พืชที่ถือได้ว่าเป็นของดีขึ้นชื่อประจำท้องถิ่นของพังงา นั่นคือ “ลูกชก” หลายคนอาจสงสัยว่าลูกชกคืออะไร รสชาติของมันเป็นอย่างไร คำถามนานาต่างเข้ามาเมื่อได้ยินชื่อของมัน ลูกชกโตขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ มีหลายชื่อด้วยกัน แต่ที่นี่จะเรียกกันว่า “ฉกหรือชก” ต้นชกจะคล้ายต้นปาล์ม มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร ผลเป็นพวงทะลาย และชอบขึ้นตามแนวภูเขาหิน ดังนั้นในการได้มาของลูกชกแต่ละครั้ง ถือว่ายากลำบากพอสมควร นอกจากนั้นลูกชกยังได้รับฉายา “ต้นลูกฆ่าแม่” อีกด้วย เพราะเมื่อต้นมันออกลูกแล้ว จะไม่ออกลูกอีกเลย แล้วค่อย ๆ ตายลงไปในที่สุดนั่นเอง เราได้ติดต่อกับ “น้าปาน” หรือคุณปานจรี ชาวบ้านละแวกนั้นเพื่อขอเข้าชมสถานที่ ท่านพาเราผจญภัยด้วยรถสามล้อ เสียงยางรถครูดกับพื้นลูกรังทำให้พวกเราเริ่มผวาใจและจับลูกกรงรถแน่น นักบิดยกมุมปากขึ้นน้อย ๆ แล้วพาขึ้นลงหลุมเล็กใหญ่ เมื่อลงจากรถ ใจยังไม่ทันหายสั่น เราก็พบกับสิ่งที่สะดุดใจ คือกองมหึมาของลูกชก เมื่อหันไปอีกฝั่ง ก็พบคุณป้าวัยกลางคนนั่งต้มลูกชกอยู่อย่างขมีขมัน เราถามข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณป้า ท่านเล่าได้ใจความว่า ในการเก็บเกี่ยวนั้น เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงมีนาคม ถ้าหากยางลูกชกสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้คัน ดังนั้นชาวบ้านจึงสวมเสื้อผ้ามิดชิดและใส่ถุงมือเวลาทำลูกชก ส่วนขั้นตอนการต้มลูกชก เริ่มจากใช้มีดตัดลูกชกออกจากทะลาย นำไปต้มในน้ำเดือดประมาณหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยางที่เปลือกจับตัวกัน สะดวกแก่การเอาเนื้อในออก โดยใช้กรรไกรผ่าหมากในการผ่า เพราะว่าเปลือกของลูกชกนั้นค่อนข้างแข็ง จากนั้นใช้หางช้อนแควก (ภาษาใต้ของคำว่า แงะ) เอาเมล็ดออกมา โดยภายในแต่ละลูกมี 3 เมล็ด และบนต้น ๆ หนึ่ง มีลูกชกเกือบร้อยกิโลกรัม ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี หลังจากที่พูดคุยกับคุณป้าเสร็จ ท่านก็ได้เด็ดลูกชกขึ้นมาจากทะลาย แล้วสาธิตการแควก (แงะ) ลูกชกออกมาให้เราชิม โดยจุดเด่นของลูกชกเมื่อรับประทาน เนื้อนุ่มกว่าลูกชิด อร่อยเหมือนทานลูกตาลแต่เคี้ยวง่ายกว่าลูกตาลมาก ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนใน โดยผลผลิตที่ได้นั้นนำไปแปรรูปได้หลายประเภท เช่น ลูกชกเชื่อม ลูกชกลอยแก้ว น้ำตาลชก เนื่องจากลูกชกเป็นพืชที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลจึงหาทานได้ยาก แต่ถ้าใครสนใจให้ลองไปที่ร้านสะเต๊ะคุณทิพย์ ร้านสะเต๊ะร้านดังของจังหวัดพังงาที่เปิดกิจการยาวนานถึง 30 ปี โดยขายในราคากระปุกละ 35 บาท ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ลูกชกที่นี่สามารถส่งออกไปขายได้ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด โดยคิดราคากิโลกรัมละ 100 บาทเท่านั้นเอง การก้าวมายังที่นี่ ทำให้พูดได้อย่างเต็มปากว่า “ราคาลูกชกถึงแม้จะเป็นร้อย แต่ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ กลับมาจนประเมินราคาไม่ได้” หากคุณสนใจจะเรียนรู้วิธีการทำลูกชก พร้อมกับชมวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของชาวบ้าน แถมยังมีการพาเที่ยวชมธรรมชาติอันร่มรื่น ลองเดินทางมาที่นี่ บ้านบางเตยใต้ จ.พังงา แล้วคุณจะกลับไปด้วยรอยยิ้มแน่นอน เคล็ด (ไม่) ลับ “ลูกชกลอยแก้ว” เราซื้อลูกชกจากที่นั่นมาทำลูกชกลอยแก้ว แล้วแอบกระซิบถามเคล็ดลับมา ซึ่งวิธีทำช่างง่ายแสนง่าย เพียงแค่ใส่ใบเตยลงในน้ำเชื่อม แล้วนำเนื้อลูกชกลงไปต้ม เวลาจะรับประทานก็ตักน้ำแข็งใส่ลงไปเสียหน่อย รับรองว่าชื่นใจ คลายร้อนได้เป็นอย่างดี แถมยังได้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของใบเตยอีกด้วย