ผักพื้นบ้านสีเหลือง ดอกโสน กินได้ไหม รสชาติยังไง | บทความโดย Pchalisaในบ้านเราผักพื้นบ้านมีหลากหลายชนิด และผักที่มีสีเหลืองอย่างดอกโสน ก็เป็นตัวอย่างของผักที่น่าสนใจค่ะ ที่บางคนก็อาจจะเคยผ่านตามาบ้างตามตลาด แต่ก็ไม่รู้จักชื่อว่าเรียกว่าผักอะไร แต่บางคนโดยเฉพาะคนรุ่นเก่านั้น ต้องบอกว่าทุกคนร้องอ๋อค่ะ ซึ่งสำหรับผู้เขียนนั้นประสบการณ์เรื่องดอกโสนก็พอมีบ้างเหมือนกัน ที่มีตั้งแต่เคยเห็นต้นโสน เคยเห็นดอกโสนบนต้น เคยเห็นดอกโสนในตลาด เก็บดอกโสนก็ทำมาแล้วค่ะ และลวกดอกโสนมาจิ้มกับน้ำพริกก็ทำ แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะเรื่องดอกโสนมีประสบการณ์ยังไงอะไรกันบ้าง?แต่ถ้ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณผู้อ่านในตอนนี้ ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ เพราะในบทความนี้ผู้เขียนต้องการมาลงลึกเรื่องนี้เลยนะคะ ซึ่งจะทำให้คุณผู้อ่านมองเห็นภาพได้แน่นอน เพราะข้อมูลในนี้กลั่นออกมาจากที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มาเอง และนำมาเรียบเรียงให้คุณผู้อ่านได้อ่านเอาความรู้กันค่ะ ส่วนจะมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น งั้นเรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า ดังนี้ดอกโสนเป็นพืชตระกูลถั่วค่ะ ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับพืชตระกูลถั่วชนิดอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียวและแค ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนมีวิธีการสังเกตได้ง่ายๆ ค่ะ คือ พืชตระกูลนี้ลักษณะคล้ายใบมะขาม และดอกโสนมีลักษณะคล้ายดอกถั่วชนิดอื่นๆ ที่มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงซ้อนกันเป็นรูปผีเสื้อ และเมื่อดอกโสนร่วงโรยแล้วจะติดฝักยาวค่ะ ที่มีลักษณะผอมเรียว คล้ายฝักอ่อนในช่วงแรกๆ ของมะรุม และมีเมล็ดเล็กๆ อยู่ภายใน ซึ่งลักษณะนี้ถือเป็นลักษณะเด่นของพืชตระกูลถั่วเขาเลยนะคะนอกจากนี้ดอกโสนที่จัดว่าเป็นพืชตระกูลถั่วนั้น ยังมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจน (Nitrogen fixation) ในอากาศได้ด้วย เพราะมีปมรากที่เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียไรโซเบียม โดยแบคทีเรียชนิดนี้ทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งนี่ก็คือความน่าสนใจของพืชตระกูลถั่วค่ะ โดยสามารถเป็นแหล่งที่ให้ไนโตรเจนกับพืชชนิดอื่นๆ ได้ เราจึงพบว่ามีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้อีก เช่น การทำปุ๋ยหมัก การปลูกเพื่อปรับปรุงดินและเป็นพืชอาหารสัตว์ เป็นต้นจริงๆ ดอกโสนเป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว เพราะเป็นดอกผักที่คุ้นเคยของคนไทยมานาน ที่มักขึ้นได้ดีในที่ชื้นแฉะ เช่น ริมคลอง ริมคันนาหรือที่ลุ่มน้ำ ซึ่งข้อนี้จริงมากค่ะ เพราะผู้เขียนเคยเจอต้นดอกโสนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แถวอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มาแล้ว โดยพื้นที่ตรงนั้นเป็นห้วยตามธรรมชาติ ต้นโสนจะเกิดตามชายน้ำกระจายกันอยู่ และก่อนหน้านี้หลายปีก่อน ผู้เขียนก็ได้เห็นต้นโสนเกิดเองแถวแม่น้ำศรีสงครามค่ะ จำได้ว่าตอนนั้นไปตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียแถวอำเภอนาหว้า อำเภอนาทม และอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม นั่นแสดงว่าโสนสามารถเกิดขึ้นทั่วไปนะคะ เพราะขนาดหลังบ้านของน้าของผู้เขียนที่ตอนนี้ป้าปลูกผักอยู่ ผู้เขียนก็ยังเจอต้นโสนเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติได้เลยค่ะและคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? ดอกโสนมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์มากๆ ที่โดยทั่วไปแล้วดอกโสนจะมีรสชาติจืดที่เป็นรสชาติหลักที่สัมผัสได้ชัดเจนค่ะ แต่มีความมันเล็กน้อยจากเนื้อของดอก และบางคนอาจรู้สึกถึงรสขมเล็กน้อย โดยเฉพาะถ้าเราทานบริเวณก้านของดอกโสนนะคะ และรสชาติของดอกโสนอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุของดอกด้วย ที่ดอกอ่อนจะมีรสชาติหวานกว่าดอกแก่ ดอกตูมจะมีรสชาติหวานกรอบกว่าดอกบาน และการนำไปผัด นึ่งหรือแกง ก็จะให้รสชาติที่แตกต่างกันออกไปสำหรับเมนูอาหารจากดอกโสนที่นิยมนั้นมีหลากหลายนะคะ เช่น แกงดอกโสน ดอกโสนผัดน้ำมันหอย ไข่เจียวใส่ดอกโสน แบบนี้ก็เป็นการเพิ่มสีสันและรสชาติให้กับไข่เจียวของเราได้ค่ะ และดอกโสนลวกจิ้มที่สามารถทานคู่กับน้ำพริกต่างๆ ได้ ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นเมนูประจำตำแหน่งของผู้เขียนค่ะ เพราะส่วนตัวชอบทานผักกับน้ำพริก และง่ายมากๆ ตอนลวกดอกโสน เพราะเพียงแค่ต้มน้ำให้เดือดและโยนดอกโสนที่ล้างสะอาดแล้วลงไป จากนั้นรอไม่นานดอกโสนก็สุกแล้วค่ะ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เขียนยังไม่เคยทำแกงส้มจากดอกโสนและเมนูอื่นๆ จากดอกโสนเลยและหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนหาโอกาสทานดอกโสนก็คือ การที่ดอกโสนเป็นผักพื้นบ้านและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้น ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสบายใจตอนทานค่ะ ทุกครั้งที่ลวกทานก็จะทานหมด และทานได้ง่ายๆ ค่ะ จึงอยากแนะนำให้คุณผู้อ่านลองหาโอกาสนำดอกโสนมาทานเป็นผักกันค่ะ เพราะนี่ก็คือหนึ่งตัวอย่างของอาหารหลักหมู่ที่ 4 อย่างไรก็ดีผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย และถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😀เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียนออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://intrend.trueid.net/post/402691 https://intrend.trueid.net/post/400576 https://intrend.trueid.net/post/399411 หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !