มันพร้าว คืออะไร ปลูกกี่เดือนมีหัว รสชาติอร่อยไหม | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล หลายคนยังไม่รู้ว่า มันพร้าว หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “มันจาวมะพร้าว” นั้น เป็นพืชหัวชนิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติ และสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลายชนิด ที่บางคนก็อาจจะเคยได้เห็นผ่านตามมาบ้าง ที่จริงๆ ก็ไม่รู้เลยว่าเรียกว่า มันพร้าว หรือบางคนอาจจะรู้จักแต่ยังไม่เคยได้ลองทานแบบจริงจังสักที เพราะมันพร้าวในสถานการณ์จริงนั้น จะว่าหายากก็เหมือนจะใช่ค่ะ แต่จะว่าหาง่ายสำหรับบางคนก็ใช่อีก ซึ่งสองสถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเจอมาเลย ที่ในตอนแรกก็ได้ทานถ้ามีคนนำมาขายในชุมชน แต่อยู่มาวันหนึ่งมันพร้าวมาอยู่ในชีวิตประจำวันเฉยเลยค่ะ โดยเรื่องนี้เริ่มจากที่น้าอยู่ที่นอร์เวย์สนใจอยากปลูกมันพร้าว เลยสั่งหัวมันมาจากจังหวัดชัยภูมิ เขาก็มาส่งให้ถึงหน้าบ้านเลย จากนั้นก็จ้างคนไปปลูกค่ะ แล้วมีหัวมันส่วนหนึ่งเหลือ แม่กับป้าก็เลยมีผลพลอยได้ ที่ก็ได้นำหัวมันส่วนหนึ่งมาปลูก พอเป็นแบบนั้นเลยมีมันพร้าวทานแบบไม่อั้นเลยค่ะตอนนี้ แต่ถ้าคุณผู้อ่านสนใจมันพร้าวราคาไม่แพงค่ะ ตกกิโลกรัมละ 25 บาท เท่านั้น สามารถซื้อมาต้มทานเองได้ แต่ก่อนจะไปหาซื้อมันพร้าว ในบทความนี้เรามาดูกันก่อนนะคะว่า มันพร้าวหน้าตายังไง จะได้รู้ว่าแบบไหนสดใหม่น่าซื้อ รสชาติอร่อยและข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจค่ะ งั้นอ่านต่อกันเลยดีกว่า ถ้ามีโอกาสได้เห็นต้นของมันพร้าวนะคะ มันจาวมะพร้าวจะมีลักษณะทั่วไปดังต่อไปนี้ค่ะ ลำต้น: เป็นไม้เลื้อย มีเถาเป็นสันเหลี่ยม มีครีบ ลำต้นเลื้อยพันไปทางขวา ไม่มีหนาม แต่บางครั้งเป็นปุ่มปม โคนเป็นรอยหยาบ ใบ: เป็นใบเดี่ยวและรูปหัวใจ หัว: เป็นส่วนที่ใช้ประโยชน์ มีขนาดและรูปทรงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปหัวจะมีสีน้ำตาล เนื้อในสีขาวครีมจนถึงม่วง ราก: รากมีสีชมพู โดยลักษณะเด่นของมันพร้าว คือ ความหลากหลายของพันธุ์: มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีขนาด รูปร่าง และรสชาติแตกต่างกัน ความสามารถในการปรับตัว: มันพร้าวสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพดินฟ้าอากาศที่หลากหลายค่ะ การนำไปใช้ประโยชน์: นำหัวมาประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้ม นึ่ง ผัด หรือทำเป็นขนมหวาน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นแป้งเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งสำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บหัวมันพร้าวนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนะคะ เช่น สายพันธุ์ของมันพร้าว: แต่ละสายพันธุ์จะมีอายุการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน สภาพดินฟ้าอากาศ: อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณฝนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของมันพร้าว การดูแลรักษา: การให้น้ำ ปุ๋ย และการกำจัดวัชพืชก็มีส่วนสำคัญ แต่โดยทั่วไปแล้วมันพร้าวจะพร้อมเก็บเกี่ยวได้ เมื่ออายุประมาณ 8-12 เดือน แต่ก็อาจมีบางสายพันธุ์ที่ใช้เวลานานมากกว่านี้ค่ะ โดยเรามีวิธีสังเกตว่ามันพร้าวพร้อมเก็บเกี่ยวหรือยัง ดังนี้ ขนาดของหัว: หัวจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและผิวเรียบ สีของหัว: สีของหัวจะเข้มขึ้น และอาจมีรอยแตกเล็กน้อย ความแข็งแรงของหัว: เมื่อกดลงไปที่หัว จะรู้สึกว่าหัวมีความแข็งแรงค่ะ และจากที่ผู้เขียนได้สังเกตมานั้น ที่ได้เล่ามาว่าแม่ของผู้เขียน น้าและป้าได้พากันปลูกมันชนิดนี้ พบว่า วิธีการหนึ่งที่เป็นไปได้เพื่อตรวจสอบความพร้อมของหัวมันก็คือ การขุดสุ่มมันพร้าวมาต้มทานค่ะ ซึ่งวิธีนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน เพราะนอกจากเราจะได้ข้อมูลในเรื่องลักษณะภายนอกของหัวมันพร้าวแล้ว เรายังได้รู้ด้วยว่ารสชาติเป็นยังไงด้วย อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากคุณผู้อ่านสนใจอยากทานมันพร้าวบ้าง การเลือกหัวมันพร้าวที่ดี มีส่วนสำคัญต่อรสชาติและคุณภาพค่ะ ที่โดยทั่วไปแล้วหัวมันพร้าวที่ดีจะมีลักษณะดังนี้ค่ะ ขนาด: หัวมันพร้าวที่ดีควรมีขนาดที่เหมาะสม ไม่เล็กเกินไปจนเนื้อน้อย และไม่ใหญ่เกินไปจนเนื้อแข็ง ผิว: ผิวของหัวมันพร้าวควรเรียบเนียน ไม่มีรอยช้ำ รอยบุบหรือรอยด่าง น้ำหนัก: หัวมันพร้าวที่ดีควรมีน้ำหนักค่อนข้างมาก เมื่อยกขึ้นมาจะรู้สึกถึงความแน่น ตา: ตาของหัวมันพร้าวควรเล็กและเรียบ ไม่ลึก เนื้อ: เนื้อในของหัวมันพร้าวที่ดีควรเป็นสีขาวนวล เนื้อละเอียดและมีความชุ่มชื้น โดยเคล็ดลับในการเลือกหัวมันพร้าวที่ดีเพิ่มเติม ได้แก่ สังเกตความสด: หัวมันพร้าวที่สดใหม่จะไม่เหี่ยว และเมื่อกดลงไปที่ผิวจะรู้สึกถึงความแข็งแรง ดมกลิ่น: หัวมันพร้าวที่ดีควรมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และไม่เหม็น ตรวจสอบรอยช้ำ: ก่อนเลือกควรตรวจสอบให้รอบด้านว่ามีรอยช้ำหรือรอยเน่าเสียหรือไม่ค่ะ ปกติตามธรรมชาติของมันพร้าวจะให้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์นะคะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น พันธุ์ของมันพร้าว: แต่ละพันธุ์จะมีรสชาติที่แตกต่างกันไป บางพันธุ์อาจมีรสหวานมัน บางพันธุ์อาจมีรสชาติออกแป้ง วิธีการต้ม: การต้มนานหรือต้มแป๊บเดียว ความร้อนที่ใช้ในการต้ม รวมถึงการใส่เครื่องปรุงต่างๆ ล้วนมีผลต่อรสชาติค่ะ ความสดใหม่ของมันพร้าว: มันพร้าวที่สดใหม่จะมีรสชาติหวานอร่อยกว่ามันพร้าวที่เก็บไว้นานแล้ว แต่โดยทั่วไปรสชาติของมันพร้าวต้มมักจะเป็นแบบนี้ หวานมัน: เป็นรสชาติที่โดดเด่นของมันพร้าว เนื้อสัมผัสจะนุ่มละลายในปาก หอมอ่อนๆ: จะมีกลิ่นหอมของมันพร้าวอ่อนๆ รสชาติอาจแตกต่างกันไปตามส่วนของหัว: บางส่วนอาจจะมีรสหวานกว่า บางส่วนอาจจะมีรสชาติออกแป้งมากกว่า ที่หลายคนอาจชอบทานมันพร้าวต้มคู่กับกะทิหรือน้ำตาล เพื่อเพิ่มความอร่อยและความหอมหวานนะคะ แต่สำหรับผู้เขียนชอบทานมันพร้าวต้มสุก ที่ไม่ต้องไปเตรียมอะไรอย่างอื่นให้ยากค่ะ หมายถึงน้ำตาลหรือกะทิ แต่ต้องมีดด้ามเล็กสำหรับแกะเปลือกค่ะ มันพร้าวหวานอร่อยตามธรรมชาติและเคี้ยวเพลินค่ะ มีความหอมเป็นเอกลักษณะ ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้สังเกตมานั้น เปลือกของมันพร้าวคล้ายเปลือกของต้นมะพร้าวค่ะ ที่มีความขรุขระและแข็ง สีดำคล้ายกันด้วย แต่ด้านในอร่อยเกินคาด ก็ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านสนใจเรื่องมันพร้าวในประเด็นไหน แต่ถ้าอยากทานก็อย่าลืมนำเคล็ดลับดีๆ ในนี้ไปใช้เลือกมันพร้าวมาต้มทานกันค่ะ เพราะผู้เขียนก็ได้นำเสนอไว้หมดแล้ว ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน https://food.trueid.net/detail/0DeJn1ALPxEB https://food.trueid.net/detail/YWBYDyrpvyaq https://food.trueid.net/detail/bk1pQlOYME4X หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !