9 วิธีเก็บปลาร้าหมักสด ให้อยู่ได้นาน ลดการปนเปื้อน ทำยังไงดี | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล ปลาร้าแบบหมักสดในประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ยังนิยมใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพราะสามารถนำมาปรุงรสชาติของอาหารให้มีความอร่อยและเป็นเอกลักษณ์ได้ ดังนั้นเราจึงพบว่าตามตลาดมักมีปลาร้าแบบนี้วางขาย หรือยังคงมีคนทำอาชีพทำปลาร้าหมักและนำไปขาย ซึ่งที่หนึ่งที่ผู้เขียนได้รู้มานั้น คือ ตำบลหนึ่งในอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภูค่ะ ที่นั่นมีป้าคนหนึ่งทำปลาร้าหมักเองและสูตรของตัวเอง เอาไว้ขายแบบเลี้ยงชีพเลยนะทุกคน แต่สำหรับที่นี่ปลาร้าหมักสดที่มีขายในทุกๆ วัน จะเป็นการขายปลีกของแม่ค้าในตลาดสดอีกทีค่ะ ซึ่งคุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า นอกจากเรามีการใช้ปลาร้าหมักสดในการทำอาหารแล้วนั้น อีกหนึ่งอย่างที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญก็คือ การเก็บรักษาปลาร้าหมักค่ะ และประเด็นนี้ก็อาจมีหลายคนสงสัยกันอยู่ ดังนั้นในบทความนี้เราจะมารู้กันว่า หากต้องการเก็บปลาร้าแบบหมักให้คงคุณภาพนานๆ ที่สามารถลดการปนเปื้อนได้ด้วย ต้องทำยังไงถึงจะดีนะคะ โดยเมื่ออ่านจบแล้วคุณผู้อ่านจะรู้มากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการเก็บปลาร้า และต่อจากนั้นก็มองภาพออกและเลือกวิธีที่เป็นไปได้สำหรับตัวเองมาใช้ได้ง่ายขึ้นค่ะ และถ้าอยากรู้แล้วว่าต้องทำยังไงดี งั้นเรามารู้ไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า กับเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 1. เลือกซื้อปลาร้าที่มีคุณภาพดีก่อนเสมอ การเลือกซื้อปลาร้าที่มีคุณภาพดีตั้งแต่แรก ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเก็บรักษาปลาร้าหมักสด ให้อยู่ได้นานและลดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปลาร้าที่ผลิตอย่างถูกสุขลักษณะ มีกระบวนการหมักที่ได้มาตรฐาน และใช้วัตถุดิบที่ดี จะมีโอกาสเน่าเสียหรือปนเปื้อนน้อยกว่าปลาร้าที่ไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นก่อนที่จะนำมาเก็บรักษาด้วยวิธีใดๆ ก็ตามนะคะ การใส่ใจเลือกซื้อปลาร้าจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีความสะอาด และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติของปลาร้า จะช่วยให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า เราจะได้ปลาร้าที่อร่อย ไม่เน่าเสียง่ายและเก็บได้นานขึ้นค่ะ 2. ใช้ภาชนะที่สะอาดและแห้ง การใช้ภาชนะที่สะอาดและแห้งสนิทเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ไม่ควรมองข้าม ในการเก็บรักษาปลาร้าหมักสดให้ได้นานและลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนค่ะ เพราะความชื้นและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในภาชนะ สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อราได้ ที่ทำให้ปลาร้าของเราเน่าเสียเร็วขึ้นนั่นเองนะคะ และเชื้อรานี้ยังสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อเราได้ด้วย ดังนั้นก่อนที่จะนำปลาร้ามาบรรจุลงในภาชนะ ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจานให้หมดจด แล้วเช็ดให้แห้งสนิท หรือนำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิทก็จะยิ่งดี ซึ่งการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าปลาร้าของเราจะถูกเก็บรักษาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สะอาดและสามารถเก็บไว้รับประทานได้นานยิ่งขึ้นค่ะ 3. ปิดฝาให้สนิท การปิดฝาภาชนะที่เก็บปลาร้าหมักสดให้สนิท ถือเป็นปราการด่านสำคัญอีกชั้นหนึ่งในการยืดอายุการเก็บรักษาและป้องกันการปนเปื้อนค่ะ เพราะการปิดฝาจะช่วยป้องกันไม่ให้อากาศและความชื้นจากภายนอกเข้าไปสัมผัสกับปลาร้าโดยตรง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์ และทำให้ปลาร้าเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น นอกจากนี้การปิดฝาสนิท ยังช่วยป้องกันกลิ่นของปลาร้าไม่ให้ฟุ้งกระจายรบกวนอาหารอื่นๆ หรือบริเวณที่เก็บรักษาอีกด้วย ดังนั้นการใส่ใจปิดฝาให้แน่นทุกครั้งหลังใช้งาน จึงเป็นวิธีง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการรักษาคุณภาพและความสะอาดของปลาร้าหมักสดของเราคะ 4. แช่ตู้เย็น หลายคนยังไม่รู้ว่า การนำปลาร้าหมักสดไปแช่ในตู้เย็น ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการช่วยยืดอายุการเก็บรักษาและลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนค่ะ เพราะอุณหภูมิที่ต่ำในตู้เย็นจะช่วยชะลอการทำงานของเอนไซม์ตามธรรมชาติ และลดอัตราการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเน่าเสียและการปนเปื้อนต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นการพักหรือชะลอกระบวนการตามธรรมชาติให้กับปลาร้า ทำให้ยังคงคุณภาพและรสชาติที่ดีได้นานยิ่งขึ้น แถมยังช่วยลดกลิ่นรุนแรงของปลาร้าที่อาจรบกวนอาหารอื่นๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นการมีตู้เย็นจึงเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับการเก็บรักษาปลาร้าหมักสด ให้ยังคงมีความสะอาด คงคุณภาพและเก็บไว้รับประทานได้นานค่ะ 5. แบ่งเก็บเป็นส่วนเล็กๆ คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า การแบ่งเก็บปลาร้าหมักสดออกเป็นส่วนเล็กๆ พอดีต่อการใช้งานในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยให้เก็บปลาร้าได้นาน และสามารถลดโอกาสการปนเปื้อนได้ดีมากค่ะ ลองคิดดูว่าถ้าเราเปิดภาชนะใหญ่ที่บรรจุปลาร้าทุกครั้งที่เราต้องการใช้ เพียงแค่เล็กน้อย อากาศและความชื้นก็จะเข้าไปสัมผัสกับปลาร้าส่วนที่เหลืออยู่ซ้ำๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้เชื้อจุลินทรีย์เติบโตและทำให้ปลาร้าเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น แต่การแบ่งเก็บเป็นส่วนเล็กๆ ทำให้เราสามารถหยิบใช้ได้เฉพาะส่วนที่ต้องการ โดยที่ส่วนอื่นๆ ยังคงถูกปิดมิดชิดอยู่ในภาชนะของตัวเอง จึงช่วยลดการสัมผัสกับอากาศและความชื้นโดยไม่จำเป็น แถมยังช่วยรักษาคุณภาพของปลาร้าส่วนที่เหลือได้นานยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนซ้ำๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ 6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หลายคนยังมองภาพไม่ออกว่า การหลีกเลี่ยงการสัมผัสปลาร้าหมักสดโดยตรงด้วยมือเปล่า เป็นเรื่องสำคัญมากในการป้องกันการปนเปื้อน ที่เป็นแบบนั้นเพราะว่ามือของเราอาจมีสิ่งปนเปื้อนหรือสิ่งสกปรกที่เรามองไม่เห็นติดอยู่ค่ะ ซึ่งเมื่อเราหยิบหรือสัมผัสกับปลาร้าโดยตรงด้วยมือ สิ่งปนเปื้อนเหล่านั้นก็สามารถแพร่กระจายและทำให้ปลาร้าเน่าเสียเร็วขึ้น หรืออาจเป็นอันตรายต่อตัวเราเมื่อรับประทานเข้าไปได้ ดังนั้นทุกครั้งที่เราต้องการตักหรือแบ่งปลาร้า ควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดและแห้งสนิท เช่น ช้อนหรือทัพพี ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยรักษาความสะอาดของปลาร้า ลดการนำพาสิ่งปนเปื้อนจากมือของเราไปสู่ปลาร้า และช่วยให้ปลาร้าสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานยิ่งขึ้นโดยยังคงความสะอาด รวมไปถึงคงคุณภาพในการบริโภคค่ะ 7. เติมน้ำเกลือเข้มข้น คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า เราสามารถเติมน้ำเกลือเข้มข้นลงในปลาร้าหมักสดได้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา และลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนได้ดีทีเดียวค่ะ เพราะจากที่เกลือมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์หลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปลาร้าเน่าเสีย การเพิ่มความเข้มข้นของเกลือในปลาร้าจึงเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ ที่เปรียบเสมือนเป็นการถนอมปลาร้าด้วยวิธีธรรมชาติ ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้นโดยยังคงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ได้ นอกจากนี้น้ำเกลือที่เข้มข้นยังช่วยลดโอกาสที่แมลงหรือหนอนจะเข้ามาวางไข่ในปลาร้าได้อีกด้วยค่ะ โดยสถานการณ์นี้ผู้เขียนเคยเห็นแม่ทำค่ะ โดยเราจะนำเกลือในปริมาณมากหน่อย ใส่ลงไปในหม้อที่มีน้ำเดือด เมื่อละลายดีแล้วยกลงจากเตาและพักให้เย็น จากนั้นค่อยนำไปเติมในปลาร้าหมักสดของเราค่ะ 8. การใช้บรรจุภัณฑ์แบบสูญญากาศ ถุงหรือภาชนะสูญญากาศเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับการเก็บรักษาปลาร้าหมักสดให้ได้นานและไม่มีการปนเปื้อนค่ะ โดยหลักการทำงานของระบบสูญญากาศ คือ การดูดอากาศออกจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการลดปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่ในนั้น เมื่อไม่มีออกซิเจนหรือมีน้อยมาก การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์หลายชนิดที่เป็นสาเหตุของการเน่าเสียก็จะถูกยับยั้ง ทำให้ปลาร้าสามารถคงคุณภาพ รสชาติ และมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ได้นานยิ่งขึ้น นอกจากนี้การบรรจุแบบสูญญากาศยังช่วยป้องกันไม่ให้ปลาร้าสัมผัสกับความชื้นและสิ่งสกปรกจากภายนอกโดยตรงได้ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน ทำให้เรามั่นใจได้ว่าปลาร้าของเราจะยังคงสดใหม่ และเหมาะสมสำหรับการนำไปปรุงอาหารในครั้งต่อไปค่ะ 9. ใช้การแช่แข็ง การแช่แข็งปลาร้าหมักสดเป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ในการเก็บรักษาไว้ได้นานโดยแทบจะหยุดยั้งการเสื่อมสภาพ และการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ไปเลยก็ว่าได้ค่ะ เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำจัดจะทำให้โมเลกุลของน้ำในปลาร้ากลายเป็นน้ำแข็ง ซึ่งเป็นการหยุดชะงักการทำงานของเอนไซม์และจุลินทรีย์ต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของการเน่าเสีย เปรียบเสมือนเป็นการหยุดเวลาให้กับปลาร้า ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือนมากๆ โดยที่คุณภาพและรสชาติไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่สิ่งสำคัญคือต้องบรรจุปลาร้าในภาชนะหรือถุงสำหรับแช่แข็งโดยเฉพาะ และไล่อากาศออกให้มากที่สุดนะคะ การทำแบบนั้นก็เพื่อป้องกันการเกิดสถานการณ์ที่ทำให้เนื้อปลาร้าแห้งและเสียรสชาติได้ และเมื่อต้องการนำมาใช้ ก็เพียงแค่นำมาละลายน้ำแข็งอย่างช้าๆ ในตู้เย็นก่อนนำไปปรุงอาหาร เท่านี้เราก็สามารถเก็บปลาร้าหมักสดไว้กินได้นานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อนแล้วค่ะ โดยวิธีเหมาะมากสำหรับคนที่อยู่ต่างประเทศหรือคนที่หาซื้อปลาร้าได้ยาก แล้วต้องการมีปลาร้าเอาไว้ใช้จำนวนมากพอค่ะ จากทั้ง 9 เคล็ดลับจะเห็นได้ว่า บางวิธีการเป็นวิธีที่ธรรมดาๆ แต่ได้ผลดี และมีส่วนช่วยลดการปนเปื้อนได้มาก ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ผู้เขียนใช้บ่อยๆ ก็คือ การใช้ภาชนะที่แห้งและสะอาดค่ะ โดยที่นี่ยังไม่มีความจำเป็นต้องแช่แข็งปลาร้าแบบหมักสดๆ นะคะ เพราะยังสามารถเข้าถึงแหล่งที่ขายปลาร้าแบบนี้ได้ง่ายๆ และปลาร้าหมักสดที่สามารถหาซื้อได้ ก็ยังไม่ได้แพงมาก จนต้องกักตุนค่ะ ซึ่งในบางคนอาจไปต่างจังหวัดแล้วไปเจอปลาร้าหมักอร่อยๆ แล้วซื้อกลับมาบ้านจำนวนมาก แบบนี้การแช่แข็งคือแนวทางที่ดีนะคะ และอีกวิธีการหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ประจำเลย คือ การซื้อปลาร้าแบบหมักสดมาแค่พอดีๆ สำหรับใช้งานค่ะ ซึ่งการทำแบบนี้ก็สามารถทำให้เราได้ปลาร้าสดใหม่เรื่อยๆ ด้วย และยังช่วยลดภาระในการจัดเก็บปลาร้าอีกด้วย ยังไงนั้นคุณผู้อ่านลองอ่านทำความเข้าใจดีๆ และเลือกวิธีที่เข้ากับสถานการณ์ของตัวเองไปปรับใช้กันค่ะ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย หากสนใจเนื้อหาเช่นนี้อีก อย่าลืมกดติดตามหรือบุ๊กมาร์กโปรไฟล์ไว้ เพื่อรับข้อมูลใหม่ๆ ในบทความต่อไปค่ะ เครดิตรูปภาพประกอบบทความ รูปภาพทำหน้าปกและหน้าปกโดยผู้เขียน ออกแบบหน้าปกใน Canva รูปภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การบำบัดน้ำเสียและกำจัดสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน เคล็ดลับเลือกซื้อไก่บ้าน มาทำต้มยำ แบบไหนสดใหม่ ดูยังไงดี ปลาจ่อม ทำอะไรได้บ้าง มีรสชาติแบบไหน 8 วิธีเก็บเส้นมะละกอที่ขูดแล้ว ให้สดนานหลายวัน ไม่เละง่าย เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !