มะเขือขื่น เป็นแบบไหน ขมมากไหม กินยังไงดี | บทความโดย Pchalisa มะเขือที่สามารถนำมาทานได้มีหลากหลายมากค่ะ และมะเขือพื้นบ้านที่หลายคนเรียกว่า “มะเขือขื่น” นั้น เป็นมะเขือที่ค่อนข้างแตกต่างจากมะเขือชนิดอื่นในหลายๆ อย่าง ที่บางคนก็อาจเคยได้ทานมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่รู้ข้อมูลในส่วนอื่นของมะเขือชนิด ในขณะที่บางคนอาจงงไปเลยกับมะเขือขื่น จริงไหมคะ? ดังนั้นในบทความนี้เราจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับมะเขือขื่นค่ะ ที่จะบอกว่าอ่านจบแล้วอาจจะอยากปลูกมะเขือแบบนี้ที่สวนหลังบ้านก็ได้ ส่วนเหตุผลว่าทำไมจะเป็นแบบนั้นต้องอ่านต่อให้จบค่ะ ดังข้อมูลต่อไปนี้ คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? มะเขือขื่นเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม จึงสามารถขึ้นได้ในดินหลายชนิด โดยมีลักษณะทั่วไป ดังนี้ค่ะ ไม้พุ่มขนาดเล็ก: มะเขือขื่นเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร มีทรงพุ่มที่ไม่ใหญ่มาก หนามแหลมคม: ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของมะเขือขื่นคือหนามแหลมคมที่ปกคลุมทั่วทั้งต้น ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่งก้าน ใบ หรือแม้แต่ผลก็ยังมีหนาม ใบ: ใบของมะเขือขื่นเป็นใบเดี่ยว รูปไข่หรือรูปหัวใจ ขอบใบหยักเว้า ผิวใบมีขนและหนาม ดอก: ดอกมะเขือขื่นมีสีม่วงอมฟ้า ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อเล็กๆ ตามซอกใบ ผล: ผลมะเขือขื่นมีรูปทรงกลม เมื่ออ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และมีรสชาติขม โดยมะเขือขื่นมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นค่ะ โดยชื่อเรียกที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ภาคกลาง: มะเขือขื่น ภาคเหนือ: มะเขือแจ้ มะเขือคางกบ เชียงใหม่: มะเขือแจ้ดิน มะเขือเปราะ มะเขือเสวย แม่ฮ่องสอน: มังคิเก่ ภาคใต้: เขือหิน เขือเพา นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกมากมาย เช่น มะเขือเหลือง มะเขือขันขำ มะเขือคำ เป็นต้น ซึ่งเหตุผลที่มะเขือขื่นมีชื่อเรียกแตกต่างกัน อาจเป็นเพราะว่า ลักษณะทางกายภาพ: เช่น สีของผล ขนาด หรือรูปร่าง รสชาติ: เน้นย้ำถึงรสชาติที่ขื่น การนำไปใช้ประโยชน์: เช่น นำไปปรุงอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่แตกต่างกันค่ะ และมะเขือแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติค่ะ และเหตุผลว่าทำไมมะเขือขื่นเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้ง่าย และมักพบขึ้นเองตามธรรมชาติได้บ่อย เพราะมีคุณสมบัติที่เอื้อต่อการกระจายพันธุ์ ดังนี้ค่ะ เมล็ดจำนวนมาก: มะเขือขื่นมีเมล็ดจำนวนมากในแต่ละผล เมื่อผลสุกและแตกออก เมล็ดจะกระจายไปตามพื้นดินโดยรอบ ความทนทานของเมล็ด: เมล็ดมะเขือขื่นมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถอยู่รอดได้นานในดิน และเมื่อเจอความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม ก็จะงอกเป็นต้นใหม่ได้ค่ะ การกระจายพันธุ์โดยสัตว์: สัตว์บางชนิด เช่น นก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก อาจกินผลมะเขือขื่นเข้าไป แล้วถ่ายเมล็ดออกมากับมูล ทำให้เมล็ดกระจายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ได้ไกลขึ้น ความสามารถในการปรับตัว: มะเขือขื่นเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่หลากหลายได้ดี สามารถเจริญเติบโตได้ในดินหลายชนิด และทนต่อสภาพอากาศที่ค่อนข้างรุนแรงได้ค่ะ ซึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดของมะเขือขื่น ได้แก่ พื้นที่รกร้าง: พื้นที่ว่างเปล่าหรือรกร้างมักเป็นที่อยู่อาศัยของมะเขือขื่น เพราะไม่มีพืชชนิดอื่นมาแข่งขันค่ะ ดินร่วนซุย: มะเขือขื่นชอบดินร่วนซุยที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความชื้น: เมล็ดมะเขือขื่นต้องการความชื้นในการงอก แสงแดด: มะเขือขื่นเป็นพืชที่ชอบแสงแดดค่ะ หลายคนยังไม่รู้ว่า มะเขือขื่นโดยทั่วไปแล้วจะออกผลตามฤดูกาลค่ะ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แต่หากมีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เช่น การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมและการตัดแต่งกิ่ง แบบนี้ก็สามารถทำให้มะเขือขื่นออกผลได้นานขึ้นหรือออกผลได้ตลอดทั้งปีค่ะ จากที่ผู้เขียนได้ทานมะเขือชนิดนี้มาตลอด พบว่า มะเขือขื่นมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากมะเขือชนิดอื่นๆ ค่ะ โดยรสชาติของมะเขือขื่นโดยรวมสามารถอธิบายได้ดังนี้ ขื่น: อย่างที่ชื่อบอกเลยค่ะ มะเขือขื่นมีรสขมเป็นหลัก รสขมนี้จะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับอายุของผลและส่วนที่นำมาประกอบอาหาร เปรี้ยว: นอกจากความขื่นแล้ว มะเขือขื่นยังมีความเปรี้ยวเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยตัดรสขมให้ไม่เข้มข้นจนเกินไป เหนียว: เนื้อของมะเขือขื่นจะมีความเหนียวกว่ามะเขือชนิดอื่น ทำให้มีสัมผัสที่แตกต่างออกไปค่ะ และเหตุผลที่มะเขือขื่นมีรสขมนั้น เกิดจากสารประกอบทางเคมีบางชนิดที่อยู่ในมะเขือค่ะ ที่โดยทั่วไปสารเหล่านี้จะอยู่ในส่วนที่เป็นเนื้อของมะเขือขื่น และมีปริมาณมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามพันธุ์และสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต ซึ่งสารเหล่านี้มีหน้าที่ช่วยปกป้องพืชจากศัตรูพืชต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์กินพืชที่อาจจะมากินค่ะ แต่หลายคนอาจสงสัยว่ารสชาติที่ขมและเหนียวแบบนี้จะอร่อยได้อย่างไร? แต่ด้วยภูมิปัญญาของคนไทย ทำให้สามารถนำมะเขือขื่นมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู และรสชาติที่ได้ก็อร่อยและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวค่ะ และต่อไปนี้คือวิธีลดความขมของมะเขือขื่นค่ะ แช่น้ำเกลือ: ก่อนนำมะเขือขื่นไปประกอบอาหาร ลองแช่มะเขือขื่นในน้ำเกลือสักพัก เพื่อช่วยดึงรสขมออกไปบ้าง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เราพบว่ามีการนำมะเขือขื่นมาใส่ลงไปในการทำผักดองด้วยค่ะ เพราะการทำผักดองเราก็ใส่เกลือ พอมะเขือขื่นถูกนำไปดอง จึงสามารถทานได้ง่ายขึ้น จากที่มีความขมน้อยลงค่ะ เลือกส่วนที่ไม่ขมมาก: บางส่วนของมะเขือขื่นจะมีรสขมน้อยกว่าส่วนอื่นๆ เช่น ส่วนที่ติดเมล็ด ดังนั้นในสถานการณ์จริงราจะทานมะเขือขื่นด้วยการนำมีดมาหั่นส่วนเปลือกมาทานค่ะ แต่บางคนก็เลือกทานมะเขือแบบนี้ด้วยการแกะส่วนของเมล็ดออกเพื่อลดความขมค่ะ ปรุงรส: การปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ก็ช่วยลดความขมและเพิ่มรสชาติได้ โดยกรณีอาจพบได้ในกรณีที่นำมะเขือขื่นไปหั่นใส่เมนูต่างๆ เช่น แถวอีสานมีการทำยำสาหร่ายน้ำจืดที่มีการหั่นเปลือกมะเขือขื่นใส่ลงไปด้วยค่ะ นำไปต้ม: การนำมะเขือขื่นไปต้มก่อนนำมาทาน ก็จะช่วยลดความขมลงได้บ้าง แบบนี้สามารถพบได้ในกรณีเก็บมะเขือขื่นอ่อนมาลวกจิ้มน้ำพริกค่ะ ปัจจุบันการนำมะเขือขื่นมาทานสำหรับผู้เขียนยังสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ค่ะ ที่ไม่ได้ปลูกเองนะคะ แต่มะเขือขื่นเกิดเองแล้วป้าไม่ถอนทิ้ง จึงพบว่ามีมะเขือขื่นไว้ทานตลอดทั้งปีค่ะ เพราะต้นมะเขือขื่นที่นี่ได้ปุ๋ยและมีการตัดแต่งกิ่งด้วย ลูกแก่สีเหลืองมักเป็นมะเขือขื่นที่ผู้เขียนชอบค่ะ เพราะจะกรอบมากกว่ามะเขือที่ยังอ่อนอยู่ แต่ถ้าช่วงไหนไม่มีมะเขือขื่นที่แก่แต่ยังเขียวอยู่ก็ทานค่ะ ที่มักหั่นเฉพาะเปลือกมาทานกับน้ำพริกต่างๆ และส้มตำค่ะ มะเขือขื่นส่วนเนื้อที่ใกล้กับเมล็ดขมมากค่ะ ขมมากจนทานต่อไม่ได้หากจะทานทั้งลูกนะคะ ดังนั้นถ้ามีมะเขือขื่นให้เลือกทานเพาะส่วนค่ะ อย่างไรก็ตามหากคุณผู้อ่านสนใจทานมะเขือแบบนี้แต่ไม่ได้ปลูก ให้ไปหามะเขือแบนี้ที่ตลาดค่ะ ที่ราคาถูกมาก แต่ต้องไปหาซื้อตามร้านขายผักพื้นบ้านนะคะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://food.trueid.net/detail/2R1Vq3L3L3NP https://food.trueid.net/detail/GXZnEQ21q8dX https://food.trueid.net/detail/J8WX1p2Q6JDY เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !