ก่อนอื่นก็ต้องขอโทษกับท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยนะครับที่ตั้งชื่อหัวข้อดูน่ากลัวไปหน่อย แต่ก็อยากจะนำมาบอกเล่าให้ทุกท่านได้ทราบกันจริง ๆ ว่างานศพของคนล้านนาหรือคนภาคเหนือนั้น ถ้าเป็นงานศพที่จัดขึ้นตามหมู่บ้านชนบทรอบนอกหรือต่างอำเภอนั้นชาวบ้านจะนิยมจัดงานศพในบ้านของตนเอง ไม่เหมือนกับชุมชนในเมืองที่จะต้องไปเช่าศาลาวัดเพื่อจัดงานศพเนื่องจากสถานที่ที่บ้านนั้นไม่เอื้ออำนวยและคนที่จะมาช่วยจัดงานศพนั้นก็มีไม่มาก เมื่อมีงานศพเกิดขึ้นในหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านก็จะมาช่วยกันจัดงานที่บ้านของผู้ตาย และก็จะมีการตั้งโรงครัวสำหรับทำอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานโดยใช้สถานที่ของบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นที่ตั้ง และโรงครัวนี้เองก็จะเป็นสถานที่ชุมนุมเหล่าบรรดาจอมยุทธพ่อครัวแม่ครัวฝีมือดีประจำหมู่บ้านมาช่วยกันทำอาหาร โดยจะมีการทำอาหารที่จะต้องใช้หม้อกระทะใบใหญ่เลี้ยงผู้มาร่วมงานตลอดทั้ง 3 มื้อ คือ เช้า กลางวัน และเย็น บางงานก็อาจจะมีมื้อดึกเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ความมหัศจรรย์ของพ่อครัวแม่ครัวเหล่านี้ก็คือ พวกเขาไม่ได้ทำอาหารขายเป็นอาชีพ ไม่ได้รับจัดงานเลี้ยงอาหารบ่อยครั้ง แต่เมื่อมีงานศพเมื่อไรพวกเขาสามารถปรุงอาหารหม้อใหญ่เลี้ยงคนในงานโดยที่รสชาตินั้นกลับอร่อยกลมกล่อม การหุงข้าวทั้งข้าวเหนียวหรือข้าวสวยก็ไม่เคยแฉะหรือแข็งจนเกินไป แถมยังคาดคะเนปริมาณอาหารได้เพียงพอกับผู้มาร่วมงานได้อย่างแม่นยำอีกด้วย เรียกว่าเรื่องอาหารการกินเจ้าภาพไม่ต้องหนักใจ พ่อครัวแม่ครัวเหล่านี้สามารถจัดให้ได้ตามงบประมาณและความต้องการของเจ้าภาพว่าจะเอาเมนูอะไรบ้าง พวกเขาจะจัดการให้ตั้งแต่ไปจ่ายตลาด ปรุงอาหาร ล้างหม้อล้างถ้วยชามช้อนเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เสร็จสรรพ ในงานศพแต่ละงานนั้นก็จะมีเมนูอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมงานที่หลากหลายทั้งอาหารไทยและอาหารพื้นเมือง ดังเช่นงานศพงานหนึ่งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา(ต้องขออนุญาตสงวนชื่อเจ้าภาพและสถานที่) ซึ่งเป็นเวลาที่ไปร่วมในช่วงเย็น เจ้าภาพจึงได้จัดเลี้ยงอาหารอยู่ 3 เมนูดังนี้ 1. แกงเห็ดถอบกระป๋อง เมนูนี้ถือเป็นเมนูยอดฮิตของงานศพชาวเหนือเมนูหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วเห็ดถอบหรือเห็ดเผาะนั้นจะมีให้ทานเพียงปีละหนึ่งครั้ง แต่เจ้าภาพก็มักจะไปซื้อเห็ดถอบต้มอัดปีบหรือกระป๋องมาทำแกงเลี้ยงผู้มาร่วมงาน ซึ่งรสชาติก็อร่อยไม่แพ้เห็ดถอบสด ๆ เลยทีเดียว 2. อ็อกปลาน้อย ผู้เขียนก็ไม่รู้จะเรียกเมนูนี้เป็นภาษากลางว่าอย่างไรดี คำว่า"อ็อก" ก็เป็นวิธีการปรุงอาหารแบบต้มแต่จะใส่น้ำแบบปริ่ม ๆ ไม่ให้ท่วมวัตถุดิบที่เอามาแกง จะเรียกว่าการอบก็ได้ อ็อกปลาน้อยเมนูนี้ก็จะมีส่วนประกอบได้แก่ ปลาซิว กุ้งฝอย ตะไคร้หั่นและมะเขือเปราะหั่นบาง ๆ นำไปอ็อกในน้ำแกง รสชาติจะออกเผ็ด ๆ นิดหนึ่ง เมนูนี้ผู้เขียนต้องบอกเลยว่าเมนูนี้หาทานได้ยากไม่ได้ทานมาเกือบ 10 ปีแล้ว รู้สึกแปลกใจมากที่เจ้าภาพนำมาเลี้ยงแขกในครั้งนี้น้ำตาแทบไหลคิดถึงวันวานในสมัยเด็กที่แม่ทำให้ทาน 3. ต้มแซ่บขาหมู เมนูนี้ก็เป็นเมนูอาหารไทยที่ทำเสริมขึ้นมาสำหรับแขกที่ไม่ชอบทานอาหารพื้นเมือง แม่ครัวสามารถปรุงได้รสชาติที่แซ่บจัดจ้าน ขาหมูก็เปื่อยนุ่ม ทานกับข้าวเหนียวร้อน ๆ ซดน้ำไปด้วยอร่อยใช้ได้เลยครับ อาหาร 3 เมนูข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาให้ดูในบทความนี้เท่านั้น ความจริงแล้วเมนูอาหารในงานศพของคนล้านนานั้นมีมากมายหลายเมนูที่นิยมทำกัน เช่น แกงฮังเล ลาบหมู แกงปลีตาล น้ำพริกผักลวก ยำไก่ ต้มจืด ผัดมะเขือ ฯลฯ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ผู้เขียนแค่อยากจะนำมาเล่าให้ทุกท่านได้ทราบถึงวิถีชีวิตของคนเหนือด้านอาหารการกินเท่านั้น หากท่านผู้อ่านอยากจะลองชิมอาหารงานศพฝีมือเสน่ห์ปลายจวักของแม่ครัวเหล่านี้จริง ๆ แม่ครัวเหล่านี้ก็ยังรับทำอาหารในโอกาสงานบุญอื่น ๆ ด้วย เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานผ้าป่า เป็นต้น ก็สามารถมาติดต่อสอบถามได้ที่ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในภาคเหนือให้ไปทำอาหารเลี้ยงในงานบุญของท่านได้ครับ อิอิ หมายเหตุ รูปภาพทุกรูปภาพถ่ายโดยนักเขียน มิได้คัดลอกมาจากที่อื่นแต่อย่างใด