แกงกะทิยอดมะขามอ่อน แบบพื้นบ้าน ตัวช่วยในการป้องกันหวัด ไปตลาดวันนี้เจอยอดมะขามอ่อนกำลังดีจึงซื้อมา 20 บาท จะนำมาแกงกะทิยอดมะขามอ่อนกินให้หายคิดถึงบ้านเกิดสักหน่อย การเข้ามาอยู่ในเมืองเสียหลายสิบปี นาน ๆ ครั้งถึงจะได้กินแกงยอดมะขามอ่อนสักครั้ง ซึ่งนอกจากได้กินเป็นกับข้าวแล้ว ยังทำให้ย้อนความทรงจำในวันวานให้กลับมาเบ่งบานมีความสุขอีกครั้งที่ได้คิดถึง ตามประสาคนที่จากบ้านมาเสียนาน ฉะนั้นมาแกงกะทิยอดมะขามอ่อนแบบพื้นบ้านภาคใต้กันดีกว่า วิธีการแกงแบบไหน ไปดูกันเลยค่ะ ก่อนจะลงมือทำขอเล่าเรื่องยอดมะขามอ่อนที่ภาคใต้ให้ฟังค่ะว่า ในสมัยผู้เขียนเป็นเด็กกว่าจะได้กินจะต้องรอกันเป็นปี มะขามจะออกยอดอ่อน 1 ครั้ง ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าแล้ง ต้นมะขามก็จะทำการผลัดใบเก่าทิ้ง เพื่อช่วยรักษาชีวิตลำต้นแม่ให้รอดจากการขาดน้ำ หลังจากนั้นอีกไม่นานหากมีน้ำฝนโปรยปรายลงมา ต้นมะขามที่เหลือแต่กิ่งก้านสีน้ำตาลทั้งต้น ก็ทยอยผลิยอดอ่อนออกมาทุกกิ่งมียอดอ่อน ๆ เป็นตุ่มเล็ก ๆ เต็มต้น ยอดมะขามที่แรกผลิจะมีสีเหลืองมีกลีบเลี้ยงสีชมพูเต็มต้น ผู้เขียนก็จะขึ้นไปเก็บบนต้นมะขาม โดยนำผ้าขาวม้ามาผูกทำเป็นกระเป๋า ห้อยคอไว้ทั้งสองข้างเมื่อเก็บมะขามได้มาก็ใส่ในกระเป๋าที่ผูกด้วยผ้าขาวม้านั่นเอง การที่จะได้กินแกงกะทิยอดมะขาม หรือมาแกงส้มยอดมะขามนั้น คุณแม่ต้องแจ้งล่วงหน้านะคะ เพราะว่าด้วยความเป็นเด็ก การไปเก็บยอดมะขามก็ต้องไปกับกลุ่มเพื่อนหลาย ๆ คนก็ต้องมีการเล่นไปด้วย บางครั้งเก็บยอดมะขามจนเลยเวลา เพราะมัวแต่เล่นเพลิน จนคุณแม่ต้องไปเรียกให้ลงจากต้นมะขาม เพราะได้เวลาจะแกงกินเป็นมื้อเย็นแล้ว ผู้เขียนจึงยอมลงจากต้นมะขาม หากมะขามไม่ยอมสลัดใบเก่าเพื่อผลิยอดใหม่ ก็มีวิธีตามภูมิปัญญาโบราณโดยใช้ทางมะพร้าว หรือใบตาลสัก 1 ใบมาจุดไฟสุมบริเวณใกล้ ๆ กับ ต้นมะขาม เมื่อมีเปลวไฟขึ้นมากระทบกับใบมะขามที่ไม่ยอมสลัดใบทิ้ง จะทำให้มะขามต้นนั้นมีใบเหี่ยวเฉา และร่วงในที่สุด หลังจากนั้นให้นำน้ำไปรดโคนต้นมะขาม และรอไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็จะมียอดใหม่แตกออกมาให้เก็บกินได้แล้ว วิธีการแกงกะทิยอดมะขามอ่อน 1. นำกะทิตั้งไฟให้เดือด ใส่เครื่องแกงเผ็ดที่ผสมกะปิลงในหม้อแกง 2. นำเนื้อสัตว์ที่จะใช้แกง เช่น ปลาช่อนตากแห้ง ปลาทูนึ่งแกะเอาแต่เนื้อ หรือหมูย่างก็ได้ ใส่ในหม้อแกง 3. ใส่ยอดมะขามอ่อนลงไป เมื่อเดือดสุกทั่วแล้วยกลงจากเตา แกงยอดมะขามอ่อนจะมีรสเปรี้ยวอ่อน ๆ จากยอดมะขาม เมื่อผสมกับความมันของกะทิ และความเค็มของเนื้อปลา จะทำให้มีสามรสที่อร่อยมาก ๆ หากจะเพิ่มให้มื้อนี้อร่อยยิ่งขึ้นก็ไม่ควรขาด อาหารประเภทปลาเค็ม ปลาแดดเดียว หรือหมูแดดเดียวทอดมาเป็นเครื่องเคียง นอกจากแกงกะทิแล้วยอดมะขามอ่อนยังนำมาทำแกงส้ม ต้มกะทิ แกงต้มส้ม ต้มโคล้ง และต้มยำก็ได้ค่ะ เมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ก็มาดูคุณค่าสารอาหารที่มีในยอดมะขามอ่อนกันต่อค่ะว่า ให้ประโยชน์ด้านใดบ้าง ยอดมะขามอ่อน มีสารอาหารดังนี้ วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค สารเบต้าแคโรทีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม และสังกะสี ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันหวัด เจ็บคอ แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงสายตา ฟอกโลหิต ขับเหงื่อและสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยสร้างเม็ดเลือด บำรุงผิวพรรณ ต้านความชรา นอกจากนี้ยังบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงอีกด้วย จะสังเกตได้ว่าการกินอาหารตามแบบภูมิปัญญาโบราณ ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น อาหารที่นำมากินก็ล้วนแต่เป็นทั้งอาหารและยาป้องกัน รักษาได้โรคดีเยี่ยม โดยอาศัยการเฝ้าสังเกตอาการความเจ็บป่วยที่แก้ได้ด้วยวิถีการกินจากรุ่นสู่รุ่น ขอยกตัวอย่างเรื่องยอดมะขามอ่อน ซึ่งจะผลิยอดอ่อนในช่วงหน้าแล้งที่มีอากาศค่อนข้างร้อนจัด อาจจะทำให้สมาชิกในบ้านหลายคนเป็นไข้หวัดจากสภาวะอากาศร้อนเกิน จึงทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรืออ่อนเพลียหลังจากฟื้นไข้ได้ ในสมัยโบราณยังไม่มียารักษาโรคเหมือนทุกวันนี้ จึงเมื่อได้นำยอดมะขามอ่อนมาทำอาหารก็จะได้รับวิตามินต่าง ๆ รวมถึงรสเปรี้ยวในมะขามจะช่วยให้อาการไอลดลง เสมหะละลายหลุดออกมาได้ง่าย จึงเป็นที่มาของอาหารในท้องถิ่น ที่ใช้กินเพื่อให้เข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศในถิ่นนั้น ๆ และใช้เป็นยารักษาโรคไปด้วยในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ใบมะขามที่เป็นใบกลางอ่อนกลางแก่ สามารถนำมาต้มเป็นยาแก้หวัดโดยใช้ต้มผสมน้ำอาบ ทุบใส่หอมแดง ใบมะขามอ่อน ตะไคร้ แล้วใช้อาบให้กับเด็กที่เพิ่งฟื้นจากอาการไข้หวัด รวมถึงผู้ใหญ่ ก็จะช่วยไล่ให้หายจากอาการไข้หวัดได้เร็วขึ้นเช่นกัน การเลือกกินอาหารพื้นบ้านตามแบบโบราณ ถือว่าเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ในการดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูอาหารพื้นบ้านให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก และนำมาทำกินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้อีกด้วย