริ่มคุ้นเคยกับรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น และความโดดเด่นของรสเผ็ดจะค่อยๆ ลดลงอย่างเป็นธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น หากเราชอบทานผัดกะเพราเผ็ดๆ อาจจะลองเพิ่มน้ำตาลเล็กน้อย หรือเติมผักที่มีรสหวาน เช่น แครอท ถั่วฝักยาว หอมหัวใหญ่หรือข้าวโพดอ่อน เข้าไปด้วย และการทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเผ็ดร้อนลง แต่ยังทำให้มื้ออาหารของเรามีรสชาติที่ซับซ้อนและน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนรสชาติอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ จะช่วยให้ลิ้นของเราปรับตัวได้ง่ายขึ้น และทำให้การลดอาหารรสจัดเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่รู้สึกฝืนมากจนเกินไปค่ะ ก็จบแล้วค่ะ กับแนวทางง่ายๆ ที่หลายข้อเราก็สามารถลงมือทำได้เลยหลังจากอ่านจบแล้ว จะว่าเป็นวิธีที่ไม่ได้ซับซ้อนและเข้าใจยากก็ได้ ซึ่งคุณผู้อ่านพอจะมองเห็นภาพบ้างแล้วนะคะ สำหรับผู้เขียนต้องบอกว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิตค่ะ เพราะโดยส่วนตัวทานอาหารรสชาติกลางๆ ไปทางจืด แต่ก็มีบ้างที่อยากทำอะไรแปลกใหม่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนทำตลอดก็คือข้อที่ 8 ค่ะ พอเราทำไปเรื่อยๆ เราก็ไม่ได้แบบว่าอยากกินอาหารเผ็ดแบบสุดโต่งหรือเบื่ออาหารนะคะ เพราะยังมีสถานการณ์ใหม่ๆ แทรกเข้ามาบ้าง ด้วยการทานเผ็ดแทรกเข้ามาในปริมาณน้อยๆ เป็นระยะๆ ยังไงนั้นหากตอนนี้คุณผู้เจอปัญหาว่าทานอาหารเผ็ดและรสจัดมากจนเกินไปแล้ว ก็ลองนำเทคนิคข้างต้นไปปรับใช้กันค่ะ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากสนใจเนื้อหาเช่นนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้ เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ ในบทความต่อไปค่ะ เครดิตรูปภาพประกอบบทความ รูปภาพทำหน้าปก โดย Jcomp จาก FREEPIK และออกแบบหน้าปกโดยผู้เขียน ใน Canva รูปภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน 9 วิธีลดเติมเครื่องปรุงในอาหาร ทำยังไงดี ใส่น้อยลงได้ 11 วิธีลดเครื่องดื่มน้ำตาลสูง มีอะไรบ้าง บริโภคน้อยลงได้ 9 วิธีลดกินอาหารเค็มจัด ด้วยตัวเอง ทำยังไงดี หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !