" ยามเข้าเดือนหก ฝนก็ต๊กพรำ ๆ อึ่งอ่างก็ร้องงึมงำระงมไปทั่วท้องนา " บรรยากาศยามฝนตกมันช่างเย็นสบาย ทำให้นึกถึงสมัยยังเป็นเด็กน้อยชนบทซะเหลือเกิน วันฝนตกแรกของปี แน่นอนว่าอึ่งอ่างน้อย-ใหญ่ วิ่งออกมาเล่นน้ำฝนกันอย่างสนุกสนาน เด็กชนบทอย่างเราก็เช่นกัน ต้องออกไปหาจับปลา จับกบ รวมถึงอึ่งอ่างด้วย จับมาได้เยอะแยะ ก็จะเอามาให้แม่ทำอาหารให้กิน เหลือก็จะแบ่งให้เพื่อนบ้านบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ออกไปหาเพื่อนำอาประกอบอาหารกันทุกบ้านแหละครับ และเมนูที่เป็นที่โปรดปรานชนิดที่ว่า ตะแคงถ้วยซดจนเกลี้ยงก็จะมีแต่ "ต้มอึ่ง" นี่แหละ "ต้มอึ่ง" จัดว่าเป็นกับข้าวอันโอชะของครอบครัวเราชาวอีสานขนานแท้ เพราะด้วยความหอมของเครื่องเทศในน้ำซุปร้อนๆ ประกอบกับความเหนียวนุ่มของตัวอึ่ง รวมไปถึงไข่ของมันที่อร่อยแบบเชลล์ต้องหยุดชิมกันเลยทีเดียว จะว่าไปแล้วคนอีสานบ้านเราก็อยู่ง่าย กินง่าย ของกินเยอะแยะ ไม่ต้องซื้อให้เสียเงินเสียทอง เครื่องปรุงสมุนไพรก็หาได้จากสวนครัวรั้วกินได้ที่บ้าน มีทั้ง ข่า ตะใคร้ หอม กระเทียม ใบมะกรูด พริกสด ใบกระเพรา มะนาว ยิ่งถ้าได้ใบสาบเสือใส่ลงไปด้วยนะ ฮื้อ....หอมขึ้นสันดังเลยครับ (หอมขึ้นสันดังเป็นคำพูดของคนอีสาน ซึ่งหมายถึง หอมขึ้นจมูก) "ต้มอึ่ง" ขั้นตอนการง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก ดังนี้...... 1. นำอึ่งที่หามาได้ ลงไปอาบน้ำร้อนที่เดือด ซัก 3-5 นาที เราจะได้อึ่งไชโย ที่เรียกอึ่งไชโยเพราะว่ามันจะเหยียดแขนเหยีดขาทำท่าเหมือนมันกำลังไชโยโห่ร้องนั่นเอง 2. จากนั้นนำมาชำแหละเอาไส้พุงและแมลงที่มันกินเข้าไป ออกให้หมด ขั้นตอนนี้ต้องระวังกันนิดนึงนะ เพราะถ้าควักไส้ออกไม่ดี ไข่อึ่งจะออกมาด้วย เสียด้วยของแซ่บ! จากนั้นเอาไปล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง แล้วเตรียมลงหม้อสมุนไพรกันเลยจร้าน้องอึ่งจ๋า 3. เตรียมเครื่่องสมุนไพรสำหรับต้ม โดยนำหัวข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกสด มาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นพองาม ส่วนกระเทียมกับหอมแดง ก็ทุบพอแตก 4. ตั้งหม้อบนเตา แล้วเทน้ำลงไปประมาณค่อนหม้อ จากนั้นใส่เครื่องสมุนไพรสำหรับต้มที่เครียมไว้ลงไปเลย ควรใส่ตอนยังไม่น้ำยังไม่เดือด จะทำให้ได้กลิ่นสมุนไพรที่หอมมากเลยทีเดียว 5. ต้มจนน้ำเดือด จากนั้นใส่อึ่งที่เตรียมไว้ลงไปแล้วต้มต่อจนอึ่งสุก ปรุงรสด้วเกลือหรือน้ำปลาเล็กน้อย โรยหน้าด้วยใบกระเพราเพื่อเพิ่มความเผ็ดหอม ยกลงจากเตาตักใส่ถ้วยพร้อมเสิร์ฟ เวลาทาน อาจจะเติมพริกป่นหรือมะนาวลงไปเพิ่มความเผ็ด เปรียวอีกขั้น โอ้ยยยย!!! แซ่บ!!! สะใจ!!! ได้ลองแล้วจะวางช้อนไม่ลงกันเลย อาหารจะอร่อยหรือไม่อร่อยนั้น บางทีมันไม่ได้ขึ้นอยู่เฉพาะรสชาติแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับผู้เขียนแล้ว อาหารเป็นเพียงประเด็นรอง แต่หลัก ๆ คือได้กินอาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว ได้พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน แบ่งปันรอยยิ้มให้แก่กันบนโต๊ะอาหาร เท่านี้ก็เป็นมื้อที่อร่อย และมีความสุขที่สุดแล้วครับ ภาพได้รับการอนุญาตจากเฟสบุ๊ค ลูกอีสาน บ้านนา