ทำบุญ เข้าพรรษา 2565 จัดอาหารถวายพระ อย่างไรให้ได้บุญ

ทำบุญ เข้าพรรษา 2565 จัดอาหารถวายพระ อย่างไรให้ได้บุญ
แมวหง่าว
6 กรกฎาคม 2565 ( 11:24 )
65.2K

       วันสำคัญทางพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชา และ วันเข้าพรรษา 2565 กำลังเวียนมาอีกครั้ง พุทธศาสนิกชนคงกำลังเตรียมภัตตาหาร เครื่องอัฐบริขาร เพื่อนำไปถวายพระกันอยู่ใช่ไหม แต่ขอถามสักนิดว่า “คุณคิดว่าอาหารที่คุณจะนำไปถวายพระนั้นเหมาะสมหรือไม่” ส่วนใหญ่เรามักจะเลือกอาหารที่ตัวเองชอบ หรือไม่ก็อาหารโปรดของญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ลืมนึกไปว่าพระสงฆ์คือผู้ฉันอาหารที่เรานำไปถวาย ฉะนั้นเพื่อทำบุญให้ได้บุญ เรามาจัดอาหารถวายพระสงฆ์อย่างถูกต้องกันดีกว่า

 

 

หลักในการจัดอาหารถวายพระ

 

       สิ่งแรกที่เราควรรู้คือ พระสงฆ์ท่านปฎิบัติธรรมอยู่ในวัด จะมีกิจนิมนต์ข้างนอกบ้าง แต่มิได้ใช้แรงหรือออกกำลังกายมากนัก และญาติโยมใส่บาตรถวายสิ่งใดมา ท่านก็ต้องฉัน เลือกไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงกับโรคภัยที่เกิดจากจากการฉันอาหาร สำหรับ โรคที่พระสงฆ์อาพาธมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

 

  1. โรคความดันโลหิตสูง
  2. เบาหวาน
  3. ถุงลมโป่งพอง
  4. โรคกระดูกเสื่อม
  5. ข้อเข่าเสื่อม
  6. โรคหัวใจและหลอดเลือด
  7. โรคไขมันหลอดเลือดสูง
  8. โรคฟันผุ, เหงือกอักเสบ
  9. โรคเกี่ยวกับตา เช่น ต้อกระจก
  10. โรคท้องเสีย

 

 

อาหารต้องห้ามถวายต่อพระภิกษุสงฆ์

       อาหารต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ คือ อาหารที่เป็น อกัปปิยะ ไม่สมควรแก่สมณบริโภคขบฉันได้แก่ เนื้อ 10 ชนิด และอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อ 10 ชนิด คือ

  1. เนื้อมนุษย์ รวมทั้งเลือดมนุษย์ด้วย
  2. เนื้อช้าง
  3. เนื้อม้า
  4. เนื้อสุนัข
  5. เนื้องู
  6. เนื้อราชสีห์ (สิงห์โต)
  7. เนื้อเสือโคร่ง
  8. เนื้อเสือเหลือง
  9. เนื้อหมี
  10. เนื้อเสือดาว

 

 

  • นอกจากเนื้อสัตว์ 10 ชนิดนี้ จำพวกเนื้อที่ยังไม่ได้ทำให้สุกด้วยไฟ เช่น เนื้อดิบ ปลาดิบ ก็เป็นของต้องห้ามไม่ให้พระภิกษุขบฉันด้วยเช่นกัน (ซูชิปลาดิบ, เนื้อย่างเสือร้องไห้ที่สุกๆ ดิบๆ จำพวกนั้นไม่ได้เด็ดขาด)

 

  • เนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจง เช่น ฆ่าปลา ฆ่าไก่ เพื่อทำอาหารถวายแก่พระภิกษุสามเณรโดยตรง ซึ่งเรียกว่า “อุทิศสะมังสะ” แปลว่า เนื้อเจาะจง ก็เป็นของห้ามไม่ให้พระภิกษุสามเณรขบฉัน ถ้าพระภิกษุไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเป็นอาหารเฉพาะเจาะจงแก่ตน จึงฉันได้

 

  • ผลไม้ที่มีเมล็ดอาจเพาะเป็น คือ ผลไม้ที่ใช้เมล็ดปลูกได้ เช่น เงาะ ลำไย เป็นต้น และเง่าที่ปลูกเป็น คือ พวกเผือก มัน แห้ว เป็นต้น อนุญาตให้อนุปสัมบัน คือ บุคคลที่ไม่ใช่พระภิกษุ ได้แก่ สามเณร และคฤหัสถ์ ทำให้เป็นของสมควรแก่สมณะเสียก่อนแล้วฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ

 

  • อาหารที่ปรุงด้วยสุรา จนมีสี มีกลิ่น หรือ มีรสปรากฏ รู้ได้ว่ามีสุราเจือปน ห้ามไม่ให้พระภิกษุขบฉัน ถ้าไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หรือไม่มีรสปรากฏ ฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ

 

 

อาหารที่สมควรแก่พระภิกษุสงฆ์

 

  • เนื้อสัตว์ (นอกจากเนื้อที่ห้าม 10 ชนิดดังกล่าวแล้ว) ทุกชนิด ซึ่งเป็นเนื้อที่เขาฆ่าเพื่อนำมาขายเป็นอาหารคนพื้นเมือง ตามร้านตลาดเรียกว่า “ปะวัตตะมังสะ” แปลว่า เนื้อมีอยู่แล้ว เนื้อที่เป็นไปอยู่ตามปกติที่เขาทำให้สุกด้วยไฟแล้ว อนุญาตให้พระภิกษุฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ

  • สัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อทำอาหารถวายแก่พระภิกษุโดยตรง แต่พระภิกษุไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเป็นการเฉพาะเจาะจงแก่ตน อนุญาตให้พระภิกษุฉันได้ไม่เป็นอาบัติ

 

วิธีการจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์

 

  • การจัดภัตตาหารถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ในเวลาเช้านิยมจัดอาหารประเภทอาหารเบา เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก กาแฟ ขนมปัง เป็นต้น เพื่อพระภิกษุจะได้มีโอกาสฉันภัตตาหารเพลได้ดี ทำให้ไม่เกิดความหิวในเวลาเย็นและค่ำคืน

 

  • ถ้าจัดภัตตาหารถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ในเวลาเพลนิยมจัดอาหารประเภทอาหารหนัก โดยมากนิยมจัดอาหารไทย ซึ่งถูกกับรสนิยมของพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นคนไทย และควรเป็นอาหารประเภทพื้นเมืองเป็นหลัก อาจมีอาหารพิเศษแทรกบ้างบางอย่างก็ได้

 

        อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่ากิจของสงฆ์นั้นไม่ได้ใช้แรงกำลังมากนัก พูดกันง่ายๆ คือพระท่านจะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ดังนั้นอาหารไม่ควรหนักไปทางแป้ง, น้ำตาล, ไขมัน ส่วนข้าว เน้นเป็นข้าวกล้องจะดีที่สุด

 

 

       ตัวอย่างเมนูจัดภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ : ข้าวกล้อง, แกงป่า, แกงเลียง, ผัดผัก (หากเป็นมังสวิรัติได้ก็ดี หรือจะใส่เนื้อสัตว์ เช่น กุ้ง บ้างก็ได้), น้ำพริกกับผักสด หรือผักต้ม เมนูที่ใส่เนื้อสัตว์ เน้นเนื้อปลาดีที่สุด เพราะไขมันต่ำ โปรตีนสูง ย่อยง่าย และจะดีที่สุดหากหลีกเลี่ยงเมนูที่ใช้กระทิเป็นส่วนประกอบ

 

       สำหรับของหวาน เลี่ยงขนมหวานจากกระทิ, ขนมหวานจัดๆ เปลี่ยนมาเป็นผลไม้สดตามฤดูกาลดีกว่า เช่น แตงโม, องุ่น, มะละกอ เป็นต้น แต่อย่างทุเรียนนี่แป้งล้วนๆ เลี่ยงได้ก็ดี

 

 

        การทำบุญตักบาตรเป็นเรื่องดี แต่หากเราเลือกอาหารที่ช่วยให้พระสงฆ์ท่านมีสุขภาพที่ดีด้วยแล้ว จะยิ่งส่งเสริมบุญให้แก่ผู้ทำมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

บทความที่คุณอาจสนใจ

 

---------------------------

 

อัพเดทคาเฟ่สุดชิล รีวิวร้านอร่อยร้านดัง แจกสูตรอาหารเด็ดๆ
มาพูดคุยแชร์รูปยั่วน้ำลาย ให้สายกินต้องอิจฉา
ที่แอปทรูไอดี คลิกเลย > TrueID Food Community <