ผักเฮือด(ภาษาเหนือ)หรือ ผักเลียบ(ภาษากลาง,ใต้) เป็นไม้ยืนต้นประเภทมะเดื่อลำต้นสูงประมาณ 5-15เมตร ต้นที่มีอายุมากจะแตกพุ่มใหญ่ มีกิ่งก้านมาก จะแตกใบอ่อนในช่วงฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน (เดือน ก.พ.-มี.ค.) ผลิใบอ่อนสีชมพูหรือชมพูอมเขียว ปลูกให้ร่มเงา ยอดอ่อนนำมาแกงหรือทานเป็นผักสดได้ ชาวบ้านห้าหกคนคุยกันเซ็งแซ่ ต้นเสียงมาจากข้างบ้าน เอ..เค้าทำอะไรกันน้า..มีอะไรกัน ด้วยความสงสัยบวกความใคร่รู้ ผู้เขียนพาร่างอันบอบบางที่หนักราวๆ 80กิโลไปยังกลุ่มคนเหล่านั้น พ่ออุ๊ย(ปู่,ตา)ซึ่งอายุราว 70 สองคนที่อยู่บนยอดไม้สูงกำลังขะมักเขม้นในการใช้มีดฟันกิ่งไม้ลงมา เบื้องล่างมีชาวบ้านทั้งชายและหญิงกำลังสาละวนกับการเด็ดยอดอ่อนของกิ่งไม้ที่ถูกฟันลงมา พลางพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับกิ่งไม้ บ้างคุยเรื่องตัวเอง บ้างคุยเรื่องคนอื่น ตามปกติวิสัยชาวบ้านทั่วไป ผู้เขียนจึงได้ทราบว่า พวกเขามาเก็บยอดอ่อนของ "ผักเฮือด" นั่นเอง มาๆมาช่วยกันเก็บ" แม่ย่า(แม่สามี)ตะโกนบอกผู้เขียนให้เร่งเก็บยอดของกิ่งไม้"มัวแต่ถ่ายรูปอยู่นั่นแหละ"ผู้เขียนรีๆรอๆเนื่องจากเก็บไม่เป็นเลย ไม่รู้จะเริ่มเก็บจากตรงไหน เด็ดยังไง เลยอาศัยดูจากที่เค้าเก็บกัน โดยเด็ดจากยอดอ่อนที่ใบเป็นสีชมพู เขียวอ่อนใบคล้ายใบของมะม่วงหิมพานต์ รสชาติจะออกเปรี้ยวฝาด ตอนเด็ดออกจากกิ่งมีน้ำยางสีขาวออกมาด้วย จริงอยู่ที่ผู้เขียนเป็นชาวเหนือ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์เก็บสดๆจากต้น เคยแต่ซื้อแบบที่เค้าทำเป็นอาหารสำเร็จแล้วเท่านั้น ทางภาคเหนือนิยมนำยอดอ่อนของผักเฮือดมาแกงส้มใส่เนื้อปลาเรียกว่า"แกงผักเฮือด" อีกแบบ นำยอดอ่อนมานึ่งแล้วนำมาผัดกับหมูสามชั้นหรือหมูสับ ผัดกับเครื่องแกงแบบทางเหนือเรียกว่า"ยำผักเฮือด" กินกับข้าวเหนียวอร่อยมาก "กินเป็นไหมล่ะ"ป้าที่มาเก็บยอดผักเฮือด ถามเยาะผู้เขียน คงเห็นว่าเป็นสะใภ้ต่างบ้านที่มาจากในตัวเมือง อาหารพื้นถิ่นจริงๆอาจจะไม่คุ้นลิ้น "เป็นอยู่ค่ะ แต่ทำไม่ค่อยเป็น"ผู้เขียนตอบตามจริง ป้าแกก็ยิ้มๆ ในความเป็นอาหารเหนือนั้น ผู้เขียนว่ามีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน มีหลายขั้นตอน สำหรับเมนู "ผักเฮือด" นั้นก็ไม่ได้ง่าย อย่างวันนี้ถ้าไม่มีหน่วยกล้าตายแบบพ่ออุ๊ยสองคนที่ขึ้นไปตัดกิ่งไม้บนยอดนั้น ก็คงยังไม่มีใครได้กิน วิถีชาวบ้านยังคงอบอวลไปด้วยความอบอุ่น ไม่มีแกร่งแย่ง มีแต่แบ่งปัน วันนี้ทุกคนต่างหอบยอด"ผักเฮือด"ไปกันคนละถุงสองถุงใหญ่ๆ แม่ย่าไม่คิดค่าผัก ยังบอกให้มาเก็บกันเยอะๆ ความมีน้ำใจของแม่ย่า ทำให้หลายๆบ้านมีกับข้าวโดยไม่ต้องซื้อหา เมนูของชาวบ้านคงไม่พ้น"แกงผักเฮือด"กับ"ยำผักเฮือด"เป็นแน่ แม่ย่านำยอดอ่อนผักเฮือดทั้งของที่แม่ย่าเด็ดกับของผู้เขียนมารวมกันได้ตะกร้าใหญ่ๆ แม่ย่าจะเอาไปนึ่งและเอาไปแจกลูกๆหลานๆ แม่ย่าบอกว่าการนึ่งยอดผักเฮือดนั้นเป็นการถนอมอาหาร สามารถเก็บไว้กินได้นาน เพราะสมัยก่อนไม่มีตู้เย็น แม่ย่านำยอดอ่อนมาล้างให้สะอาด แล้วใช้ตอกมัดเป็นกำๆ นำไปเรียงไว้ในซึ้ง นึ่งให้สุก ที่สุกแล้วจะออกสีเหลือง สามารถนำไปทำเมนูอาหารได้เลยแม้ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีและสื่อต่างๆจะพัฒนาไปมากแต่วิถีชาวบ้านที่อยู่รอบนอกยังคงดำเนินไปตามแบบฉบับเดิม ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจยังคงอบอวลอยู่ในยอดผักเฮือดที่แม่ย่าแจกให้กับชาวบ้าน ขอต้อนรับทุกท่านสู่ "เทศกาลผักเฮือด" ค่ะเครดิตภาพถ่ายประกอบเรื่อง : ภาพโดยผู้เขียน หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !