หอยกาบยิ่งตัวใหญ่เนื้อยิ่งเหนียว เคี้ยวแต่ละทีฟันแทบร่วง ใครฟันเริ่มไม่ดีก็ได้แต่นั่งดูเพื่อนกินอย่างเอร็ดอร่อย เพราะถ้าตัวเองกินก็คงไม่แคล้วต้องกลืนอย่างเดียวเพราะหอยเหนียวเคี้ยวไม่เข้า ผู้เขียนเองมีโอกาสได้ไปงมหอยกาบตัวใหญ่ และวาดหวังไว้อย่างยิ่งว่าจะนำมาผัดให้อร่อยสมอยาก หลังล้างทำความสะอาดให้หอยคายดินด้วยกรรมวิธีการเต็มพริกป่นแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการทดลองทำให้หอยหายเหนียวกันแล้ว คัดเลือกแยกประเภทของหอย หอยในครั้งนี้มีทั้งหอยกาบและหอยทราย(หอยกิ๊บกี้ในภาษาอีสาน) สองประเภทนี้จะสุกไม่เท่ากัน ฉะนั้นก่อนจะผัดต้องคัดแยกเสียก่อน จัดการหอยกาบ ต้มน้ำให้เดือดแล้วนำบรรดาหอยกาบตัวใหญ่ ๆ ลงไปสะดุ้งน้ำร้อน ฝาหอยก็จะเริ่มเผยออ้าออก เผยให้เห็นเนื้อหอยอวบ ๆ ด้านใน จากนั้นแคะเอาเนื้อหอยออกมาค่ะ หากหอยตัวใหญ่เกินไปก็หั่นให้พอดีคำแล้วพักไว้ เตรียมวัตถุดิบผัดหอยกันเถอะ น้ำมันพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ เต้าเจี้ยวยี่ห้อ UFC เพราะเม็ดใหญ่ ใส่แล้วรสชาติกลมกล่อม น้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะ ใบโหระพา ใส่หอยทรายลงในกระทะตั้งไฟอ่อน ๆ สักพักน้ำจะออกมาแล้วหอยก็จะอ้าฝาออก เติมน้ำมันพืชคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นเติมเนื้อหอยกาบที่เตรียมไว้ลงไปในหม้อ ใส่เต้าเจี้ยวตามชอบ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเติมน้ำตาล ตบท้ายด้วยใบโหระพาสด ๆ ยกลงจากเตา จากการทดลองลวกหอยกาบก่อนนำไปผัดนั้นปรากฏว่า หอยไม่เหนียวดังที่คาดไว้ แต่ยังคงมีความหนึบหนับ เนื้อไม่นิ่มเท่ากับหอยทราย แต่เมื่อนำมาผัดรวมกันแล้วกลับเกิดเป็นความอร่อยอย่างลงตัว รสชาติของหอยผัดเต้าเจี้ยวจานนี้นั้นมีวัตถุดิบเพียงไม่กี่ชนิด อาศัยความนัวจากเต้าเจี้ยว เต้าเจี้ยวนี้ควรเลือกประเภทที่ยังคงความเป็นเม็ดถั่วเหลือง เพราะนอกจากจะเสริมให้เมนูผัดหอยน่ารับประทานแล้ว รสชาติจะกลมกล่อมกว่าแบบที่เละเป็นเนื้อเดียวกัน เติมน้ำตาลนิดหน่อยเพิ่มความหวานก็ถือว่าใช้ได้ ผู้เขียนไม่การันตีว่าวิธีการลวกหอยก่อนนำไปผัดนั้นเป็นวิธีลดการเหนียวของเนื้อหอยที่ดีที่สุด เพราะบางทีอาจมีกรรมวิธีอื่นที่ดีกว่าและง่ายกว่า แต่วิธีที่ผู้เขียนหยิบยกมานำเสนอนี้เป็นสิ่งที่ทดลองด้วยตนเองในสภาวะที่ปราศจากตัวช่วยอื่น ๆ และผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะสุดท้ายหลายคนที่เคยบอกว่า “หอยเหนียว” กลับเป็นคนที่ยกนิ้วโป้งให้หลังรับประทานอาหารมื้อนี้เสร็จสิ้นแล้ว ภาพโดยผู้เขียน