8 ทริคล้างข้าวเหนียว เตรียมก่อนนำไปแช่และนึ่ง ควรทำแบบไหนดี มาดูกัน! เขียนโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล หลายคนอาจคิดว่าการเตรียมข้าวเหนียวเป็นเรื่องง่ายๆ แค่แช่แล้วก็นึ่ง แต่ความจริงแล้วเบื้องหลังข้าวเหนียวที่นุ่ม หอม อร่อย และไม่บูดง่าย มีเคล็ดลับและเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ซ่อนอยู่มากมายค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนก่อนที่เราจะนำข้าวเหนียวไปแช่และนึ่งนะคะ แล้วทำไมต้องใส่ใจขนาดนั้น? เพราะถ้าเรามองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไป รู้ไหมคะว่า ข้าวเหนียวที่ได้อาจจะแข็งกระด้าง แฉะเกินไป หรือแม้กระทั่งเสียเร็ว ทำให้เราเสียทั้งวัตถุดิบและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งการเรียนรู้ทริคต่างๆ จึงเป็นเหมือนกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับฝีมือการเตรียมข้าวเหนียวของเราให้ดีขึ้นไปอีกขั้นนั่นเองค่ะ แล้วทริคต่างๆ จะช่วยอะไรเราบ้าง? ประการแรกเลยคือเราจะได้ข้าวเหนียวที่อร่อยถูกใจ ไม่ว่าจะทำกินเองที่บ้าน หรือทำไปฝากใคร ก็มั่นใจได้ว่าข้าวเหนียวจะนุ่มละมุนลิ้น น่ารับประทาน ประการที่สองคือ ช่วยลดการสูญเสียทั้งข้าวสารและเวลา เพราะเมื่อเรารู้เทคนิคที่ถูกต้อง โอกาสที่ข้าวเหนียวจะเสียหรือทำออกมาแล้วไม่น่ากินก็จะน้อยลงไปมาก และที่สำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้เคล็ดลับ ยังช่วยให้เราเข้าใจหลักการเบื้องหลังการทำอาหารได้มากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการทำอาหารประเภทอื่นๆ ได้อีกด้วย ถือเป็นการลงทุนลงแรงเพียงเล็กน้อย แต่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า และต่อไปนี้คือทริคที่จำเป็นต้องรู้ค่ะ 1. คัดสิ่งเจือปนออก การที่เราใส่ใจคัดสิ่งเจือปนออกจากข้าวเหนียวก่อนนำไปแช่และนึ่งนั้น อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยที่หลายคนมองข้าม แต่ในความจริงแล้ว นี่คือขั้นตอนสำคัญที่แสดงถึงความใส่ใจในรายละเอียดค่ะ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของข้าวเหนียวที่เราจะได้รับประทาน ลองนึกภาพข้าวเหนียวร้อนๆ ที่มีเศษฟางหรือกรวดปะปนอยู่ คงจะเสียอรรถรสไปไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ? ดังนั้นการใช้เวลาสักนิดในการเลือกสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออกไป ไม่เพียงแต่ช่วยให้ข้าวเหนียวของเราสะอาด คุณภาพดีและไร้กังวลเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สัมผัสของข้าวเหนียวที่นุ่มละมุนลิ้นนั้นบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างสรรค์ข้าวเหนียวที่หอมอร่อยและน่ารับประทานในทุกๆ คำค่ะ 2. ล้างด้วยน้ำสะอาดครั้ง คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า การล้างข้าวเหนียวสามารถช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่ติดมากับเมล็ดข้าวได้อย่างหมดจด ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นผง สิ่งแปลกปลอมเล็กๆ หรือแม้แต่เศษฟางข้าวที่อาจหลงเหลืออยู่จากการเก็บเกี่ยวและกระบวนการผลิต นอกจากนี้ข้าวบางชนิดอาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้าง เช่น ยาฆ่าแมลง หรือสารกันรา ซึ่งแม้จะมีในปริมาณน้อย แต่การสะสมในระยะยาวก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยได้ การล้างด้วยน้ำสะอาด จึงช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการล้างข้าวก่อนนำไปแช่และนึ่ง ยังส่งผลดีต่อรสชาติและเนื้อสัมผัสของข้าวเหนียวได้อีกด้วย เพราะการล้างจะช่วยกำจัดแป้งส่วนเกินที่เคลือบอยู่บนเมล็ดข้าวออกไป เมื่อนำไปแช่และนึ่ง ข้าวจะดูดซึมน้ำได้ดีขึ้น ทำให้ข้าวเหนียวที่ได้มีความนุ่มเหนียว ไม่แฉะติดกันเป็นก้อน และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของข้าวเหนียวอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบข้าวเหนียว ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวมูน ข้าวหลาม หรือข้าวเหนียวทานคู่กับส้มตำไก่ย่าง การเตรียมข้าวเหนียวให้ดีตั้งแต่ต้นจะช่วยยกระดับประสบการณ์การรับประทานให้ดียิ่งขึ้นค่ะ 3. ล้างจำนวนหลายครั้ง หลายคนคิดว่า ล้างแค่รอบสองรอบก็พอแล้ว แต่จริงๆ แล้วการล้างซ้ำๆ หลายครั้งไม่ได้เป็นแค่การทำความสะอาดธรรมดาๆ แต่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ข้าวเหนียวของเราออกมาอร่อยและดีต่อสุขอนามัยค่ะ เพราะการล้างเพียงครั้งสองครั้ง อาจไม่เพียงพอที่จะขจัดสิ่งสกปรกออกไปได้หมด การที่เราค่อยๆ ล้างและเปลี่ยนน้ำไปเรื่อยๆ จนน้ำใส คือการที่เรากำลังชะล้างสิ่งสกปรกและสารปนเปื้อนออกไปจากเมล็ดข้าว จึงทำให้เรามั่นใจได้ว่าข้าวเหนียวที่เราจะกินนั้นสะอาดและเหมาะสมจริงๆ และนอกจากเรื่องสุขอนามัยแล้ว การล้างข้าวเหนียวหลายๆ ครั้ง ยังช่วยกำจัดแป้งส่วนเกินที่เคลือบอยู่บนเมล็ดข้าวออกไปอีกด้วย 4. นวดข้าวเบาๆ (ไม่จำเป็นเสมอไป แต่ช่วยได้) เวลาเตรียมข้าวเหนียวก่อนจะเอาไปแช่และนึ่ง หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมบางสูตรถึงแนะนำให้ นวดข้าวเหนียวเบาๆ ด้วย ทั้งที่ปกติแค่ล้างก็พอแล้ว ขั้นตอนนี้ไม่ได้จำเป็นเสมอไป แต่ถ้าลองทำดู รับรองว่าข้าวเหนียวที่ได้จะดีขึ้นผิดหูผิดตาเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งการนวดข้าวเหนียวเบาๆ หลังจากการล้างน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยยกระดับข้าวเหนียวของเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะการนวดเบาๆ ด้วยปลายนิ้วมือจะช่วยขจัดแป้งส่วนเกิน ที่ยังหลงเหลืออยู่บนผิวเมล็ดข้าวออกไปได้ละเอียดขึ้นกว่าการล้างธรรมดา ให้ลองสังเกตดูว่าตอนนวดเบาๆ น้ำที่ออกมาจะเป็นสีขาวขุ่น ซึ่งนั่นคือแป้งที่เรากำลังชะล้างออกไป การทำแบบนี้จะทำให้เวลาเรานำข้าวไปแช่น้ำ ข้าวจะดูดซึมน้ำได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอมากขึ้นค่ะ และเมื่อนำไปนึ่งข้าวเหนียวที่ได้ก็จะมีความนุ่มเหนียว เมล็ดสวย ไม่เละ ไม่แฉะติดกันเป็นก้อน และยังช่วยให้ข้าวเหนียวมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติโดดเด่นยิ่งขึ้นอีกด้วย 5. ระวังอย่าขยี้แรง การขยี้ข้าวเหนียวแรงเกินไป อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีค่ะ เพราะการที่เราขยี้ข้าวเหนียวอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะตอนล้างหรือตอนนวดเบาๆ ก็ตาม อาจทำให้เมล็ดข้าวแตกหักได้ง่าย เพราะข้าวเหนียวเป็นเมล็ดข้าวที่ค่อนข้างเปราะบาง เมื่อเมล็ดข้าวแตก เวลาเรานำไปแช่น้ำหรือนึ่ง ข้าวที่ได้ก็จะออกมาไม่สวยงาม เม็ดไม่เต็ม ที่อาจทำให้ข้าวแฉะง่าย หรือจับตัวเป็นก้อนไม่น่ากิน ที่สำคัญคือยังส่งผลต่อรสสัมผัสของข้าวเหนียวด้วยนะคะ เนื่องจากข้าวที่เมล็ดแตกเยอะๆ จะไม่ค่อยนุ่มเหนียวเท่าที่ควร และยังทำให้แป้งในข้าวออกมามากเกินไป จึงทำให้ข้าวที่นึ่งแล้วเหนียวติดกันจนเกินไป ซึ่งต่างจากความนุ่มหนึบที่หลายคนชื่นชอบ ดังนั้นการล้างและนวดข้าวเหนียวอย่างเบามือ จะช่วยให้ข้าวเหนียวของเราออกมาน่ากิน นุ่มสวย และอร่อยถูกใจทุกครั้งค่ะ 6. แช่น้ำในปริมาณที่เหมาะสม หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าการแช่ข้าวเหนียวก่อนนึ่งนั้นสำคัญ แต่เคยสงสัยไหมว่า ควรใส่น้ำแช่ข้าวเหนียวเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม? บางคนอาจจะใส่ท่วมๆ ไปเลย หรือบางทีก็กะไม่ถูก ซึ่งจริงๆ แล้วปริมาณน้ำที่ใช้แช่ข้าวเหนียวมีผลโดยตรงกับคุณภาพของข้าวเหนียวที่เราจะได้กินเลยค่ะ เพราะว่าน้ำน้อยไปก็ไม่ดี และน้ำมากไปก็ไม่เหมาะ แต่การใส่น้ำแช่ข้าวเหนียวในปริมาณที่พอดี คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ข้าวเหนียวของเราออกมานุ่มเหนียวสวยงาม เนื่องจากถ้าใส่น้ำน้อยเกินไป ข้าวเหนียวก็จะดูดซึมน้ำไม่เพียงพอ ที่อาจทำให้เม็ดข้าวแข็งกระด้าง ไม่นุ่มเหนียวเท่าที่ควร แต่ถ้าใส่น้ำมากเกินไป แม้ข้าวจะดูดน้ำได้เต็มที่ แต่ก็อาจทำให้แป้งละลายออกมามากเกินไป และทำให้ข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วแฉะติดกันเป็นก้อน ไม่น่ารับประทาน ที่สำคัญคือการแช่น้ำในปริมาณที่เหมาะสมยังช่วยให้ข้าวเหนียวพองตัวได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลให้เมื่อนำไปนึ่ง ข้าวเหนียวทุกเม็ดก็จะสุกเท่ากัน มีความนุ่มกำลังดี ไม่เละหรือไม่แข็งเป็นไต ดังนั้นการกะปริมาณน้ำให้พอเหมาะจึงต้องให้ความสำคัญค่ะ ที่โดยปกติแล้วคือท่วมข้าวประมาณ 1-2 ข้อนิ้ว หรือประมาณ 2-3 เซนติเมตร เหนือระดับข้าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของข้าวเหนียวและความชอบส่วนบุคคลค่ะ 7. เปลี่ยนน้ำแช่ก่อนนึ่ง (ถ้าแช่นาน) หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเวลาจะนึ่งข้าวเหนียว ถึงต้องเปลี่ยนน้ำที่แช่ข้าวเหนียวทิ้งก่อนนำไปนึ่ง โดยเฉพาะถ้าแช่ไว้นานๆ ความจริงแล้วนี่คือเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้ข้าวเหนียวของเรานุ่ม หอม และไม่บูดง่ายค่ะ เพราะการแช่ข้าวเหนียวทิ้งไว้นานๆ โดยไม่เปลี่ยนน้ำเลย จะทำให้เกิดการสะสมของจุลินทรีย์ที่อยู่ในข้าวสารและน้ำ ซึ่งสามารถส่งผลให้ข้าวเหนียวมีกลิ่นเปรี้ยวหรือเสียเร็วขึ้นเมื่อนึ่งสุกแล้ว นอกจากนี้การเปลี่ยนน้ำยังช่วยล้างเมือกแป้งส่วนเกินที่ออกมาจากการแช่ออกไป จึงทำให้ข้าวเหนียวที่นึ่งออกมาไม่แฉะและร่วนซุยกำลังดี ดังนั้นถ้าอยากได้ข้าวเหนียวอร่อยๆ ลองนำทริคนี้ไปใช้ดูนะคะ รับรองไม่ผิดหวังค่ะ 8. สะเด็ดน้ำให้ดี หลายคนอาจคิดว่าแค่แช่ข้าวเหนียวเสร็จแล้วก็หยิบไปนึ่งได้เลย แต่จริงๆ แล้วมีอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่หลายคนมองข้าม นั่นคือการสะเด็ดน้ำข้าวเหนียวให้ดีก่อนนำไปนึ่ง ทำไมถึงสำคัญขนาดนั้น? ลองนึกภาพดูสิคะว่า ถ้าข้าวเหนียวของเรายังมีน้ำขังอยู่เยอะๆ พอเอาไปนึ่งไอน้ำจะทำให้ข้าวสุกเร็วเกินไปบางส่วน หรือที่เรียกว่า "สุกๆ ดิบๆ" แถมยังอาจจะทำให้ข้าวเหนียวแฉะเละ ไม่ร่วนสวยอย่างที่ตั้งใจไว้ การสะเด็ดน้ำให้ดีจะช่วยให้ไอน้ำเข้าถึงเมล็ดข้าวได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ทำให้ข้าวเหนียวสุกกำลังดี นุ่ม ไม่เละ และขึ้นหม้อสวยงามน่ารับประทาน ยังไงนั้นลองเอาเทคนิคนี้ไปใช้ดูนะคะ รับรองว่าข้าวเหนียวของคุณผู้อ่านจะอร่อยขึ้นอีกเยอะเลย! ก็จบแล้วค่ะ กับทริคที่สำคัญๆ ตอนเตรียมข้าวเหนียวแช่น้ำนะคะ จะเห็นได้ว่าแต่ละขั้นตอนล้วนมีเหตุผลและส่งผลต่อความอร่อยของข้าวเหนียวทั้งสิ้น แต่ในชีวิตจริงที่เร่งรีบ เราอาจจะไม่มีเวลามาทำละเอียดทุกขั้นตอนขนาดนั้น แล้วแบบนี้จำเป็นไหมที่เราต้องทำทุกอย่างเป๊ะๆ? คำตอบคือไม่จำเป็นต้องเป๊ะทุกขั้นตอนค่ะ หากเราต้องการความง่ายและรวดเร็ว แต่ยังคงได้ข้าวเหนียวที่อร่อยพอใช้ได้ การปรับใช้บางทริคก็เพียงพอแล้วค่ะ หากและอยากเริ่มต้นประยุกต์ใช้ทริคต่างๆ ให้ง่ายและเร็ว ผู้เขียนแนะนำให้เน้นที่สองจุดสำคัญๆ นั่นคือการแช่ข้าวเหนียวในน้ำที่พอดี ที่ไม่น้อยไปและไม่มากไปค่ะ และแนะนำให้ความสำคัญกับการสะเด็ดน้ำให้ดีก่อนนึ่ง เพราะนี่คือพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ข้าวเหนียวไม่แข็ง ไม่แฉะ และสุกได้ทั่วถึง ส่วนเรื่องการเปลี่ยนน้ำแช่ หากเราแช่ไม่นานมาก ก็อาจจะไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ หรือถ้าแช่นานจริงๆ ก็แค่เปลี่ยนน้ำรอบเดียวก็พอแล้วค่ะ ซึ่งการเริ่มจากสองจุดนี้จะช่วยให้เราได้ข้าวเหนียวที่อร่อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้วนะคะ โดยไม่ต้องเสียเวลามากเกินไป แล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มทริคอื่นๆ ในอนาคตเมื่อมีเวลาและความชำนาญมากขึ้นค่ะ เพียงเท่านี้การทำข้าวเหนียวก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายและสนุกขึ้นเยอะแล้วนะคะ เพราะผู้เขียนก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน จริงๆ ต้องบอกว่าไม่ได้เป็นคนติดข้าวเหนียวงอมแงมค่ะ แต่พื้นฐานครอบครัวเราปลูกข้าวเหนียวและรับประทานข้าวเหนียว และตั้งแต่จำความได้ก็ถูกสอนให้มีความสามารถในการเตรียมข้าวเหนียวก่อนนำไปนึ่งแล้ว ที่ในตอนหลังมาพอได้มาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ก็เป็นคนที่สามารถเตรียมข้าวเหนียวก่อนนำไปแช่และนึ่ง แบบมืออาชีพมากขึ้นนะคะ โดยผู้เขียนเน้นไปที่สองจุดตามที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งการทำให้สะเด็ดน้ำในสถานการณ์จริงๆ นั้น ง่ายมากๆ นะคะ เราก็แค่ซาวข้าวใส่หวดและตั้งทิ้งไว้ และรอให้น้ำไหลออกจนหมดเท่านั้นเองค่ะ โดยผู้เขียนให้ความสำคัญกับตอนล้างเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง ที่เน้นย้ำเลยว่าต้องล้างจนมองเห็นน้ำล้างใสขึ้น ยังไงนั้นก็อย่าลืมนำทริคต่างๆ ไปใช้กันค่ะทุกคน และขอให้สนุกกับการเตรียมข้าวเหนียวก่อนนำไปแช่และนึ่งนะคะ ด้วยความตั้งใจ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากสนใจเนื้อหาเช่นนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้ เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ ในบทความต่อไป และถ้าต้องการอ่านบทความทั้งหมดโดยผู้เขียน ให้กดดูโปรไฟล์ได้เลยค่ะ #วิธีล้างข้าวสาร #ความสะอาดในอาหาร #ลดขยะอาหาร #FoodSanitation เครดิตรูปภาพประกอบบทความ รูปภาพทำหน้าปกและออกแบบหน้าปกโดยผู้เขียน ใน Canva รูปภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล 9 ทริคเลือกข้าวเหนียวเขี้ยวงู แบบไหนดี หอมนุ่ม นิ่มและอร่อย เลือกถ่านหุงต้ม แบบไหนดี ติดไฟนาน ไม่แตกเป็นสะเก็ด 11 อาหารกินกับข้าวเหนียว เคี้ยวเพลินอร่อย สะดวกกินในรถ หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !