ประเพณีวันสงกรานต์นอกจากเป็นเทศกาลสงกรานต์ของไทยแล้ว ประเพณีสงกรานต์ถือเป็นเทศกาลปีใหม่เมืองของชาวล้านนาด้วย ชาวล้านนาส่วนใหญ่จะมีการรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นศิริมงคลให้กับตนเองในวันขึ้นปีใหม่ตามความเชื่อของคนล้านนา นอกจากนี้คนล้านนาจะมีการทำอาหารและขนมไปทำบุญ เนื่องในวันศีลใหญ่หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่าวันพญาวัน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สำหรับขนมที่ใช้ทำบุญก็จะมีข้าวต้มมัด ขนมเทียนหรือ"ขนมจอก"ตามชื่อเรียกของชาวล้านนาและที่เป็นขนมพิเศษสำหรับเทศกาลปีใหม่เมืองของชาวล้านนา ซึ่งจัดทำขึ้นมาไว้สำหรับทำบุญและเลี้ยงแขกที่มาเที่ยวบ้านในวันสงกรานต์ก็คือ"ขนมปาด" :ขนมปาดที่ทำเสร็จแล้วรองด้วยใบตองตึงทาน้ำมันพืช "ขนมปาด" เป็นขนมพื้นบ้านของชาวล้านนา มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นขนมที่จัดทำขึ้นมาไว้ไปทำบุญตักบาตรในเทศกาลปีใหม่เมืองของชาวล้านนา วันนี้ผู้เขียนจึงอยากจะแนะนำส่วนผสมและขั้นตอนการทำ จะเป็นอย่างไรไปชมกันครับ ส่วนผสมของขนมปาด 1. แป้งข้าวเหนียว 2 กิโลกรัม 2. แป้งข้าวจ้าว 1/2 กิโลกรัม 3. น้ำอ้อย 2 1/2 กิโลกรัม 4. มะพร้าวขูดหรือซอยเป้นแผ่นบาง ๆ 1 กิโลกรัม 5. น้ำมันพืช (ใส่ตอนเคี่ยวส่วนผสมและไว้ทาถาดและใบตองตึง) :เวลาแป้งสุกจะลอยขึ้นมาใช้กระชอนตักใส่ถาดไว้ สำหรับขั้นตอนและวิธีการทำขนมนั้น 1. การนวดแป้งและต้มแป้งให้สุก นำแป้งข้าวเหนียว 2 กิโลกรัมผสมกับแป้งข้าวจ้าว 1/2 กิโลกรัม นวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วปั้นเป็นแผ่น ๆ ประมาณ 4 นิ้ว ปั้นจนหมดแป้งใส่ลงในถาดที่เตรียมไว้ จากนั้นต้มน้ำในหม้อขนาดกลางจนเดือดแล้วใส่แผ่นแป้งที่เตรียมไว้ โดยค่อย ๆ ใส่รอจนให้แป้งสุก (วิธีสังเกตุว่าแป้งสุกหรือไม่คือตอนที่แป้งสุกจะลอยขึ้นมา) ก็ใช้กระชอนตักแป้งที่สุกมาวางลงในถาดหรือภาชนะที่เตรียมไว้จนหมด :แป้งทำขนมปาดที่สุกแล้ว 2. ขูดหรือซอยมะพร้าวเตรียมไว้ 1 กิโลกรัมหรือจะใส่มากกว่านี้ประมาณ 1 1/2 กิโลกรัม 3. นำน้ำมันพืชเทลงไปในกระทะขนาดกลาง-ใหญ่ (กระทะจะใช้กลางหรือใหญ่อยู่ที่ประมาณขนมที่จะทำ) ที่ตั้งไฟไว้แล้ว ตามด้วยน้ำอ้อยและมะพร้าว เคี่ยวในกระทะให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน วิธีดูว่าจะใส่แป้งสุกที่เตรียมไว้ได้หรือไม่นั้น สามารถทดสอบน้ำด้วยการนำน้ำอ้อยที่ละลายมาหยดลงในน้ำ หากว่าเหนียวและเกาะกันเป็นก้อนแสดงว่าใส่แป้งสุกได้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือสำหรับคนที่มีประสบการณ์ทำขนมปาดคือถ้าน้ำอ้อยละลายข้นเวลาคนจะรู้สึกเหนียว ๆ นั่นก็แสดงว่าใส่แป้งสุกเพื่อคนเป็นขนมปาดต่อไป :ส่วนผสมเริ่มละลายเกือบได้ที่ละ 4. นำแป้งสุกลงไปในน้ำอ้อยที่ละลายได้ที่แล้ว คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งช่วงนี้ต้องช่วยกันหลายคนจะใช้แรงค่อนข้างมากแและใช้เวลาที่คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน หากคนขนมปาดได้ที่เป็นเนื้อเดียวกันแล้วขนมจะออกเป็นสีน้ำตาลเข้ม เมื่อขนมเป็นเนื้อเดียวกันได้ที่แล้วก็ช่วยกันตักขนมขึ้นมาไว้ในถาดที่เตรียม (ในถาดต้องใส่ใบตองตึงที่ทาน้ำมันแล้ว) ร้อน ๆ ชิมได้จ้า เป็นอันว่าเสร็จสิ้นขนมปาดอันหอมหวาน เตรียมไว้ทำบุญและแจกจ่ายแขกที่มาเยี่ยมเยือนในเทศกาลปีใหม่เมืองวันสงกรานต์ได้ สำหรับรสชาติของขนมปาดนั้น จะเหนียว ๆ รสชาติอร่อย มีกลิ่นหอมหวานจากน้ำอ้อย เวลากัดจะกรุบกรอบจากเนื้อมะพร้าวที่ผสมลงไป :ช่วงนี้ต้องช่วยกันคนหลายคนและใช้แรงมาก :ขนมปาดที่ทำเสร็จแล้ว น่ารับประทานอาหาร การทำ"ขนมปาด"นั้น ยังถือเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อน เพราะการทำขนมปาดนั้นต้องใช้คนจำนวนหลายคนและใช้แรงพอสมควร ถือเป็นขนมรวมญาติหรือลูกหลานร่วมกันทำ อีกทั้งในสมัยก่อนมีความเชื่อว่าหากใครไม่มีเงินไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูง ทั้งค่าใช้จ่ายและคนจำนวนหลายคนช่วยกันทำ และเวลาทำก็จะบ่งบอกถึงนิสัยของคนที่ทำด้วยว่ามีความอดทนหรือไม่ ใจเย็นหรือเปล่า ต้องใช้ความละเอียดพอสมควร และขนมปาดนั้นถือเป็นขนมชั้นสูงด้วยเพราะเอาไว้ทำบุญถวายทาน ถวายพระ เป็นต้น ใครอยากกินขนมปาด แนะนำให้มาเที่ยวภาคเหนือช่วงวันสงกรานต์นะครับ ภาพโดยผู้เขียน