ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือ สงกรานต์ปีใหม่ของไทย ตามหลักปฏิทินของไทย ก็คือ วันที่ 13 14 และ 15 เดือนเมษายน ของทุกปี ผู้เขียนเป็นคนเหนือโดยกำเนิด วันนี้จะพูดถึงอาหารที่อยู่คู่กับเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมือง ด้วยคติความเชื่อ และปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต ประเพณีและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ อาหารที่ผู้เขียน จะแนะนำก็คือ แกงขนุนและ ลาบหมูคั่ว อาหารที่นิยมทำในวันขึ้นปีใหม่ของไทย หรือปี๋ใหม่เมือง แกงขนุน หรือ แกงบ่าหนุน คนล้านนาโบราณมีความเชื่อว่าวันที่ 16 เมษายนคือ วันเริ่มต้นใหม่ของปีใหม่ นั่นก็คือหลังจากวันที่ 15 เมษายนที่เป็นวันพญาวัน วันที่ 16 ก็จะเป็นวันปากปีหรือปากปี๋ คนล้านนาโบราณ นิยมนำขนุนมาแกง โดยมีความเชื่อว่าหากทานแกงขนุน หรือ ขนุนในวันเริ่มต้นของปี จะทำให้ มีโชคเกื้อหนุนจุนเจือตลอดทั้งปี และให้มีสิ่งหนุนนำในการดำรงชีวิต ของปีใหม่ วัตถุดิบ และวิธีทำที่ง่าย ดังนี้ 1. ขนุนดิบ 500 กรัม 2. กระดูกหมู 300 กรัม 3. พริก กระเทียมโขลก 100 กรัม 4. น้ำเปล่า 1 ลิตร 5. ปลาร้า กะปิ 70 กรัม 6. มะเขือเทศ 80 กรัม 7. ใบชะพลู 50 กรัม วิธีทำ นำกระดูกต้มในน้ำเปล่าให้เดือด จากนั้นใส่พริก กระเทียมที่โขลก ใส่ปลาร้ากะปิ ตั้งไฟประมาณ 10 นาที ต่อด้วยนำขนุนดิบ ที่ปอกเปลือกและซอยเป็นชิ้นพอคำแล้วใส่ลงไป ตั้งไฟจนขนุนดิบเริ่มจะได้ที่ใส่มะเขือเทศ และ ใบชะพลู ปรุงรสด้วยน้ำปลาและผงปรุงรส ชิมรสชาติให้กลมกล่อม เพียงเท่านี้ก็จะได้ แกงขนุนหรือแกงบ่าหนุน ที่เอาไว้ทาน ในวันเริ่มต้นใหม่ของปี นั่นก็คือ วันปากปี๋ 16 เมษายน ต่อด้วย เมนูลาบ ทั้งหมู เนื้อ ไก่ และ ปลา นิยมทำกันในวัน ปีใหม่ หรือ เทศกาลสงกรานต์ ความเชื่อโบราณว่า ได้ทานลาบ ในวันปีใหม่ หรือปี๋ใหม่เมืองจะทำให้เกิดโชคลาภ ทำให้เกิดความมั่งคั่ง ต่อตนเองและครอบครัว ฉะนั้น เมนูลาบจึงกลายเป็นอีกเมนูหนึ่ง ที่เป็นเมนูอาหารมงคลของคนล้านนาโบราณ วิธีทำ และวัตถุดิบง่าย ๆ ดังนี้ 1. หมูสับ 300 กรัม 2. เครื่องในหมู 200 กรัม 3. พริกป่น และ เครื่องเทศ 150 กรัม 4. ผักชี สะระแหน่ และผักไผ่ ( ผักแพว ) 100 กรัม 5. เกลือป่น น้ำปลา ( ตามชอบ ) วิธีทำ นำหมูสับและเครื่องในหมู คลุกเคล้ากับพริกป่นและเครื่องเทศ จากนั้นโรยสาระแหน่ ผักชี และผักไผ่ ( ผักแพว ) ปรุงรสด้วยเกลือป่น และ น้ำปลา ชิมให้เกิดรสชาติกลมกล่อม ( ท่านสามารถหาซื้อพริกลาบสูตรเหนือ จะทำให้ได้รสชาติและความเข้มข้นแบบเหนือโบราณ ) ผักเคียง กะหล่ำปลี , กะหล่ำดอก , แตงกวา , ถั่วฝักยาว ทั้ง 2 เมนูนับได้ว่าเป็น เมนูอาหารมงคล ของคนล้านนาในอดีต ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยคติความเชื่อ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ทำให้อาหาร 2 อย่างนี้ จึงนิยมทำในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ผู้เขียนแนะนำให้ท่านลองชิมลิ้มรสอาหารเหนือทั้ง 2 เมนูนี้ รับรองท่านจะติดใจในรสชาติ และ มนต์เสน่ห์ของอาหารเหนือ อย่างแน่นอน หมายเหตุ รูปภาพทั้งหมดผู้เขียนเป็นผู้ถ่ายเอง