เทา หรือ เตา (ภาษาเหนือบ้านผู้เขียน) เป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นเส้นยาวมีสีเขียว อ่อนนุ่มเส้นเล็ก อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ลอยอยู่ในแหล่งน้ำลำคลอง สาหร่ายชนิดนี้จะขึ้นในน้ำที่ใสสะอาด ปราศจากสารเคมี และมีน้ำไหลผ่านตลอด วิธีการเก็บสาหร่ายเทา จะใช้ไม้ยาว ๆ ค่อย ๆ ม้วนเก็บเทาขึ้นมา โดยไม่ให้เทาโดนกับโคลนที่อยู่ด้านล่าง ตอนผู้เขียนยังเด็กก็เคยไปเก็บเทาในป่ากับคุณแม่อยู่บ่อย ๆ เพราะป่าแถวบ้านผู้เขียนนั้นอุดมสมบูรณ์มากมีน้ำไหลออกมาตลอดทั้งปี ทางบ้านของผู้เขียนจะเรียกว่าลำห้วย ถือเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากสาหร่ายเทาแล้วยังมีสัตว์น้ำเล็ก ๆ อีกมากมายเช่น กุ้งดำ ปลากั้ง ปลาช่อน ปลาสร้อย ปลาซิว ปูจั่ว เขียดเปอะ อีปุ่ม (ลูกอ๊อดกบภูเขา) เอามาประกอบเป็นอาหารได้หลายอย่าง วันนี้ผู้เขียนอยากเล่าถึงสาหร่ายเทาที่นิยมนำมาทำอาหารกันเรียกว่า ลาบเทาหรือตำเทา โดยเป็นสูตรของทางบ้านมาฝากกันค่ะ วัตถุดิบที่ต้องเตรียม 1. สาหร่ายเทา 1 กำมือ 2. มะเขือเปราะ 10 ลูก 3. มะเขือพวง 20 ลูก 4. พริกสด 20 เม็ด 5. กระเทียม 1 หัว 6. เกลือครึ่งช้อนชา 7. ข่าเหลืองหั่นแว่น 15 แว่น 8. น้ำปลาร้าต้มสุก 1 ทัพพี ขั้นตอนและวิธีการทำ 1. นำเทามาล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วเก็บเอาเศษใบไม้ เศษหญ้าที่ติดมากับเทาออกให้หมด จากนั้นจึงบีบเอาน้ำออกจนหมด นำไปสับให้ละเอียดใส่ถ้วยไว้ก่อน จากนั้นจึงหั่นมะเขือกรอบ และหอมแดงใส่ลงไปในถ้วยด้วย 2. นำพริกสดไปคั่วให้สุก นำมาใส่ในครกเติมเกลือ กระเทียม ข่าเหลืองหั่นแว่น โขลกให้ส่วนผสมละเอียดเข้ากันทั้งหมด 3. นำน้ำพริกที่ได้มาใส่ในถ้วยเทาที่เตรียมไว้คลุกเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากัน จากนั้นเติมน้ำปลาร้าต้มสุกที่ยังร้อนลงไป เพื่อทำให้สาหร่ายเทาสุกและป้องกันพยาธิที่มากับสาหร่ายเทาด้วย จากนั้นคนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันอีกหนึ่งรอบ เสร็จเรียบร้อยพร้อมเสิร์ฟแล้วค่ะ ทานกับผักเคียง เช่น มะแว้ง ผักแว่น ผักพาย ผักบุ้งนา ผักกาด เป็นต้น เรียบร้อยไปอีกหนึ่งเมนูพื้นบ้านของทางภาคเหนือ ลาบเทา จัดว่าเป็นอาหารพื้นบ้านที่อร่อยมาเช่นกันค่ะ เพราะผู้เขียนเองก็ชื่นชอบมากเหมือนกัน หากใครได้แวะมาเที่ยวทางภาคเหนือ อย่าลืมหาเมนูลาบเทารับประทานกันนะคะ