“คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” แม้ส่วนตัวผมจะไม่ชอบภาษิตนี้ของชาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส สักเท่าไหร่ แต่ก็ต้องยอมรับ เพราะสื่อถึงความต้องการ และความอร่อยของปลากุเลาเค็ม ได้เป็นอย่างดี ราคาปลากุเลาเค็ม ตกประมาณ กิโลกรัมละ 1,500 บาท แม้ราคาสูงลิ่วขนาดนี้ แต่ผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาดเลยสักครั้ง จึงเป็นที่มาของคำเปรียบเทียบที่ว่า “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” เนื่องจากคนที่ซื้อ ซื้อเพื่อเป็นของขวัญสุดพรีเมี่ยม มอบแด่เจ้านาย ผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่ต้องการเอาใจ จึงกลายเป็นว่า คนที่ได้กินจริงๆ แทบไม่ต้องออกเงินซื้อ ส่วนคนที่ซื้อก็ไม่ได้กิน เพราะซื้อเป็นของกำนัลซะส่วนใหญ่ นอกจากแพงแล้ว การจะได้ปลากุเลาเค็มมาครอบครอง ต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือนๆ เลยทีเดียว นี่จึงเป็นที่มาของฉายา “ราชาปลาเค็ม” ปลากุเลาที่ตกได้จากแม่น้ำบางนรา ภาพโดย เฟซบุ๊คแฟนเพจ หัวใจเดียวกัน สานสายใยวัฒนธรรม ปลากุเลาเค็ม ถือเป็น อาหารสุดพรีเมี่ยมของ อ.ตากใบ แม้ปัจจุบันพื้นที่อื่นๆ ทั้งตัวจังหวัดนราธิวาสเอง หรือข้ามจังหวัดไปยังปัตตานีอย่างชุมชนตันหยงเปา จะผลิตปลากุเลาเค็มเป็นล่ำเป็นสันแล้วก็ตาม กระนั้นปลากุเลาเค็มที่ผลิตจาก อ.ตากใบ ก็ยังเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการสูงสุดอยู่ดี วลี “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” ทำไมผมถึงบอกว่าไม่ค่อยชอบนัก เพราะให้ความรู้สึกถึงการเอาหน้าเอาตา หนักไปทางประจบประแจงนั่นเอง วางความรู้สึกส่วนตัวลงไว้แค่นี้ มาดูกันดีกว่าว่า เหตุใดปลากุเลา อ.ตากใบ ถึงได้ครองใจผู้บริโภคนัก ปัจจัยความอร่อยของกุเลาเค็มตากใบ มี 2 ส่วนหลักๆ คือ ปลากุเลา แบบยังไม่ทำเค็ม นำมาทอดเกลือ ภาพโดยผู้เขียน 1. ธรรมชาติ ปลากุเลาแถบ อ.ตากใบ เป็นปลา 3 น้ำ ชื่อนี้ไม่ได้หมายถึงการว่ายวอยู่ในสามน้ำแต่อย่างใด สาเหตุเพราะทะเลชายฝั่ง อ.ตากใบ มีจุดรวมของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำสุไหงเกนติ้ง ประเทศมาเลเซีย, แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส การไหลมารวมกันอย่างนี้ทำให้ตะกอนดินมีมาก และอุดมด้วยสารอาหาร ปลากุเลาเป็นปลาหากินตามหน้าดิน จึงได้รับสารอาหารแบบแน่นๆ และหลากหลาย 2. ภูมิปัญญา กว่าปลากุเลาเค็มตากใบจะกลายเป็นสุดยอดปลาเค็ม ก็ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกสะสมประสบการณ์มาเรื่อย สูตรหมักปลาเค็มเป็นความลับของใครของมัน แต่หลักๆ อยู่ที่ เลือกปลากุเลาสด จับมาได้ก็จัดการขอดเกล็ด ควักไส้ออกโดยเร็ว แล้วหมักด้วยเกลือหวานปัตตานี จากนั้นตากแดดด้วยวิธีการห้อยหัว เทคนิคห้อยหัวก็เพื่อเวลาโดนความร้อนจากแดดแล้วน้ำมันปลาจะได้เยิ้มไหลโลมทั่วปลา ทำให้สีปลาเค็มสวยงาม เคล็ดลับสุดท้าย คือ ช่วงระหว่างตาก ต้องนวดปลา เพื่อให้เนื้อร่วน นุ่ม สูตรใครก็สูตรมันอีก ปลากุเลาเค็มทอด กินพร้อมข้าวต้มร้อนๆ ภาพโดยผู้เขียน ผู้เขียนเองมีโอกาสลิ้มรสปลากุเลาทั้งแบบสด และแบบเค็ม ไม่ว่าจะสดหรือเค็ม เมื่อทอดแล้วกลิ่นจะโชยหอมข้ามครัวไปยวลจมูกเพื่อนบ้านอีกสามหลังสี่หลังเลยทีเดียว แต่กุเลาแบบเค็มกลิ่นจะยั่วน้ำลายมากกว่า แค่ได้กลิ่นก็ท้องร้องโครกครากแล้วล่ะครับ ภาพข้าวเปล่าร้อนๆ พร้อมปลากุเลาทอดลอยมาตรงหน้าเลยทีเดียว อย่างนี้เรียก อร่อยยันกลิ่น ก็ไม่น่าเกลียดแล้ว กุเลาสดเนื้อหวาน ก้างน้อย กินกับข้าวสวยร้อนๆ ก็อยู่หมัดแล้ว ยิ่งทอดได้ที่กินได้ทั้งตัวยันหัวเลยครับ (เว้นก้างใหญ่ไว้ก็ดี) กุเลาเค็ม เนื้อนุ่ม เค็มน้อยไม่กระโดด กลิ่นหอมโชยเข้าจมูกทุกครั้งที่ตักเข้าปาก ทำเป็นเล่นไป แค่เขียนเล่าประสบการณ์การกินปลากุเลาเท่านั้นนะ ท้องผู้เขียนเริ่มงอแงแล้ว ปลากุเลาไม่มีติดตู้กับข้าวซะด้วยสิ ต้องส่งข้อความหาเพื่อนๆ แล้วว่าบ้านใครมีติดครัวบ้าง จะได้ทำทีเป็นไปคุยธุระ ก็ปลากุเลาเค็ม ราชาแห่งปลาเค็ม “คนกินไม่ต้องซื้อ” นี่ครับ สำหรับคนบารมีน้อยๆ อย่างผู้เขียนก็ต้องขอเขาล่ะ ปลากุเลาตากในมุ้ง ป้องกันแมลงวัน ภาพโดย เฟซบุ๊คแฟนเพจ หัวใจเดียวกัน สานสายใยวัฒนธรรม