ต้นสมุย มีหลายชื่อ เรียกขานกันตามภูมิภาคต่าง ๆ แต่คนใต้นิยมเรียกว่า ยอดหมุย เป็นผักเหนาะ ที่ขึ้นในป่า ยอดหมุย มีหลายสารสายพันธ์ แต่ที่บ้านเรานิยมกินยอดหมุยป่า จะขึ้นตามป่าโปร่งทั่ว ๆ ไป มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง แตกก้านใบถึงกิ่ง เป็นใบคู่ขนานไปจนตลอดก้าน มีดอกเล็กออกเป็นช่อ สีขาว ปกติจะออกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ( ที่ออกยอดสวย ๆ ให้เก็บกิน ) แต่เดือนอื่น ๆ ก็มีให้กินนะคะ แต่ยอดอาจจะไม่สวยเท่าไหร่ ฟันทิ้งก็ไม่ตาย แตกยอดให้กินได้เรื่อย ๆ โดยส่วนมากจะขึ้นเองตามร่องยางหรือสวนยางเก่า ๆ มีเยอะเลยค่ะ( ยิ่งสวนป่ายางบ้านเรามีให้เห็นเรื่อย ๆ เลย ) เก็บกินได้ตลอดทั้งปี ต้นหมุยที่สวนยางหลังบ้าน ยอดหมุยเป็นผักบ้าน ๆ ไม่ต้องซื้อ แค่เดินไปป่ายางหลังบ้านก็ได้กินผักเหนาะปลอดสารพิษแล้ว สำหรับยอดหมุย ที่ว่า เราจะกินกันที่ส่วนยอดและดอก มีกลิ่นฉุนหน่อย ขมนิด ๆ เป็นกลิ่นเฉพาะตัว เป็นผักที่คนใต้นิยมกินกัน ยิ่งได้กินกับ ขนมจีน แกงพุงปลา แกงน้ำเคย เข้ากันมาก หรอยอย่างแรง ส่วนดอกจิ้มน้ำพริกได้อร่อยไม่แพ้กัน ทำให้เจริญอาหารได้เลยค่ะ ผักเหนาะ กินคู่กับขนมจีนหรอยอย่างแรง แต่บางคนอาจจะไม่ชอบกินนะคะ แต่ถ้าได้รู้ถึงสรรพคุณของ ยอดหมุย แล้ว อาจจะเปลี่ยนใจกันได้นะคะ ยอดหมุย เป็นยาทาง สมุนไพร สรรพคุณของ ยอดหมุย ก็เยอะแยะมากมาย ไม่เฉพาะแต่ยอดกับดอกนะคะที่กินได้ ในส่วนของราก ต้มดื่มแก้ไข้ ปวดศีรษะ แก้พิษสำแดง ( ตำราโบราณของคนแก่ ๆ แถวนี้ ) รากหมุย ผสมกับยาหยอดตา แก้ตามืด ตามัว ตาฝ้าฟาง ( แต่เราไม่เคยลองนะคะ ) อีกอย่างก็คือ รากหมุย ฝนกับน้ำดื่ม ทาแก้พิษงูได้ ส่วนยอดและดอก แก้โรคเบาหวาน ความดัน เอารากและใบ ต้มรวมกัน แก้หืด หอบ ลมเสียดท้อง ยอดหมุย อ่อน ๆ น่าเด็ดกิน พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่นต่างล้วนมีความโดดเด่นในตัวของมันเอง และเป็นค่านิยมของคนแต่ละภาคแต่ละถิ่น มีเอกลักษณ์ให้คนแต่ละพื้นพี่ได้รังสรรค์ของพื้นบ้านให้มีคุณค่าตลอดไป ภาพถ่ายโดย ผู้เขียน