เมนูลูกน้อยวัย 8 เดือนที่ผู้เขียนจะนำมาแชร์วันนี้ก็คือเมนูเกี่ยวกับ “ปลา” ค่ะ ช่วงก่อนนี้ที่ผู้เขียนได้เล่าสู่กันฟังว่าลูกน้อยทานผักบดเป็นส่วนใหญ่ มีผลไม้เป็นของว่าง และให้เริ่มทานโปรตีนจาก “ไข่แดง” โดยผสมไปในข้าวมื้อละ 1 ช้อน (ให้ทานเช้า - เย็น) วันละ 2 มื้อ รวม ๆ แล้วลูกน้อยก็จะได้รับสารอาหารเป็นโปรตีนจากไข่แดงวันละประมาณ 1 ฟองพอดีค่ะ ซึ่งปรึกษากับทางคุณหมอในวันที่พาไปฉีดวัคซีนแล้วคุณหมอแจ้งว่าเพียงพอกับความต้องการของร่างกายเจ้าตัวเล็กค่ะ เพราะเราก็ยังให้ลูกทานนมเป็นอาหารหลัก แต่ต่อจากนี้จะค่อย ๆ ให้ลูกน้อยทานข้าวให้ครบ 3 มื้อ ในปริมาณน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มปริมาณขึ้นไป วันนี้ผู้เขียนก็เลยจะมาแนะนำเมนูเกี่ยวกับ “ปลา” ทำเตรียมเอาไว้ทานทั้งอาทิตย์ เอาไว้สำหรับปรับเปลี่ยน หรือเสริมไปในแต่ละมื้อ ไปติดตามกันเลยค่ะ ปลาที่ผู้เขียนใช้ในวันนี้คือ “เนื้อปลานิล” เพื่อน ๆ บางบ้านที่คิดว่ากลิ่นแรงไปสำหรับลูกน้อย อาจจะลองเริ่มจาก “เนื้อปลากระพง” ได้นะคะ กลิ่นจะอ่อนกว่า เจ้าตัวเล็กจะทานง่ายกว่า พอดีเจ้าตัวเล็กบ้านนี้ทานค่อนข้างง่ายค่ะ เมนูไหน ๆ ก็ทานเกลี้ยงทุกมื้อเลย เล่าถึงขั้นตอนต่าง ๆ สักเล็กน้อย เริ่มจากนำตัวปลาล้างด้วยเกลือให้สะอาด โดยถูเกลือไปที่ตัวปลาแล้วล้างเอาเมือกออกให้หมด ต้องล้างอย่างน้อย 2 รอบขึ้นไปนะคะ (เอาจริง ๆ ผู้เขียนล้างน่าจะประมาณ 5 รอบได้ค่ะ) เพื่อให้แน่ใจว่ากลิ่นจางลงมาก ๆ (ถ้าบ้านไหนมีสูตรดับกลิ่นที่ดีกว่านี้ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้นะคะ) จากนั้นตั้งน้ำให้เดือด และนำปลาทั้งตัวลงไปนิ่งในหม้อที่เตรียมไว้ โดยปรกติแล้วหากเราผู้ใหญ่นิ่งปลาเพื่อทานกันจะใส่ตระไคร้ ใบมะกรูด หรือผักนานาชนิดเพื่อดับกลิ่นใช่ไหมคะ แต่สำหรับเมนูลูกน้อยบ้านนี้ผู้เขียนไม่ได้ใส่อะไรลงไปเลย เพื่อไม่ให้ติดไปกับกลิ่นเนื้อปลาค่ะ หลังจากแน่ใจว่าปลาสุกดีแล้วให้เปิดฝาหม้อ นำปลาออกมาพักไว้จนกว่าจะเย็นนะคะ จากนั้นแกะเอาเฉพาะเนื้อปลา ขั้นตอนนี้สำคัญค่ะ คือแกะเอาเฉพาะเนื้อปลาโดยไม่ให้ติดหนังปลามาด้วย และแกะเอาส่วนบนที่ไม่ติดกับก้าง เพื่อให้เป็นเนื้อปลาที่อ่อนนิ่มและทานง่ายสำหรับเจ้าตัวเล็กค่ะ เมื่อแกะเนื้อปลามากพอที่คิดว่าจะให้ตัวเล็กทานได้ทั้งอาทิตย์แล้ว จากนั้นจัดการยีเนื้อปลาให้ละเอียด เมื่อยีส่วนที่แกะไว้จนหมดแล้วให้คนอีกครั้งเพื่อผสมทุกส่วนให้เข้ากันอีกครั้งก่อนค่ะ ขั้นตอนสุดท้ายทำการจัดเก็บลงกล่องให้เรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้ายคือจัดการปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ เนื่องจากในหนึ่งมื้อ ผู้เขียนจะผสมอาหารหลายชนิดอยู่แล้วค่ะ เช่น ตอนนี้ในหนึ่งมื้อจะประกอบด้วย “ข้าวต้ม 1 ก้อน, ผักบด 2 ก้อน, ไข่แดง 1 ช้อน, สุดท้ายผสมน้ำนมเข้าไปด้วย” ผู้เขียนก็เลยทำเป็นก้อนเล็ก ๆ เพื่อเสริมโปรตีนเข้าไปอีก 1 ชนิดค่ะ ถ้าหากเพื่อน ๆ บ้านไหนต้องการเน้นที่โปรตีนเนื้อปลา อาจจะทำเป็นก้อนขนาดใหญ่ขึ้นอีกนิดก็ได้นะคะ ลองปรับเปลี่ยนลองดูได้เลยค่ะ จากนั้นวางก้อนปลากที่เราปั้นไว้ลงไปในกล่องที่เตรียมไว้ (บ้านนี้ใช้วิธีปั้นด้วยมือนะคะ ปั้นไม่ยาก เพื่อน ๆ อาจจะมีแม่พิมพ์หรือวิธีจัดเก็บอื่น ๆ ก็ลองทำตามหรือปรับใช้ได้ค่ะ) ทำการปิดฝากล่องให้เรียบร้อย แล้วนำเข้าไปแช่ในช่องฟรีซได้เลยค่ะ (Freezer) เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน เพื่อน ๆ สามารถนำเรื่องราวที่ผู้เขียนแนะนำไปปรับใช้กับเมนูอื่น ๆ ได้นะคะ เช่น เมนูตับไก่ หรือ ตับหมู ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “สุขอนามัยในการปรุงอาหาร” เป็นอันดับหนึ่งเลยนะคะ เพราะร่างกายของเจ้าตัวเล็กยังบอบบางมาก ๆ ดังนั้น ทุกขั้นตอนจะต้องสะอาด ปรุงสุกเท่านั้น ไว้โอกาสหน้าผู้เขียนจะนำเมนูอื่น ๆ มาแนะนำกันอีก ฝากเพื่อน ๆ ติดตามกันด้วยนะคะ :) บทความแนะนำอื่น ๆ แชร์เมนูลูกน้อย “วัย 8 เดือน” - "ผัก 3 สี 4 ชนิด" อร่อยถูกใจเจ้าตัวเล็ก แชร์เมนูลูกน้อย “วัย 8 เดือน” - ทำ “ข้าวต้ม” เก็บไว้ทานทั้งอาทิตย์ แชร์เรื่องราว - เก็บอาหารให้ลูกน้อย “วัย 8 เดือน” ในช่วง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เล่าสู่กันฟัง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ชวนเพื่อน ๆ มาเก็บอาหารไว้ทาน “อาทิตย์ต่ออาทิตย์” กันเถอะ ภาพ CoverPhoto และภาพประกอบที่ 1 โดย Suchart Sriwichai จาก Pixabay , และภาพอื่น ๆ ทั้งหมดโดยผู้เขียน