น้ำตาลอ้อยก้อน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล หลังจากมีกระบวนการผลิตน้ำตาลเป็นน้ำตาลทรายในโรงงานอุตสาหกรรม น้ำตาลอ้อยก้อนจึงมีการผลิตน้อยลง เราจึงได้เห็นเครื่องหีบอ้อยอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก วิธีการผลิตน้ำตาลอ้อยก้อน เริ่มด้วยการคั้นน้ำอ้อยออกมาจากต้นด้วยเครื่องหีบอ้อย(ชานอ้อยนำมาตากแห้งแล้วนำกลับมาเป็นเชื้อเพลิงในการต้มน้ำอ้อย) แล้วนำน้ำอ้อยมาต้ม คอยช้อนสิ่งที่เจือปนออกมา นำไปกรองด้วยผ้าขาวอีกครั้ง จากนั้นนำไปเคี่ยวในกระทะใบบัวจนได้น้ำตาลอ้อยเหนียว ตักมาใส่ในกระบะแม่พิมพ์ไม้ พอน้ำอ้อยแข็งตัวก็จะได้น้ำตาลอ้อยก้อนหวานหอม พร้อมนำไปทำอาหารและใส่ถุงจำหน่าย มีอีกคำหนึ่งสำหรับผู้ชอบสะสมพระเครื่องจะได้ยินบ่อย พระงบน้ำอ้อย คำนี้มีที่มาจากแม่พิมพ์แผ่นกลมเป็นแว่น ๆ ซึ่งชาวบ้านจะนำน้ำอ้อยเคี่ยวข้นมาหยอดลงแม่พิมพ์ เรียกแม่พิมพ์แผ่นกลมแบบนี้ว่า งบ น้ำตาลอ้อยก้อน มีความโดดเด่นในการทำอาหาร จะทำให้ได้กลิ่นหอมกว่าใช้น้ำตาลแบบอื่น ๆ สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิดทั้งของหวานของคาว ด้วยความที่เป็นน้ำตาล 100% และมีกากน้ำตาลอยู่อย่างครบถ้วนทำให้มีสีน้ำตาลแดง มีเส้นใยอาหารอยู่มาก เป็นประโยชน์กับร่างกาย เมนูของคาวที่นิยมนำไปทำคือ ปลาตะเพียนต้มเค็ม พะโล้ กวยจั๊บ ซุปน้ำก๋วยเตี๋ยว ใส่แกงฮังเล ต้มฟักหวาน ใส่ยำต่าง ๆ น้ำปลาหวานสะเดา ที่เอาไปทำขนมยังมีอย่างมากมาย เช่น ขนมนางเล็ด ขนมกระยาสารท ขนมเข่ง ขนมต้ม ขนมปาดเมืองฮอด ขนมจอก ขนมข้าวเหนียวหัวหงอก ขนมข้าวเหนียวแดง ทำน้ำปลาหวานจิ้มมะม่วงก็อร่อย หรือนำมาผสมกับแป้งทำขนมเทียน จะทำให้สีสวยน่ารับประทาน ใส่ในมันต้มขิงก็ได้ ใครที่ไปเดินตลาด แล้วเจอแม่ค้าขายน้ำตาลอ้อยก้อน ไม่ควรพลาดที่จะซื้อมาใส่ขวดเก็บไว้คู่ครัว เพราะไม่ได้หาซื้อได้ง่าย ในรอบปีหนึ่งแม่ค้ามักจะบอกว่า มีมาขายเพียงครั้งเดียว เรื่องและภาพถ่ายจาก รัตนา