ดอกกระเจียว ผักพื้นบ้านอีสาน กินได้ไหม รสชาติยังไง | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล หลายคนยังไม่มีโอกาสได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนภาคอีสานของประเทศไทย แต่เคยเคยได้ยินมาว่าในภาคอีสานนั้นมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารการกินที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของผักพื้นบ้านที่กินได้ และผักพื้นบ้านที่ชื่อว่า ดอกกระเจียว หรือที่บางคนเรียกว่า “ดอกดิน” นั้น เป็นผักพื้นบ้านของคนอีสานอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจค่ะ เพราะว่ามีให้เห็นในช่วงหน้าร้อน หลังจากที่มีฝนตกลงมาบ้าง จะทำให้เราพบเห็นดอกกระเจียวผุดขึ้นมาจากดินค่ะ แล้วดอกดินหรือดอกกระเจียวที่ว่านี้หน้าตายังไง กินได้จริงไหม รสชาติแบบสดเป็นยังไง ลวกจิ้มแล้วน่ากินไหม หลายคนอาจจะยังมองภาพไม่ออก จริงไหมคะ? ดังนั้นในบทความนี้เราจะมารู้เกี่ยวกับผักพื้นบ้านชนิดนี้กันแบบเจาะลึกค่ะ เพราะถ้าพูดถึงดอกกระเจียวแล้วนั้น ผู้เขียนรู้จักมาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมค่ะ แถมยังเคยไปเก็บดอกกระเจียวจากป่าด้วยซ้ำไป และถ้าอยากรู้เกี่ยวกับดอกกระเจียวมากขึ้นแล้ว เรามาอ่านต่อไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า กับเนื้อหาที่น่าสนใจต่อไปนี้ค่ะ ดอกกระเจียวคือผักที่ได้มาจากป่าในอดีตค่ะ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เพราะได้เริ่มมีการปลูกดอกกระเจียวตามพื้นที่สวนและไร่นา ซึ่งสามารถเก็บเพื่อนำมาทำอาหารได้ง่ายกว่าการเข้าไปหาในป่า เนื่องจากปัจจุบันป่าก็ไม่ได้ที่จะเข้าไปง่ายๆ แล้ว เพราะไหนจะช้างป่า อีกทั้งคนที่เป็นเซียนป่าหลายคนก็ได้ล้มหายตายจากไปแล้ว แต่ก็จะมีบางคนที่ยังเข้าไปเก็บกระเจียวในป่าบ้าง แต่พบได้น้อยมากแล้วค่ะ ซึ่งดอกกระเจียวคือส่วนที่เราสามารถขุดขึ้นมาจากดิน เพื่อนำไปขายหรือนำไปทำอาหารได้ค่ะ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเดียวที่นำมากินเป็นอาหารจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้เห็นมานะคะ เพราะเคยได้สังเกตมาเหมือนกัน ไม่มีใครกินใบอ่อนหรือต้นอ่อนของกระเจียวเลยค่ะ ดังนั้นพอพูดถึงกระเจียวทุกคนจะอดทนรอคอยให้ถึงฤดูกาลที่ออกดอก จึงจะได้นำดอกกระเจียวมากินเป็นผักค่ะ โดยหลายคนยังไม่รู้ว่า ดอกกระเจียวสามารถเกิดเองตามธรรมชาติได้ และที่เป็นแบบนั้นก็เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ไปเอื้อต่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของกระเจียวค่ะ เพราะกระเจียวเป็นพืชที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน ทำให้สามารถทนทานต่อสภาพแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้งได้ เมื่อมีฝนตก ดินได้รับความชื้น หัวกระเจียวจะแตกหน่อและออกดอก และวงจรชีวิตนี้ทำให้ดอกกระเจียวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่มีฤดูแล้งและฤดูฝนสลับกัน ตลอดจนดอกกระเจียวสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งโดยการใช้เมล็ดและการแตกหน่อจากหัวใต้ดิน การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดทำให้เกิดการกระจายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ และการแตกหน่อจากหัวใต้ดินทำให้เกิดการขยายพันธุ์ไปในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดเป็นทุ่งดอกกระเจียวขนาดใหญ่ได้ในที่สุด ต้นกระเจียวเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีดินร่วนปนทรายและมีการระบายน้ำดี โดยเฉพาะป่าโปร่งและทุ่งหญ้า เพราะเป็นระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของดอกกระเจียวค่ะ ซึ่งตอนที่ผู้เขียนได้เคยไปเก็บดอกกระเจียวมาจากป่านั้น ป่าเป็นแบบทุ่งหญ้าโปร่ง ที่สามารถมองเห็นต้นไม้ใบหญ้าได้ และบริเวณโดยรอบที่มีดอกกระเจียวเกิดก็เดินไปหาดอกกระเจียวได้ง่ายๆ ค่ะ โดยตอนนั้นไม่รู้ว่าป่าแบบนี้มีดอกกระเจียว เพราะไปกับป้า ป้าก็บอกแค่ว่าถ้าเคยไปที่ไหนแล้วมีดอกกระเจียว ให้กลับไปที่เดิม เพราะจะเจอดอกกระเจียวอีกในปีถัดๆ มาค่ะ นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มา ซึ่งในป่าตอนนั้นดูอุดมสมบูรณ์ดีค่ะ และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีดอกกระเจียว เพราะการมีระบบนิเวศที่เหมาะสม จะทำให้ต้นกระเจียวสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่ต้องมีการดูแลจากมนุษย์ค่ะ และหลายคนยังไม่รู้ว่า ตอนไปสับดอกกระเจียวนั้น เราสามารถมองเห็นได้ง่ายๆ ค่ะ เพราะส่วนของต้นกระเจียวจะแห้งตายไปแล้ว ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นส่วนของดอกที่ผุดขึ้นมาดินได้อย่างรวดเร็ว โดยที่เราจะพบว่ามีบางดอกตูม และบางดอกบาน ซึ่งดอกบานสามารถมองเห็นได้ง่ายที่สุดค่ะ ในสถานการณ์จริงนั้นการเก็บกระเจียวสามารถใช้ได้ทั้งเสียม มีดและใช้มือดึงส่วนของดอกจากดินก็ได้ ก็แล้วแต่ว่าใครถนัดแบบไหนนะคะ แต่สำหรับผู้เขียนชอบใช้เสียมไปสับดอกกระเจียวค่ะ ซึ่งการใช้เสียมนี้เป็นวิธีดังเดิมของคนเก็บดอกกระเจียว จนมีคำพูดหนึ่งที่มักพูดกันเสมอๆ ตอนถึงฤดูกาลของดอกกระเจียวก็คือ “ไปสับดอกกระเจียว” ปกติเวลาเราเก็บดอกกระเจียวมาแล้ว ภาพที่เราจะได้เห็นก็คือ มักจะมีดินหรือทรายติดมาด้วยเสมอค่ะ ดังนั้นการล้างดอกกระเจียวให้สะอาดก่อนนำไปทำอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ ก็เพื่อให้เรามั่นใจว่าไม่มีสิ่งสกปรกหลงเหลืออยู่ และวิธีล้างดอกกระเจียวให้สะอาดแบบไม่มีดิน มีขั้นตอนดังนี้ค่ะ ตัดส่วนโคนดอกที่แข็งออกและดอกบานที่สภาพไม่ดีแล้ว เด็ดหรือหั่นดอกกระเจียวเป็นชิ้นพอดีคำตามต้องการ นำดอกกระเจียวที่เตรียมไว้ใส่ในตะกร้าหรือชาม เปิดน้ำไหลผ่านดอกกระเจียวแรงๆ เพื่อชะล้างดินและทรายออก ใช้มือขยี้เบาๆ เพื่อให้ดินที่ติดแน่นหลุดออก ล้างซ้ำหลายๆ ครั้งจนน้ำที่ล้างใสสะอาด การแช่น้ำเกลือ (ถ้าต้องการ) หากต้องการล้างให้สะอาดมากขึ้น สามารถแช่ดอกกระเจียวในน้ำเกลือประมาณ 10-15 นาที หลังจากแช่น้ำเกลือแล้ว ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง นำดอกกระเจียวที่ล้างสะอาดแล้วมาสะเด็ดน้ำให้แห้ง ซึ่งมีเคล็ดลับเพิ่มเติมว่า ควรล้างดอกกระเจียวก่อนนำไปปรุงอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกกระเจียวช้ำ และหากเป็นไปได้เมื่อล้างเสร็จแล้วควรนำไปประกอบอาหารทันที แต่ถ้าต้องการเก็บไว้ในตู้เย็น ควรใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องที่มีฝาปิด และแช่ตู้เย็นในช่องผักค่ะ และเรายังสามารถเก็บดอกกระเจียวเอาไว้ทำอาหารได้นานขึ้นได้ แต่ต้องลวกให้สุกก่อน จากนั้นก็นำไปแช่ในช่องแช่แข็งค่ะ และสำหรับคนที่ไม่มีต้นกระเจียวในสวนและก็ไม่สามารถไปหาเก็บดอกกระเจียวที่เกิดเองตามธรรมชาติได้อีกนั้น ปัจจุบันดอกกระเจียวสามารถหาซื้อได้ที่ตลาดค่ะ โดยเฉพาะตลาดขายของป่า ของฝากพื้นบ้านและผักพื้นบ้าน ซึ่งการเลือกซื้อดอกกระเจียวให้อร่อยและได้คุณภาพ ก็มีเคล็ดลับที่ต้องนำไปใช้ตอนเลือกซื้อด้วยนะคะ โดยเคล็ดลับที่สำคัญๆ มีดังนี้ค่ะ 1. เลือกดอกตูม ดอกตูมจะมีรสชาติหวาน กรอบอร่อยกว่าดอกที่บานแล้ว ดอกตูมจะมีความอ่อนนุ่ม ไม่เหนียว 2. สังเกตสี เลือกดอกที่มีสีสดใส ไม่เหี่ยวหรือช้ำ 3. ดูความสด ดอกกระเจียวสดจะมีเนื้อแน่น ไม่นิ่มเละ ควรเลือกซื้อดอกกระเจียวที่เก็บมาใหม่ๆ 4. แหล่งที่ซื้อ เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสด จากเกษตรกรที่ปลูกกระเจียวโดยตรง หรือคนที่ไปหาดอกกระเจียวป่าโดยตรงก็ได้ค่ะ การซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้จะทำให้ได้ของที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย และได้ดอกกระเจียวในราคาที่สมเหตุสมผล คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า ดอกกระเจียวสามารถนำมาเป็นผักสดได้ โดยที่หลายคนก็ชื่นชอบ รวมทั้งผู้เขียนด้วยค่ะ เพราะดอกกระเจียวสดทำให้ได้รับรสชาติและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของดอกกระเจียวอย่างเต็มที่ค่ะ และยังคงคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติไว้ได้ครบถ้วนมากกว่าการนำไปปรุงสุก และดอกกระเจียวสดมีเนื้อสัมผัสที่กรอบและฉ่ำน้ำ ทำให้มีรสชาติที่อร่อยมากกว่าด้วยค่ะ และรสชาติของดอกกระเจียวสดนั้นมีความหลากหลาย ที่โดยทั่วไปแล้วจะมีลักษณะดังนี้ค่ะ รสเผ็ดร้อน: ดอกกระเจียวอ่อนจะมีรสเผ็ดร้อนเล็กน้อย คล้ายกับขิงหรือข่านะคะ กลิ่นหอม: ดอกกระเจียวมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และถึงแม้ว่าดอกกระเจียวจะสามารถนำมาเป็นผักสดได้ แต่ก็ควรล้างดอกกระเจียวให้สะอาดก่อนเสมอ เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกนะคะ และผู้ที่มีอาการแพ้พืชตระกูลขิงหรือข่า จึงควรระมัดระวังในการกินดอกกระเจียว โดยดอกกระเจียวสดจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสรสชาติและคุณค่าทางอาหารอย่างเต็มที่ตามธรรมชาติค่ะ อย่างไรก็ตามดอกกระเจียวยังสามารถนำมาลวกหรือทำเป็นเมนูอื่นๆ ได้นะคะ และรสชาติของดอกกระเจียวที่สุกแล้วจะแตกต่างจากดอกกระเจียวสดเล็กน้อย ที่โดยทั่วไปแล้วจะมีลักษณะดังนี้ คือ รสเผ็ดร้อนลดลง: การต้มจะช่วยลดความเผ็ดร้อนของดอกกระเจียวลง ทำให้รสชาติอ่อนโยนขึ้น เนื้อสัมผัสนุ่มขึ้น: การต้มจะทำให้เนื้อสัมผัสของดอกกระเจียวนุ่มขึ้น เคี้ยวง่ายขึ้น กลิ่นหอมอ่อนๆ: กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของดอกกระเจียวยังคงอยู่ แต่จะอ่อนลงเล็กน้อยค่ะ ซึ่งเมนูที่ทำจากดอกกระเจียวจะช่วยให้รสชาติโดยรวมของอาหารกลมกล่อมยิ่งขึ้นค่ะ ดอกกระเจียวแกงใส่กะทิ หรือจะเป็นแกงอ่อมผักรวม แบบนี้สามารถทำได้หมดค่ะ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ ดอกกระเจียวก็คือตัวอย่างของผักชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่เป็นผักพื้นบ้าน ที่อาจมีเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันตื่นขึ้นมาก็สามารถเดินไปสับดอกกระเจียวจากในสวนหลังบ้านได้แล้ว เพราะคนได้นำหัวกระเจียวจากป่ามาปลูกในที่ดินของตัวเอง และได้มีการขยายพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่โดยสรุปแล้วดอกกระเจียวกินได้ค่ะ โดยสามารถนำไปลวกจิ้มน้ำพริกได้ นำไปเป็นผักสดก็ได้ หรือนำไปประกอบอาหารอื่นๆ ได้หลากหลายเมนูค่ะ ซึ่งดอกกระเจียวที่นำไปต้มนั้นจะมีรสชาติที่ดีขึ้นถ้าเป็นดอกตูม เพราะดอกตูมนั้นจะมีความหวาน และกรอบอร่อยกว่าดอกที่บานแล้วนะคะ ดังนั้นดอกกระเจียวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มองหาผักพื้นบ้าน ผู้ที่ต้องการกินผักให้หลากหลายมากขึ้นค่ะ ก็ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านสนใจดอกกระเจียวในประเด็นไหน ถ้าสนใจอยากลองนำมาเป็นผัก ต้องไปตลาดและมองหาร้านขายผักพื้นบ้านค่ะ แต่ถ้าสนใจปลูกดอกกระเจียว สามารถหาหัสของกระเจียวมาปลูกได้นะคะ และปัจจุบันก็เริ่มมีคนเพาะต้นกระเจียวขายบ้างแล้ว ก็ลองหามาปลูกกันค่ะ แต่ถ้าสนใจเที่ยวชมทุ่งดอกกระเจียวแล้วล่ะก็ จะเป็นคนละอย่างกันเลยค่ะ เพราะถ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่จังหวัดชัยภูมินั้น จะเป็นดอกกระเจียวคนละแบบกันเลย เพราะจากที่ผู้เขียนได้ไปเที่ยวมาแล้วนั้น ทุ่งดอกกระเจียวที่นั่นจะเป็นชนิดที่มีสีชมพูบานเย็นออกแดง ซึ่งคนแถวนี้ก็นำดอกอ่อนมาเป็นผักบ้าง แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก คือถ้าคุณผู้อ่านเจอดอกกระเจียวแบบนี้ แนะนำว่าให้ลองซื้อมาเป็นผักและเปรียบเทียบกันดูก็ได้ค่ะ เผื่อว่าจะเจอผักชนิดใหม่ที่ชอบเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่างเป็นตัวเลือกให้กับตัวเอง และผู้เขียนหวังว่าเนื้อในบทความนี้จะสามารถเป็นแนวทางให้กับคุณผู้อ่านได้บ้าง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน 8 วิธีเลือกกุยช่าย แบบไหนดี สดใหม่ และน่าซื้อ มะอึก คืออะไร รสชาติแบบไหน ทำอะไรได้บ้าง ผักกาดหิ่น คืออะไร รสชาติแบบไหน ขมไหม เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !