เคยไหม ที่เราต้องคอยชะเง้อมองบ้านไม้โบราณด้วยความชื่นชมในความงดงาม อยากรู้ว่าเป็นบ้านใคร อยู่มานานแค่ไหน อยากจะเข้าไปข้างในเหลือเกิน ทำได้แค่เฝ้ามองเมื่อเดินมาย่านเสาชิงช้า เวลาผ่านไปเนิ่นนานเพียงไหนไม่ทราบได้ อยู่มาวันหนึ่ง สิ่งที่ไม่คาดฝันได้พลันเกิดขึ้น เมื่อได้รับรู้ข่าวว่า บ้านที่เราเฝ้ามองนั้น กำลังจะถูกเปิดเป็นคาเฟ่เร็ว ๆ นี้ เอาแล้ว น้ำตาแทบร่วง นี่มันเป็นความจริง มิใช่ความฝันใช่ไหม โอกาสมาเยือนซะขนาดนี้ มีรึจะพลาด รีบมาเสนอหน้าอยู่หน้าบ้านตั้งแต่เปิดวันแรกเลย อยากรู้แล้วใช่ไหมว่าบ้านหลังที่ว่านั้นสวยงามขนาดไหนกัน ถึงได้พร่ำเพ้อซะขนาดนั้น มาค่ะ มาทำความรู้จัก "บ้านขนมปังขิง" บ้านไม้เก่าแก่ย่านเสาชิงช้าที่มีเรื่องราวมายาวนานแสนนาน บ้านขนมปังขิงหลังนี้มีอายุประมาณ 106 ปี สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2456 โดยเริ่มจาก อำแดงหน่าย (สกุลเดิมคือสกุลพราหมณ์) ซึ่งเป็นภรรยาของ รองอำมาตย์โท ขุนประเสริฐทะเบียน (ขัน) ได้ซื้อที่ดินเปล่าขนาด 47 ตารางวา จากหลวงบุรีพิทักษ์ (เจ้าของที่ดินคนแรก) หลังจากนั้น ขุนประเสริฐทะเบียน (ขัน) จึงได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมาในรูปแบบของเรือนขนมปังขิงที่มีความงดงามด้วยลายฉลุรอบบ้าน โดยถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าตามช่องลมและรั้วประตูทั้งหมดจะมีสัญลักษณ์ประจำตัวของขุนประเสริฐทะเบียนหรือนายขัน ซึ่งเป็นรูปตัวอักษร ขั-น ที่ซ้อนทับกันอยู่ภายในวงกลม ตกแต่งอยู่รอบบริเวณบ้าน และสัญลักษณ์นี้นายขันเป็นคนออกแบบเองตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากอำแดงหน่ายถึงแก่กรรม บ้านหลังนี้ถูกขายต่อให้กับลูกหลานในครอบครัวคือ ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นทายาทของท่านผู้หญิงเนื่องสนิท (บุตรีคนที่สองของขุนประเสริฐทะเบียน) โดยท่านผู้หญิงเพ็ชรามีเจตจำนงในการอนุรักษ์บ้านหลังนี้เอาไว้ ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือทุบทำลาย และต้องการเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาสถาปัตยกรรม “เรือนขนมปังขิง” ซึ่งนับวันหาชมได้ยากยิ่ง บ้านขนมปังขิง เป็นบ้านเลขที่ 47 ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่เดิมที่นี่ก็มีพื้นที่ 47 ตารางวาพอดีเช่นกัน เมื่อก่อนบริเวณถนนหลังโบสถ์พราหมณ์เป็นอาณาเขตของบ้าน แต่ถูกเวนคืนไปเพื่อตัดถนน ปัจจุบันจึงเหลือพื้นที่ประมาณ 35 ตารางวา บ้านหลังนี้เคยมีการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2533 ด้วยการซ่อมจุดต่างๆ ทาสี และยกพื้นขึ้น 30 ซม. เพื่อช่วยในการระบายความชื้นและรักษาไม้เก่า จนกระทั่งมาถึงการบูรณะครั้งที่ 2 โดย คุณธนัชพร คุณารัตนอังกูร (บุตรสาวท่านผู้หญิงเพ็ชรา) ทายาทรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรีโนเวทบ้านครั้งใหญ่เพื่อเปิดเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ตามเจตนารมณ์ของท่านผู้หญิงเพ็ชราที่ต้องการให้บ้านขนมปังขิงอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด โดยเนื้อไม้ บานประตูหน้าต่าง บานพับ บานกระทุ้ง ผนัง ช่องลม ลายฉลุ ยังคงเป็นของเดิมทั้งหมดตั้งแต่อดีต ไม่มีการเคลือบหรือขัดสีใดๆ ทั้งสิ้น บ้านขนมปังขิง คืออะไร??? บ้านขนมปังขิง เป็นบ้านสไตล์โคโลเนียล ซึ่งมีกลิ่นของ Ginger bread (ขนมปังขิง) บ้านสไตล์ขนมปังขิงมาพร้อมกับยุคล่าอาณานิคม นิยมตกแต่งบ้านด้วยไม้ฉลุลวดลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ชายคา ช่องลม หรือราวระเบียง ซึ่งต้นแบบนั้นมาจากบ้านสไตล์วิคตอเรียนในประเทศอังกฤษ และได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศของเราหลังจากที่ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงราวรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา และได้สร้างบ้านเรือนตามแบบที่ตนคุ้นเคยไว้ในประเทศไทย ชาวไทยเองก็ชื่นชอบความงดงามของลวดลายไม้แกะสลัก โดยความนิยมนั้นก็เริ่มต้นขึ้นจากพระราชวัง บ้านขุนนาง เศรษฐี คหบดี และตามวัดวาอารามต่างๆ บ้านแบบขนมปังขิง แม้จะเป็นบ้านสไตล์ต่างประเทศ แต่ก็ใช่ว่าจะเข้ากับประเทศไทยไม่ได้ เพราะลวดลายแกะสลักนั้นทำหน้าที่เป็นช่องลมได้เป็นอย่างดี ซึ่งคนไทยเก่งมาก สามารถเอาสไตล์โคโลเนียลมาผสมกับสไตล์ไทยที่มีอากาศร้อนชื้น จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ บ้านขนมปังขิง เสาชิงช้า พิกัดร้าน https://maps.app.goo.gl/EJg34 ร้านเปิดทุกวัน จันทร์-ศุกร์ 11.00 - 20.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 9.00 - 20.00 น. หน้าร้านไม่มีที่จอดรถ ลูกค้าสามารถจอดได้ที่ - ที่รับฝากรถศาลเจ้าพ่อเสือ - ที่รับฝากรถข้างครัวอัปษร - ที่รับฝากรถโรงแรมศรีกรุงเทพ (ข้างศาลาว่าการ กทม.) - ที่รับฝากรถร้านรุ่งเรืองพาณิชย์ - ลานจอดรถวัดเทพธิดาราม หากเดินทางโดย MRT ให้ลงสถานีสามยอด ทางออก 3 และเดินมาทางเสาชิงช้าประมาณ 700 เมตร