“ลาบปลานิล” เมนูนี้ คือภารกิจที่เราได้รับมาจากแม่ เพื่อทำเป็นอาหารมื้อเย็น เอาจริง ๆ เราก็อิดออดอยู่พักใหญ่ ต่อรองกับแม่ว่า เราไปซื้อเนื้อปลาที่ห้างมาดีไหมแม่?... เพราะการแล่เนื้อปลาเป็นอะไรที่ยากมากสำหรับเรา แต่แม่ตอบกลับมาว่า เนื้อปลาที่ห้างรสมันจืด จะไม่อร่อย เลยขอให้แม่ซื้อมา 2 ตัวละกัน เลาะเนื้อปลาไม่ต้องละเอียดมาก ที่เหลือเอาไปต้มน้ำซุป เลยตกลงกันได้ ขึ้นชื่อว่า “อาหารพื้นเมือง” เครื่องเทศก็ต้องมา แม่สอนและย้ำก่อนเลยว่าให้ตำ "มะแขว่นและเม็ดผักชี" ให้ละเอียดก่อน ไม่งั้นเวลากินจะไม่เนียน เคี้ยวไปเคี้ยวมาโดนเป็นเม็ด ๆ เข้าไป จะเสียอารมณ์เปล่า ๆ ส่วนเครื่องปรุงทั้งหมดจะประกอบไปด้วย 8 รายการพื้นฐานคือ 1.มะแขว่น : ครึ่งช้อนชา (แยกตำก่อนให้ละเอียด) 2.เม็ดผักชี : ครึ่งช้อนชา (แยกตำก่อนให้ละเอียด) 3.กระเทียม : 2 หัว (ขนาดกลาง) 4.หอมแดง : 7 หัว (ขนาดกลางและเล็กปนกัน) 5.พริกแห้งเม็ดใหญ่ : 5 เม็ด (หากชอบเผ็ดเพิ่มตามใจชอบ) 6.ตะไคร้ : 2 หัว (ขนาดกลางหั่นฝอย) 7.ข่า : 5 ชิ้น (หั่นเป็นแว่น) 8.กะปิ : 1 ช้อนชา ส่วนในประป๋องสีขาวคือพริกลาบสำเร็จรูป ที่แม่ซื้อมาติดครัวเอาไว้ ซึ่งจะตำรวมกับเครื่องปรุงอื่น ๆ ด้วย เพื่อเพิ่มความเข้มข้นให้กับน้ำพริกลาบ ซึ่งหากดูในภาพที่ 2 ก็เข้มข้นไม่น้อยเลยเหมือนกันนะนั่น สูตรแม่เราเอง (ผสมผสาน) “ลาบปลานิล” เพราะฉะนั้น “ปลานิล” คือพระเอก และเป็นคู่ปรับตลอดกาลของเราด้วย เพราะการแล่เฉพาะเนื้อออกมาจะค่อนข้างใช้เวลามาก ถึงแม้ปลานิลจะมีก้างใหญ่ แต่เวลาเลาะออกมาแล้ว ก็จะมีก้างขนาดกลางติดมาด้วย เราก็ต้องมาเอาออกอีก สำคัญคือ เคยได้แผลมาแล้ว ก็เลยจะขยาดเล็กน้อย ปลานิล 2 ตัว เราทำการแล่พอประมาณ ไม่ละเอียดมาก ส่วนที่เหลือ ก็จับไปทำซุปซะเลย การต้มต้องใช้ไฟอ่อน เพราะส่วนหัวต้องใช้เวลานานนิดหนึ่ง ไม่งั้นจะไม่สุกและจะคาวได้ ส่วนเครื่องน้ำซุป เราทุบตะไคร้และหั่นข่าใส่เข้าไปด้วย เติมรสชาติด้วยเกลือ แล้วเปิดไฟเรื่อย ๆ มาแล้วจ้า!! เนื้อปลานิล 2 ตัว สำเร็จแล้ว... เยอะพอได้เลยทีเดียว แต่ยังไม่จบแค่นี้ เราต้องสับให้พอละเอียดอีกที การสับเนื้อปลา จะไม่เหมือนกับเนื้อหรือหมูนะ เพราะมันจะเด้งออกจากเขียงเรื่อย ๆ อาจจะเป็นเพราะไม่มีไขมันน้ำหนักเลยเบา เราก็ต้องค่อย ๆ สับไปทีละนิด จนสำเร็จได้ตามภาพที่ 2 (ใช้เวลาสักพักเลยล่ะ) น้ำพริกลาบและเนื้อปลานิลสับพร้อมแล้ว ขั้นตอนต่อไปเราต้องนำน้ำพริกลาบไปผัดกับน้ำมัน โดยไม่ต้องใช้ไฟแรง ผัดแค่ให้พอน้ำพริกลาบหอม จากนั้นก็นำเนื้อปลาสับลงกระทะตามไปได้เลย ผัดไปเรื่อย ๆ พอให้น้ำพริกลาบกับเนื้อปลาเข้ากัน ปรุงรสชาติตามชอบ สักพักก็ปิดไฟได้เลย เราจะได้ลาบปลานิลแบบสุกพอประมาณ ไม่แห้งและไม่มีกลิ่นไหม้ ในส่วนของรสชาติ หากเราตำน้ำพริกได้ลงตัวพอดี บอกเลยว่า แทบจะไม่ต้องปรุงรสใด ๆ อีกเลย ดังนั้นก็ต้องพิสูจน์ฝีมือการตำน้ำพริกกันหน่อยละนะ ได้มาแล้ว อาหารพื้นเมืองของแท้ “ลาบปลานิล” เมนูที่ไม่มีสูตรเด็ดอะไรซ้อนไว้เลย ใช้เพียงสมุนไพรเครื่องเทศพื้น ๆ เท่านั้น สิ่งที่พิเศษของเนื้อปลาก็คือ เวลาที่เจอความร้อน มันจะฟูขึ้นมา จากเนื้อปลานิลดิบกองเล็ก ๆ พอปรุงสุกแล้ว กลายเป็นเนื้อปลา 1 ถ้วยใหญ่กันเลย สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือผักสด และช่วงเวลานี้คือดือนมกราคม จะมียอดสะเดาให้เราได้กินไม่ขาด และผักเขียว ๆ ในกล่องนี้ ก็คือผักจากสวนของเราเอง เวลาแม่ไปสวนมา ก็จะเก็บผัก เก็บสมุนไพรมาไว้ที่ตู้เย็นเสมอ เราก็เลยไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหนให้เปลืองเงิน แถมปลอดสารเคมีอีกต่างหาก ส่วนซุปก้างปลานิล จะลืมได้ไงเนอะ!! ต้มไว้นานสองนาน ก็ได้มาตามภาพนี้เลย เอาไว้ซดกันให้คล่องคอ บางคนอาจชอบกินแบบจืด ๆ คล้ายเป็นน้ำซุป แต่บ้านเราจะบีบน้ำมะนาวใส่พอให้เปรี้ยวเล็ก ๆ พอจัดจ้าน ส่วนหัวปลาและเศษเนื้อต่าง ๆ คือของชอบพ่อเค้าล่ะ ก็ยกให้แกไปละกัน จะเห็นได้ว่าอาหารพื้นเมืองทุกชนิด จะใส่เครื่องเทศซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก ส่วน “ลาบปลานิล” จะมีแบบดิบด้วย ทางเหนือจะเรียกว่า “ลาบเหนียว” เพราะเนื้อปลาจะเหนียวตามชื่อเลย แต่บ้านเราขอกินแบบสุกนิดหนึ่ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี ส่วนวิธีทำไม่มีอะไรในก่อไผ่ เป็นสูตรที่ง่ายมาก หากเพื่อน ๆ สนใจ ก็หาเวลาจัดสักมื้อนะ ไม่แน่อาจเป็นเมนูประจำเดือนเหมือนบ้านเราเลยก็ได้