เชื่อเหลือเกินว่าสิ่งที่ทุกบ้านต้องมีคือ "ตู้เย็น" ไม่ว่าจะเป็นแบบที่มีประตูเดียว 2 ตู้เย็น 2 ประตู ตู้เย็นแบบมีช่องฟรีซหรือไม่มีช่องฟรีซ เพราะเมืองไทยของเรานั้นอากาศช่างร้อนอบอ้าว การเก็บอาหารและเครื่องดื่มเอาไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำๆ จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและช่วยยืดอายุของอาหารให้อยู่ได้นานขึ้น แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมคะว่าตู้เย็นชั้นไหนควรแช่อะไรกันแน่? เก็บของในตู้เย็นแบบไหนจึงจะเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพของเรามากที่สุด ว่าแล้วก็มาดูคำตอบไปด้วยกันเลยค่ะ 1.ช่องแช่แข็ง ช่องนี้จะเป็นส่วนที่เย็นที่สุดของตู้เย็น โดยมีอุณหภูมิที่ประมาณ -18 องศาเซลเซียส เป็นช่องสำหรับการแช่แข็งอาหารเพื่อเก็บเอาไว้ได้นานที่สุด เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา แกง น้ำซุป น้ำสต็อก ขนมปัง(ช่วยยืดอายุให้ขนมปังอยู่ได้นานเป็นเดือน) อาหารสำเร็จรูปที่ต้องแช่แข็งก่อนจะนำมาวางให้ละลายแล้วค่อยนำเข้าไมโครเวฟ อย่างที่บ้านเราจะแช่เนื้อสัตว์ต่างๆ ไว้ในช่องแช่แข็ง โดยจะล้างทำความสะอาด จากนั้นผึ่งจนแห้งแล้วแพ็กใส่ถุงแยกเป็นสำหรับการใช้ 1 ครั้ง โดยแยกเนื้อสัตว์แต่ละชนิดไว้อย่างละกล่องหรือสามารถใช้ปากกาเขียนที่หน้าถุงว่าด้านในคืออะไร ยิ่งถ้าระบุวันที่ลงไปด้วยจะยิ่งทำให้เรารู้ได้ว่าควรใช้เนื้อถุงไหนก่อนหลัง 2.ช่องรองจากช่องแช่แข็ง หรือที่เราเรียกกันว่าช่องลิ้นชักด้านบน ช่องนี้จะมีความเย็นรองลงมาจากชั้นแช่แข็ง มีอุณหภูมิประมาณ 0-6 องศาเซลเซียส ช่องนี้จะเหมาะกับของอาหารพร้อมทานต่างๆ ที่ต้องเก็บในความเย็นแต่ไม่ต้องถึงกับว่าต้องเอาไปแช่แข็ง อย่างที่บ้านเราเก็บจะเป็นไส้กรอก แหนม เต้าหู้ เต้าหู้ไข่ แฮม เบคอน เนยก้อน อาหารสำเร็จรูป(ชนิดไม่แช่ช่องแข็ง) และนอกไปจากนี้ยังเป็นชั้นที่เราสามารถนำอาหารจากช่องแช่แข็งลงมาเพื่อละลายน้ำแข็งก่อนการใช้ปรุงอาหารได้อีกด้วย อย่างเราจะนำถุงเนื้อสัตว์ลงมาไว้ในช่องรองช่องแช่แข็ง 1 คืน พอตื่นเช้ามาก็นำมาวางด้านนอกตู้เย็นอีกสักครู่ก็พร้อมปรุง 3.ช่องเย็นธรรมดาช่องนี้เป็นช่องที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเพราะเป็นช่องที่เราจะเก็บอาหาร ขนม นม เนยต่างๆ ที่กินไม่หมดเอาไว้ในชั้นนี้ โดยช่องแช่เย็นธรรมดาจะมีอุณหภูมิที่ประมาณ 5-7 องศาเซลเซียส เป็นช่องที่กินขนาดพื้นที่มากที่สุดในตู้เย็น เหมาะสำหรับการแช่อาหารที่เรากินเป็นประจำ เช่น น้ำเปล่า นม น้ำผลไม้ โยเกิร์ต เนย แยม อาหารและกับข้าวต่างๆ (ควรเก็บไว้ในภาชนะที่มิดชิด หากผ่านความร้อนมาก่อนจะต้องรอให้อาหารเหล่านั้นเย็นดีแล้วจึงค่อยนำเข้าไปแช่ในตู้เย็น) 4.ประตูตู้เย็นจะเป็นส่วนที่มีอุณหภูมิสูงสุดในตู้เย็นเพราะเป็นส่วนที่จะถูกเปิดออกอยู่แทบจะตลอดทั้งวัน โดยมีอุณหภูมิที่ประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส ด้วยความที่เป็นโซนที่มีอากาศค่อนข้างร้อนจึงเหมาะกับการเก็บอาหารที่ไม่ต้องแช่เย็นมากๆ แต่สามารถอยู่ได้นาน เช่น ซอสหอย ซอสปรุงรส เครื่องปรุงอาหารต่างๆ รวมไปจนถึงไข่สดที่มีแผงสำหรับจัดเก็บเอาไว้โดยเฉพาะ 5.ช่องเก็บผักผลไม้โซนสุดท้ายสำหรับการเก็บของในตู้เย็นคือ ช่องแช่ผักผลไม้ที่อยู่ด้านล่างสุดค่ะ โดยบริเวณนี้มีอุณหภูมิที่ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับการเก็บผักและผลไม้ โดยในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตตู้เย็นก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อให้เราสามารถเก็บผักสดและผลไม้เอาไว้ได้นานมากขึ้น คำแนะนำสำหรับการเก็บผัก/ผลไม้ในตู้เย็นคือ ควรทำให้ผักและผลไม้แห้งสนิทก่อนเก็บเข้าตู้เย็น สามารถใส่ถุงพลาสติก ถุงซิปล็อกหรือกล่องทัปเปอร์แวร์เพื่อช่วยคงความสดของผักและผลไม้ไว้ได้ยาวนาน นอกจากนี้ไม่ควรเก็บผักและผลไม้ผสมชนิดกันเพราะจะเป็นการเร่งให้สุกไวขึ้น และนี่ก็เป็นทริกในการเก็บอาหารในตู้เย็นสำหรับแต่ละช่องที่เราอยากนำมาแบ่งปันกัน ทั้งนี้หลังจัดเก็บอาหารต่างๆ เข้าไปแล้วอย่าลืมตรวจเช็กรายการอาหารที่เราแช่เข้าไปว่ามีอะไรบ้าง ควรกินวันไหน หมดอายุเมื่อไหร่เพื่อไม่ให้มีของเสีย ของหมดอายุสะสมอยู่ภายในตู้เย็นจนทำให้ตู้เย็นสกปรก และให้ลืมความคิดที่ว่าอะไรที่อยู่ในตู้เย็นแล้วจะเป็นอมตะ ไม่หมดอายุได้เลยค่ะเพราะถึงจะเก็บในตู้เย็นก็สามารถยืดอายุได้แค่เพียงไม่กี่เดือน ไม่สามารถอยู่ได้นานเป็นปีๆ อย่างแน่นอน ภาพหน้าปก ภาพที่1 จาก Odua Images โดย canvaภาพในเนื้อหาทั้งหมด โดย ผู้เขียน เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !