ถั่วแปบสด ทำอะไรกินได้บ้าง รสชาติยังไง อร่อยไหม | บทความโดย ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล ผักที่สามารถรับประทานได้ที่เป็นพืชตระกูลถั่วนั้น ในสถานการณ์จริงมีค่อนข้างหลากหลายค่ะ ที่คนส่วนมากอาจคุ้นกับถั่วฝักยาวและถั่วลันเตาเท่านั้น จริงไหมคะ? ที่หารู้ไม่ว่ายังมีผักพื้นบ้านตระกูลถั่วที่น่าสนใจอีกหลายอย่างมากค่ะ เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วแปบ โดยคำว่า “ถั่วแปบ” ในที่นี้อาจมีชื่อเดียวกันกับชื่อเรียกขนมไทยชนิดหนึ่ง แต่ถั่วแปบที่ผู้เขียนจะได้ให้รายละเอียดไว้ในบทความนี้ เป็นชื่อของถั่วชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นผักในบ้านได้ค่ะ โดยชื่อเรียกอื่นของถั่วแปบ ได้แก่ ภาคเหนือ: ถั่วแปะยี มะแปบ ภาคอีสาน: ถั่วปลาซิว ถั่วหนัง แปบน้อย ถั่วแปบเป็นไม้เถาชนิดหนึ่งที่สามารถเลื้อยไปตามรั้วสวน ดังนั้นตอนปลูกต้องมีที่ให้ยึดเกาะค่ะ อาจเป็นเพียงกิ่งไม้ขนาดกลางวางทับซ้อนกันเป็นทรงสูงก็ได้นะคะ เพราะผู้เขียนก็เห็นแม่ของผู้เขียนทำง่ายๆ แบบนั้นเลย ต้นถั่วแปบมีดอกสีม่วงอ่อนๆ ค่ะ สีคล้ายดอกของถั่วพู ซึ่งดอกถั่วแปบมีกลิ่นหอมอ่อนๆ แต่ลักษณะเด่นของกลิ่นอาจแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่ปลูก คือ ถั่วแปบดอกขาว: มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายดอกไม้ทั่วไป ถั่วแปบดอกม่วง: มีกลิ่นหอมหวานเล็กน้อย คล้ายกลิ่นดอกอัญชัน ถั่วแปบที่ผู้เขียนพบเห็นบ่อยที่สุดมีอยู่สองชนิด คือ ถั่วแปบเขียวและถั่วแปบขาว และขึ้นชื่อว่าเป็นพืชตระกูลถั่ว ทำให้ถั่วแปบมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงเป็นที่นิยมนำมาประกอบอาหารหลากหลายเมนู โดยลักษณะที่โดดเด่นของถั่วแปบอีกอย่างที่แตกต่างจากผักชนิดอื่น ก็คือ การที่ถั่วแปบมีฝักสองแบบ และปลายฝักเป็นจะงอย โดยฝักของถั่วแปบแยกเป็น 2 ชนิด ดังนี้ 1. ฝักแบน ถั่วแปบแบนมีลักษณะเด่นที่ฝัก ซึ่งมีลักษณะแบนและยาว โค้งงอเล็กน้อยและโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยว หรือคล้ายฝักถั่วลันเตาขณะยังอ่อน ฝักมีสีเขียวอ่อนหรือสีม่วง ผิวฝักเรียบ ปลายฝักเป็นจะงอยแหลม ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่กลมสีน้ำตาลอ่อน 3-6 เมล็ด 2. ฝักกลม ฝักยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีลักษณะอ้วนกลมและตรง มีสีเขียวละสีม่วง ปลาฝักมีจะงอยแหลมคล้ายคลึงกับฝักแบน มีเมล็ดกลมด้านใน ผิวเปลือกเรียบ โดยทั่วไปแล้วถั่วแปบที่นิยมรับประทานจะเป็นฝักแบนมากกว่าฝักกลม เนื่องจากมีเนื้อมากกว่าและรสชาติดีกว่า และดูเหมือนว่าในสถานการณ์จริงนั้น ถั่วแปบที่เป็นผักมีหลายสีค่ะ โดยมีถั่วแปบสีม่วงด้วย แต่ที่เห็นได้บ่อยๆ คือ ถั่วแปบฝักสีเขียว ซึ่งเป็นสีของฝักอ่อนที่ยังไม่แก่จัดของถั่วแปบ สำหรับสีม่วงนั้นบางสายพันธุ์อาจมีสีม่วงตั้งแต่ฝักอ่อนเลย ถั่วแปบเป็นพืชที่มีประโยชน์หลายอย่าง โดยฝักอ่อนและเมล็ดสามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แกงส้ม ผักลวกจิ้มน้ำพริก ซึ่งเมนูทำเป็นผักลวกจิ้มนั้น เป็นสิ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดค่ะ เพราะเตรียมง่าย ทำง่ายและรับประทานได้ง่ายๆ แต่คนรุ่นเก่าหลายคนชอบน้ำพริกถั่วแปบ น้ำพริกถั่วแปบมีหลักการทำคล้ายๆ น้ำพริกชนิดอื่นค่ะ เพียงแค่เราจะใส่ถั่วแปบต้มลงไป ซึ่งจะกลายเป็นส่วนผสมหลัก ลองนึกภาพว่าเราทำน้ำพริกมะเขือเปราะ หรือคนอีสานเรียกว่า “ซุบมะเขือ” เราก็แค่เปลี่ยนจากมะเขือต้มสุก มาเป็นถั่วแปบต้มสุกแทนเท่านั้นเองค่ะ สำหรับเมนูน้ำพริกจากถั่วแปบต้มสุก ผู้เขียนทำแต่นานมาแล้วค่ะ เพราะตอนหลังมาโอกาสเจอถั่วแปบไม่ค่อยบ่อยนัก ถ้าไม่ได้ไปร้านขายผักพื้นบ้านหรือถ้าไม่ใช่ฤดูกาลของถั่วแปบ หลายคนอาจอยากรู้ว่า สำหรับรสชาติของถั่วแปบฝักสดนั้นเป็นยังไง เหมือนหรือแตกต่างจากถั่วฝักยาว ต้องบอกว่าการรับประทานถั่วแปบสดในสถานการณ์จริงนั้นพบได้น้อยค่ะ เพราะไม่นิยมมากนัก แต่ถ้าคุณผู้อ่านได้มีโอกาสลองชิมดู จะพบว่า ถั่วแปบสดๆ มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย แต่จะมีกลิ่นเฉพาะตัวที่คล้ายกับถั่วเขียว โดยกลิ่นเฉพาะตัวของถั่วแปบนี้เอง ที่ไปทำให้คนส่วนมากหลีกเลี่ยงการรับประทานสดๆ เพราะในบางคนก็มองว่าเหม็นคล้ายกลิ่นแมลง จึงทำให้ถั่วแปบฝักสดถูกนำมารับประทานในลักษณะของปรุงสุก โดยทั่วไปแล้วจะนิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น แกงส้ม ผัด หรือลวกจิ้มน้ำพริก และรสชาติของถั่วแปบหลังจากต้มแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฝักสดค่ะ ดังนี้ ความหวาน: ความหวานจะลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงมีความหวานธรรมชาติอยู่ ความกรอบ: ความกรอบจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีเนื้อสัมผัสจะนิ่มขึ้น กลิ่น: กลิ่นเฉพาะตัวของถั่วแปบจะอ่อนลง รสชาติโดยรวม: รสชาติโดยรวมจะยังคงความอร่อย แต่จะมีความหวานมันน้อยลง และเนื้อสัมผัสจะนุ่มขึ้นค่ะ ละปัจจัยที่มีผลต่อรสชาติของถั่วแปบหลังปรุงสุกแล้ว เช่น ระยะเวลาในการต้ม: หากต้มนานเกินไป ถั่วแปบจะเละและเสียรสชาติ ปริมาณน้ำ: หากใช้น้ำมากเกินไป รสชาติจะจืด การปรุงรส: การเติมเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ หรือเครื่องเทศ จะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับถั่วแปบต้มได้ค่ะ จากประสบการณ์โดยส่วนตัวของผู้เขียนนั้น มีโอกาสได้เจอถั่วแปบมาแล้ว ทั้งสองลักษณะค่ะ คือ ฝักแบนและฝักกลม โดยคุณผู้อ่านสามารถหาซื้อถั่วแปแบบมาทำเป็นอาหารได้ ซึ่งลักษณะของถั่วแปบสดใหม่ที่ควรเลือกซื้อ มีดังนี้ค่ะ ฝัก: ฝักอ่อนมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวสด มีความเต่งตึง ไม่เหี่ยว มีขนอ่อนปกคลุมเล็กน้อย ฝักแบนหรือกลมยาว โค้งงอเล็กน้อย ผิวเรียบตึง ไม่มีรอยช้ำหรือฉีกขาดของฝัก ปลายฝักต้องมีจะงอยติดอยู่ ไม่มีรอยแมลงกัดกิน เมล็ด: เมล็ดมีลักษณะกลมรี แทรกอยู่ในฝัก นูนขึ้นมา บีบแล้วไม่แข็ง กลิ่น: มีกลิ่นอ่อนๆ ตามธรรมชาติ ที่เป็นเฉพาะตัวของถั่วแปบ หากไม่มีกลิ่นหรือกลิ่นลดลง แสดงว่าถั่วแปบเก็บไว้นานแล้ว หรือรักษาไว้ไม่ถูกวิธี ซึ่งก็หมายความว่าไม่สดใหม่นั่นเองนะคะ และถ้าหากว่าคุณผู้อ่านได้ซื้อถั่วแปบมาจำนวนมาก เราสามารถเก็บรักษาถั่วแปบสดเอาไว้ทำอาหารได้นานขึ้น ด้วยวิธีการเก็บรักษาถั่วแปบให้สดนานขึ้น ดังนี้ อย่าล้างถั่วแปบก่อนเก็บ: การล้างถั่วแปบก่อนเก็บ อาจทำให้ถั่วแปบเน่าเสียได้ง่ายขึ้น ควรล้างถั่วแปบเมื่อต้องการนำมาปรุงอาหาร นำถั่วแปบใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องที่มีฝาปิด เก็บไว้ในตู้เย็นช่องผักสด การทำแบบนี้สามารถเก็บไว้ได้นาน 3-5 วันค่ะ แช่แข็ง: หากต้องการเก็บถั่วแปบไว้นานๆ สามารถนำถั่วแปบไปแช่แข็งได้ โดยลวกถั่วแปบในน้ำเดือดก่อนประมาณ 2-3 นาที จากนั้นนำไปแช่น้ำเย็นทันที สะเด็ดน้ำให้แห้ง และนำไปแช่แข็งในถุงหรือกล่องค่ะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พอจะมองเห็นภาพกันบ้างแล้วนะคะ ยังไงนั้นถ้าไปเจอถั่วที่มีลักษณะคล้ายกับรูปภาพในบทความนี้ ยังไงก็เป็นถั่วแปบค่ะ สำหรับผู้เขียนนั้นเคยนำถั่วแปบมาทำเป็นอาหารเพียวสองอย่างหลักๆ คือ ต้มเป็นผักและนานๆ ที่ถ้ามีเวลามากและอุปกรณ์พร้อม จะทำน้ำพริกจากถั่วแปบรับประทานคู่กับผักสดต่างๆ อร่อยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นถั่วแปบลวกจิ้มเป็นผักหรือทำน้ำพริกก็ตาม ส่วนการรับประทานถั่วแปบฝักสดๆ นั้น ผู้เขียนไม่เชียร์ค่ะ เพราะติดเรื่องกลิ่นตามธรรมชาติค่ะ ขนาดไปเก็บจากต้นกลิ่นยังติดแน่นที่มือเลยค่ะ แต่การทำให้สุกกลับทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างน่าเหลือเชื่อ ยังไงนั้นคุณผู้อ่านลองมองหาเมนูที่ตัวเองชอบและนำถั่วแปบมาเป็นวัตถุดิบกันค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกโดยผู้เขียนใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา: พยาบาลศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดยผู้เขียน https://food.trueid.net/detail/2Q34z5k6N6lD https://food.trueid.net/detail/m0ewNQrMKP3W https://food.trueid.net/detail/J8WX1p2Q6JDY เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !