เบื่อไหมครับ ซื้อส้มตำทีไร แถมมาจังเลย ‘กะหล่ำปลี’ แล้วยังมี ‘มะเขือเทศ’ อีก – หากคุณเบื่อ เรื่องราวต่อไปนี้อาจทำให้คุณมีทัศนคติด้านบวกกับ กะหล่ำปลี และมะเขือเทศก็เป็นได้ ส้มตำ ชื่อนี้ผุดขึ้นมาเมื่อไหร่ เป็นได้น้ำลายแตกฟอง แล้วคำว่า เผ็ด ก็จะตามมา ครับ! ส้มตำมักมาคู่กับความเผ็ด เผ็ดขนาดไหน คนที่ชอบก็ก้มหน้าก้มตากินอยู่นั่นแหละ กินไปซี๊ดซ๊าดไป เหงื่อแตกพลั่ก ก็ไม่ยอมหยุด เห็นทีจะมีก็แต่รายที่มีอาการแพ้ฤทธิ์เดชสารแคปไซซิน (Capsaicin) ในพริกอย่างรุนแรงเท่านั้นที่ไม่แตะส้มตำเลย ส่วนตัวผู้เขียนเองชอบส้มตำเข้าขั้น แต่ก่อนมีข้อยกเว้นเรื่องน้ำปลาร้าอยู่บ้าง เพราะกลิ่นไม่โสภา และไม่มั่นใจความสะอาด แต่ปัจจุบันเทรนด์สุขภาพความปลอดภัยมาแรง แม่ค้าส้มตำเกือบทุกร้านเน้นปลาร้าสุก ปลอดภัย ผู้เขียนจึงได้หันมาบริโภคส้มตำปูปลาร้าเผ็ด ๆ อร่อยลิ้นลำบากลำไส้ไปเลย ตั้งแต่พบส้มตำมา มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ความเผ็ดทำร้ายร่างกาย คือ พอตักเข้าปากไปราว 3 – 4 คำ เหงื่อก็แตกพลั่ก รู้สึกหน้าชา คล้ายมีไยแมงมุมเกาะ จนต้องหยุดกิน ลองส่องกระจกดูอาการ แม่เจ้า! เลือดไหลตามรูขุมขนบนใบหน้า ตกใจไม่ใช่น้อย เจอเหตุการณ์นี้เข้าไป ถามว่าเข็ดไหม? กับส้มตำเผ็ด ๆ ตอบทันทีว่า “เข็ด” ไม่เอาอีกแล้ว ไม่เอา ไม่อุดหนุนร้านนี้อีกเลย ไม่รู้ใช้พริกปนเปื้อนหรือเปล่า ส่วนส้มตำน่ะหรือ นัดพบกันเสมอ ตั้งแต่เด็ก ผู้เขียนมีวิธีแก้เผ็ดแสนง่าย ที่ผู้ใหญ่มอบสูตรมาให้ว่า หากเผ็ดให้อ้าปากค้าง ปล่อยน้ำลายไหลหยด 3 แหมะ จะหายเผ็ด เป็นอันว่ากินส้มตำทีไร ปวดกรามทุกที (ก็ต้องมานั่งอ้าปากค้างทุก ๆ 3 คำ) ตอนเด็กผู้ใหญ่ทำแบบหวาน ๆ ให้ด้วยนะ แต่มันไม่คือ มันไม่ใช่ ส้มตำต้องเผ็ดสิ ใครจะไปกินแบบหวาน ๆ พอโตเป็นผู้ใหญ่ ใครจะมากินส้มตำเผ็ด ๆ คำ อ้าปากปล่อยน้ำลายที อายเขาแย่ ก็หันมากินน้ำเย็น น้ำหวาน แต่มันไม่ได้ช่วยเลย ยิ่งเผ็ดเข้าไปใหญ่ กระทั่งมาทราบความจริง 2 อย่างที่มักพบเจอเสมอที่ซื้อส้มตำมานั่นแหละ ช่วยแก้เผ็ดได้ จากที่เขี่ยทิ้งเสมอ ผมจึงสมานฉันท์กับกะหล่ำปลี และมะเขือเทศ...กะหล่ำปลี ไม่ถึงขนาดรังเกียจ แต่แค่รู้สึกว่ากะหล่ำปลีสด ๆ ไม่อร่อยเท่านั้นเอง ส่วนมะเขือเทศ รสมันแปร่ง ๆ ผมจึงไม่ชอบ ไม่แตะเอาซะเลย พอทราบว่า กะหล่ำปลีมีคุณสมบัติแก้เผ็ดร้อน จึงเข้าใจว่า อ้อ! ที่เขานิยมแถมมาเป็นเครื่องเคียงส้มตำ ไม่ใช่เพราะราคาถูก แต่เพราะช่วยแก้เผ็ดได้ดีนั่นเอง ส่วนมะเขือเทศ มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งกำราบฤทธิ์ด่างของแคปไซซินในพริกได้ จึงช่วยแก้เผ็ดได้ดี ผู้อ่านทราบไหมว่า เจ้าแคปไซซิน ทนไม่ใช่หยอก จะโดนความร้อน ความเย็น จะสับ จะทุบ ก็ไม่สะทกสะท้าน เผ็ดอย่างไร ก็เผ็ดอย่างนั้น จะมีก็แต่ความเป็นกรดนี่แหละ ที่พอทำให้อ่อนปวกเปียกได้ เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว มื้อส้มตำของผู้เขียนจึงอร่อยขึ้น มะเขือเทศที่ไม่ถูกชะตาทีแรก พอฝืน ๆ กินเข้าหน่อย กินเข้าบ่อย ๆ ก็กลายเป็นอร่อย ส่วนกะหล่ำปลี รสก็ใช่จะเลวร้าย กินตามคำส้มตำรู้สึก มันใช่ มันดี น่าจะทำมานานแล้ว สองสิ่งที่มากับส้มตำ พอรู้ว่ามีคุณ ก็ทำให้เปิดใจรับได้มากขึ้น แต่มีอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนก็รู้นะว่ามีประโยชน์ แต่อย่างไรซะ ก็ไม่เห็นด้วยอยู่ดี ที่จะซอยแครอทเข้ามาร่วมกับมะละกอในส้มตำ ภาพประกอบโดย ผู้เขียน อ้างอิง krua.co medthai.com