สำหรับคนชาวเมืองขอนแก่นซึ่งพักอาศัยอยู่รอบนอกตัวเมืองแบบผู้เขียน การเดินทางเข้าเมืองแต่ละครั้งให้ความรู้สึกคล้ายกับการเดินทางไกลไปต่างจังหวัด ไปเมืองหลวงของประเทศ ไปต่างประเทศ แม้เทียบระยะทางจากบ้านถึงตัวเมืองจะประมาณ 13 กิโลเมตรและเข้าไปในเมืองค่อนข้างสม่ำเสมอ ความคุ้นเคยสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เขียนในความคุ้นชินทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้นึกถึงความเติบโตของชานเมืองที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระโตกกระตาก ความเปลี่ยนแปลงทำให้อ้อยอิ่ง มีเรื่องให้ระลึกถึงด้วยเสมอ ตลาดโตรุ่งเป็นตลาดคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่นเช่นเดียวกับตลาดสดในท้องถิ่น ตลาดเทศบาล และตลาดอื่นๆ ในตัวเมือง เมื่อบอกว่า “ตลาดโต้รุ่ง” ภาพเหมารวมคือต้องออกไปกินตอนเย็นถึงค่ำคืนดึกดื่น แต่เวลาที่เป็นภาพจำเอามาเหมารวม “ตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร” ไม่ได้ เพราะตอนเช้า กลางวัน บ่ายก็เปิดจำหน่าย ผู้เขียนคุ้นเคยและรู้จักตลาดโต้รุ่งร่วมจิตรเป็นแห่งแรกในจังหวัด มีไอติมแสนอร่อยของรุ่นพี่รหัสเปิดขายตรงทางเข้า(สมัยก่อน) ต่อมาจึงขยับไปรู้จักกับตลาดโต้รุ่งวิลล่าที่มีบัวลอยไข่หวาน หมูสะเต๊ะ และอาหารอีสานอีกฝั่งเป็นตัวชูโรง รวมถึงย่านถนนกลางเมืองยังเป็นแหล่งรวมร้านขายของฝาก อีกแห่งคือตลาดโต้รุ่งถนนรื่นรมย์ที่ของกินเยอะสารพัดสารพัน ส่วนใครชอบซื้อของใช้พวกเสื้อผ้าก็มีที่ตลาดโต้รุ่งรื่นรมย์ด้วยเช่นกัน จุดเด่นของที่นี่คือร้านส้มตำขายสารพัดตำจำนวนหลายร้านมาก ตลาดโต้รุ่งร่วมจิตรเป็นตัวเลือกอันดับแรกเสมอ มีแรงดึงดูดคือ “ร้านข้าวคลุกแหนม (เจ๊สิ่ว)” ร้านโปรดของครอบครัวที่ขายของกินเล่นและเป็นอาหารจานเดียวง่ายๆ ที่กินแล้วอิ่มท้อง มีเพียงสามรายการเท่านั้นที่จะได้อิ่มท้องจากร้าน นั่นคือ ข้าวคลุกแหนม ปอเปี๊ยะทอด หมี่กะทิ ร้านขายตั้งแต่ช่วงเช้าและของจะเริ่มทยอยหมดประมาณ 14.00 น. บางครั้งไปหลัง 13.30 น.นิดเดียว ของกินบางรายการก็หมดเกลี้ยงชามใหญ่ๆ ไปแล้ว ความสดใหม่ของอาหารทั้งสามรายการ ผักสดที่มอบให้กินเป็นเครื่องเคียงแบบไม่หวงเครื่อง “ข้าวคลุกแหนม” เมล็ดข้าวร่วนซุย หนังหมู แหนม ที่คลุกผสมกันอย่างลงตัว กินเพลิดเพลินและรู้สึกกรุบกรอบกับความกรอบของกากข้าว ให้ความรู้สึกเป็นของกินเล่นที่กินได้หลายจานมาก ในส่วนของ “ปอเปี๊ยะทอด” กรอบนอก นุ่มใน ไส้ข้างในไม่มากไม่น้อย ไม่อัดแน่นจนแข็ง เปิดพื้นที่ให้น้ำมันที่ทอดเข้าไปแทรกซึมรสชาติร่วมกับเครื่องที่ผัดและม้วนพันด้วยแผ่นปอเปี๊ยะ น้ำจิ้มรสดั้งเดิม ไม่หวานไป ไม่เผ็ด ถั่วลิสงคั่วใหม่ ชอบตัวน้ำจิ้มที่ไม่เหมือนที่ใดๆ สำหรับ “หมี่กะทิ” น้ำราดมีสูตรเฉพาะของที่ร้านพร้อมหัวปลีอ่อนรสเฝือนแต่ขับรสชาติเมนูนี้อย่างลงตัว รวมถึงผักอื่นที่กินควบคู่กับหมี่กะทิ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นคือตัวหนังสือด้านล่างป้ายชื่อร้านที่ทำจากไม้ระบุว่า “เจ้าแรกเมืองขอนแก่น” ข้อความดังกล่าวเป็นประกาศนียบัตรรับประกันความดั้งเดิม การอยู่คู่กับปากท้องคนขอนแก่นกับผู้มาเยือน แม้ไม่ได้ระบุปีว่าเป็นเจ้าแรกเมื่อปีใดก็ตาม สำหรับตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร มีการพัฒนาตัวตลาดมาตลอดระยะเวลาการเปิดบริการ ผู้เขียนไม่ทราบปีการก่อตั้งที่แน่ชัด รู้จักตลาดมาร่วมสามสิบปี เห็นพัฒนาการของตลาด ความเปลี่ยนแปลงไปที่ยังไม่จากกันไปไหน การปรับปรุงภายใน การดูแลพื้นที่ เวลาที่มีเด็กนักเรียนมากิน ให้ความรู้สึกแบบโรงอาหารของโรงเรียน ขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้ไปตลาดแห่งนี้จะได้สัมผัสคืออาหารสูตรต้นตำรับเมืองเก่า สตรีทฟู้ดซึ่งมีที่ทางของตัวเอง และสิ่งที่เรียกรอยยิ้มให้กับผู้เขียนคือคนท้องถิ่นยังคงไปที่ตลาดแห่งนี้ แม้ปัจจุบันมีตลาดสำหรับกิน ดื่ม ชิลล์อีกหลายแห่งในตัวเมืองที่นำแนวคิดแบบ Pop Culture ไปออกแบบเพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตและความเป็นไปของยุคสมัย แต่ตลาดดั้งเดิมของตัวเมืองหลายจุดในเมืองก็ยังคงอยู่เป็นภาพนำเสนอวิถีชีวิต รสปากของผู้คนท้องถิ่น รสปรุงของคนทำอาหาร อีกทั้งเป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรมกินอยู่ของพื้นที่ ทำให้ผู้เขียนได้เข้าคลุกการกินที่มากกว่าความอิ่ม