การเลือกจานใส่อาหาร แบบไหนเหมาะสม น่าซื้อ | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล หลายคนยังไม่รู้ว่า การเลือกจานที่ถูกสุขลักษณะเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพของทุกคนในครอบครัวอีกวิธีการหนึ่ง เพราะจานชามและภาชนะที่มาสัมผัสกับอาหาร มีส่วนทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อนได้ หากจานชามชิ้นนั้นไม่สะอาด ดังนั้นการเลือกจานมาใส่อาหารจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามหรือรสนิยมนะคะ การเป็นการปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหาร เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากอาหารเป็นสื่อค่ะ ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากส่งต่อข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ถ้าเราจะเลือกจานมาใส่อาหาร แบบไหนเหมาะสม แบบไหนควรซื้อ เพื่อสุขอนามัยของผู้ที่รับประทานอาหารนะคะ ที่รับรองว่าถ้าคุณผู้อ่านได้อ่านจบแล้ว มองเห็นภาพแน่นอนว่าต้องทำยังไง ต่อให้เป็นพ่อบ้านนำไปใช้ก็กลายเป็นพ่อบ้านเกรดเอค่ะ น่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ? งั้นเรามาอ่านต่อกันเลยดีกว่าว่ามีแนวทางที่ต้องนำไปใช้อะไรบ้าง ดังนี้ 1. สีสันและลวดลาย การเลือกจานที่มีสีสันและลวดลายที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับมื้ออาหารแล้ว ยังส่งผลต่อความสะอาดและสุขอนามัยในการรับประทานอาหารอีกด้วยค่ะ โดยมีคำแนะนำในการเลือกดังนี้ค่ะ เลือกสีขาวหรือสีอ่อน ซึ่งเป็นสีที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะเห็นคราบสกปรกได้ชัดเจน ทำให้เราสามารถทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง หลีกเลี่ยงสีสันฉูดฉาด สีที่ฉูดฉาดมากเกินไป เพราะอาจมีสารเคมีตกค้างได้ เลือกลวดลายเรียบๆ จานที่มีพื้นผิวเรียบ ไม่ซับซ้อน สามารถทำความสะอาดง่าย ไม่สะสมคราบสกปรกหรือเศษอาหาร หลีกเลี่ยงลวดลายซับซ้อน เนื่องจากลวดลายที่ซับซ้อนหรือมีร่องลึก อาจทำให้ทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง และเป็นที่สะสมของแบคทีเรียค่ะ 2. ขนาดและรูปทรง การเลือกจานที่มีขนาดและรูปทรงที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้อาหารน่าทานขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อความสะดวกในการใช้งานและการทำความสะอาดอีกด้วยค่ะ โดยเราต้องเลือกรูปทรงที่ทำความสะอาดง่าย เพื่อลดเวลาในการทำความสะอาด และป้องกันการสะสมของคราบสกปรก และยังช่วยรักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหารได้อีกด้วยค่ะ และตัวอย่างของรูปทรงจาน เช่น จานรูปทรงกลม เป็นรูปทรงมาตรฐาน เหมาะสำหรับทุกประเภทของอาหาร ทำความสะอาดง่าย รูปทรงสี่เหลี่ยม เหมาะสำหรับการจัดวางอาหารแบบโมเดิร์น หรืออาหารที่ต้องการความเรียบง่าย รูปทรงวงรี: ช่วยให้อาหารดูน่าสนใจมากขึ้น เหมาะสำหรับการจัดวางอาหารหลายชนิดในจานเดียว รูปทรงพิเศษ: เช่น รูปใบไม้ รูปดอกไม้ เพิ่มความน่าสนใจให้กับโต๊ะอาหารได้ แต่อาจทำความสะอาดยากกว่ารูปทรงอื่นๆ นะคะ 3. ความสะดวกในการทำความสะอาด การเลือกจานที่มีพื้นผิวเรียบและหลีกเลี่ยงลวดลายซับซ้อนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การทำความสะอาดง่ายขึ้น และลดโอกาสที่เชื้อโรคจะสะสมอยู่ตามร่องลึกของลวดลาย เพราะว่าจานที่มีพื้นผิวเรียบจะไม่มีร่องหรือรอยแตกให้เศษอาหารไปซ่อนตัว ทำให้ล้างออกได้ง่ายและสะอาดหมดจด คราบไขมันหรือซอสต่างๆ จะไม่เกาะติดกับพื้นผิวเรียบได้ง่าย ทำให้การขัดล้างทำได้สะดวกและรวดเร็ว เมื่อไม่มีเศษอาหารและคราบสกปรกมาเกาะติด เชื้อโรคก็จะไม่มีแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของอาหารค่ะ ในขณะที่ถ้าเราเลือกจานที่มีลวดลายซับซ้อน ร่องลึกของลวดลายซับซ้อนจะเป็นที่สะสมของเศษอาหารและคราบสกปรก ทำให้การขัดล้างทำได้ยากและต้องใช้เวลามากขึ้น ร่องลึกเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรียและเชื้อรา และจากที่เราไม่สามารถมองเห็นเศษอาหารหรือคราบสกปรกที่ซ่อนอยู่ในร่องลึกได้ ทำให้ไม่มั่นใจว่าได้ทำความสะอาดอย่างทั่วถึงค่ะ 4. เลือกวัสดุที่ปลอดภัย การเลือกวัสดุทำจานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสัมผัสกับอาหารโดยตรง และอาจส่งผลต่อสุขภาพ หากเลือกใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสม เช่น เซรามิก: เป็นวัสดุที่นิยมใช้กันมาก เหมาะสำหรับอาหารทุกประเภท เพราะทนความร้อนได้ดี ไม่ปล่อยสารเคมีออกมา ออกแบบได้หลากหลาย มีทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ แก้ว: เหมาะสำหรับอาหารเย็น เช่น สลัด ขอหวาน เพราะใส สะอาด เห็นอาหารชัดเจน ทนทานต่อรอยขีดข่วน สแตนเลส: ทนทาน ไม่เป็นสนิม แต่ไม่ควรใช้กับอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ล้างทำความสะอาดง่าย เหมาะสำหรับใช้ในครัวอุตสาหกรรม พลาสติก: น้ำหนักเบา ราคาถูก หลากหลายสีสัน แต่พลาสติกบางชนิดอาจปล่อยสารเคมีเมื่อสัมผัสกับความร้อนหรืออาหารที่มีไขมันสูง จึงไม่ควรใช้กับร้อนจัด เหมาะสำหรับอาหารเย็นหรือใช้เป็นจานชั่วคราว 5. พิจารณาความหนา ความหนาของจานเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการใช้งานและอายุการใช้งานของจาน โดยจานหนามักทำจากวัสดุที่มีความหนาแน่นสูง ทำให้แข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก และไม่บิ่นง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน จานหนาสามารถเก็บความร้อนได้ดี ทำให้สามารถเสิร์ฟอาหารร้อนได้นานขึ้น และเวลาถือหรือจับจานหนาจะให้ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย และสำหรับจานบางมีน้ำหนักเบา ทำให้ยกและเคลื่อนย้ายได้สะดวกค่ะ แต่มีข้อเสียคือจานบางจะระบายความร้อนได้เร็ว ทำให้อาหารเย็นลงได้เร็ว และจานบางมีความเปราะบางกว่า ทำให้แตกหักได้ง่ายเมื่อตกหรือถูกกระแทกค่ะ ที่โดยสรุปแล้วการเลือกจานหนาหรือจานบางขึ้นอยู่กับความต้องการและการใช้งานของแต่ละคน คือ ควรเลือกจานหนา หากคุณผู้อ่านต้องการจานที่ทนทาน ใช้งานได้นาน และสามารถเก็บความร้อนได้ดี ควรเลือกจานบาง หากคุณผู้อ่านต้องการจานที่น้ำหนักเบา สวยงาม และราคาประหยัด 6. ตรวจสอบรอยแตกหรือรอยบิ่น การตรวจสอบรอยแตกหรือรอยบิ่นบนจานก่อนใช้งานเป็นขั้นตอนสำคัญที่หลายคนมักมองข้ามไป แต่เป็นการป้องกันที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการรักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหารค่ะ เนื่องจากรอยแตกหรือรอยบิ่นเล็กๆ ที่มองเห็นได้ยาก อาจเป็นที่ซ่อนของเศษอาหารและเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ซึ่งเมื่อสัมผัสกับอาหารก็จะปนเปื้อนและทำให้เกิดโรคอาหารเป็นสื่อได้ อีกทั้งจานที่มีรอยแตกหรือรอยบิ่นมีความเสี่ยงที่จะแตกหักได้ง่ายเมื่อใช้งาน ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน และวิธีการตรวจสอบ มีดังนี้ ส่องดูด้วยแสง: ใช้แสงสว่างส่องไปที่ตัวจานโดยรอบ รวมถึงบริเวณขอบและด้านล่างของจาน เพื่อตรวจหารอยแตกหรือรอยบิ่นที่อาจมองเห็นได้ยาก ใช้ปลายนิ้วลูบ: ลูบไปตามผิวของจานเบาๆ เพื่อตรวจหารอยแตกหรือรอยบิ่นที่อาจรู้สึกได้ ตรวจสอบรอยร้าว: สังเกตดูว่ามีรอยร้าวเล็กๆ บนผิวของจานหรือไม่ เพราะรอยร้าวเหล่านี้อาจขยายใหญ่ขึ้นและกลายเป็นรอยแตกได้ในภายหลัง และทั้งหมดนั้นคือแนวทางในการเลือกใช้จานมาใส่อาหารนะคะ ที่เราควรมีการเปลี่ยนจานเป็นระยะ เพราะจานที่ใช้งานมานานอาจมีรอยขีดข่วนหรือรอยบิ่นได้ ที่ควรเปลี่ยนใหม่ก็เพื่อสุขอนามัยที่ดีค่ะ อีกทั้งควรจัดเก็บจานอย่างระมัดระวัง จากที่วางจานซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนหรือรอยแตกได้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้จานที่ชำรุด หากพบว่าจานมีรอยแตกหรือรอยบิ่น ควรนำไปทิ้งทันทีค่ะ ตลอดจนควรเลือกซื้อจานจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีมาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจในความทนทานนะคะ ปกติผู้เขียนชอบตรวจสอบจานเป็นประจำและเก็บออกไปทำอย่างอื่นค่ะ โดยส่วนตัวจะทิ้งจานด้วยการทุบให้แตกก่อน เพราะเคยเห็นคนเอาจานมาถังขยะไปใช้ ซึ่งเขาอาจจะไม่รู้ ที่นี่ผู้เขียนทิ้งจานที่ไม่ใช้แล้วในหลายลักษณะ เช่น จานแก้วในบางคนที่เขารับซื้อขยะรีไซเคิลสามารถนำไปขายได้ค่ะ สำหรับจานพลาสติกเสื่อมสภาพแล้วมักนำไปไว้ตักปุ๋ยคอก ตักดิน ตักปุ๋ยใส่ต้นไม้ ตักข้าวเปลือกหรือตักอาหารสัตว์ค่ะ เพราะเคยเก็บสะสมเอาไว้ขาย แต่ไม่มีใครซื้อเลย ตอนหลังมาเลยพยายามหาทางเอามาใช้ซ้ำแทน แต่ถ้าเป็นจานเซรามิกที่ไม่ใช้แล้ว ผู้เขียนจะจัดการในสองลักษณะ คือ ทุบให้แตกและทิ้งเป็นขยะทั่วไปแล้วให้ทางเทศบาลนำไปกำจัด กับมักจะทุบให้แตกสะสมไว้เอาไว้ และนำไปทิ้งในที่ที่ต้องการถมด้วยดิน หมายถึงที่สวนหรือไร่นาของตัวเองนะคะ เพราะถึงแม้ว่าจานเซรามิกจะเป็นวัสดุที่ทำจากดินเหนียวและแร่ธาตุอื่นๆ ที่คงรูปอยู่ได้เป็นเวลานานมาก จากที่มีการเผาในอุณหภูมิสูง จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี และสถานการณ์นี้มีผลทำให้จานเกิดโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทานต่อความร้อนและสารเคมี ที่ทำให้จานเซรามิกไม่สามารถย่อยสลายกลายไปเป็นแร่ธาตุในดินตามธรรมชาติได้เหมือนวัสดุอินทรีย์อื่นๆ หากทิ้งไว้ในธรรมชาติก็ตาม แต่เซรามิกจะแตกสลายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้เมื่อเวลาผ่านไปค่ะ และเวลาต้องซื้อจานใส่อาหารผู้เขียนมักเป็นคนแรกๆ ที่ได้จัดการเรื่องนี้ค่ะ ที่ก็ซื้อมาทุกวัสดุค่ะ แต่เรื่องเซรามิกและเมลามีนเป็นหลัก จานแก้ว ถ้วยแก้วก็มีบ้าง แต่ไม่ใช่อย่างหลักมี โดยในตอนหลังมาไม่ได้ซื้อจานพลาสติกค่ะ แต่ถ้ามีบางทีได้จานแถมมาแล้วเป็นพลาสติก จานแบบนี้จะนำมาใส่ขนมที่ไม่ได้ร้อนจัด ผักและผลไม้ค่ะ ยังไงนั้นคุณผู้อ่านลองนำแนวทางในนี้ไปใช้กันค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน https://food.trueid.net/detail/W9yD7OAA5v4e https://food.trueid.net/detail/Nqx2Mb41kxoO https://food.trueid.net/detail/lX5RO3vZ5nw6 หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !