ข้าวหอมนิล เป็นข้าวอีกชนิดที่ได้รับความนิยม แต่คุณแม่บ้านหลายท่านหุงยังไงก็ไม่อร่อย บางครั้งก็แข็งเกิน บางครั้งก็แฉะเกินไป แล้วหุงแบบไหนถึงจะอร่อย ไปดูกัน ข้าวหอมนิล หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตา ในภาพจำที่ว่าเป็นข้าวที่มีสีม่วงเข้มแกมไปทางดำ เป็นข้าวทางเลือกที่แม่บ้านหลายบ้านเลือกใช้รับประทานกันภายในครอบครัว ส่วนตัวผมเองนั้นก็รับประทานข้าวหอมนิลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่กว่าจะหุงข้าวหอมนิลได้อร่อยถูกปากก็ทำเอาเหนื่อยใช้ได้เหมือนกัน ที่ผ่านมาหลายครั้งที่ผมได้หุงข้าวหอมนิล ก็ได้ผลว่าข้าวที่ได้ไม่อร่อย แข็ง มีกลิ่นเหม็นหืน พอเราเติมน้ำเพิ่มเข้าไป กลับทำให้ข้าวนั้นแฉะ ไม่อร่อย และเสียง่าย กว่าจะมาถึงวันนี้ที่ผมสามารถจะหุงข้าวหอมนิลได้หอม อร่อย รสสัมผัสดี ลงตัว ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เราไปดูกันเลยดีกว่าว่าเทคนิคหรือวิธีการที่ผมได้ใช้ในการหุงข้าวหอมนิลมีขั้นตอนอย่างไรกันบ้าง ที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ผมเพียงคนเดียวที่เคยมีประสบการณ์แย่ ๆ จากการหุงข้าวประเภทนี้ แต่ก็ยังมีแม่บ้านอีกหลายคนที่เจอปัญหาเดียวกัน ทำให้เหล่าแม่บ้านนั้นเลือกที่จะบริโภคข้าวอื่นที่หุงง่ายกว่าแทนที่จะบริโภคข้าวหอมนิล เนื่องจากข้าวหอมนิลเป็นข้างที่หุงค่อนข้างยาก บางครั้งถ้าหุงไม่เป็นก็จะได้ข้าวที่ไม่อร่อย เช่น ข้าวแข็งมีความสุกไม่ทั่วถึง หรือข้าวแฉะเกินไป ซึ่งส่งผลต่อรสชาติในการรับประทานได้ อีกทั้งข้าวหอมนิลที่หุงไม่ได้ที่นั้นจะทำให้รสชาติของกับข้าวถูกกลบจนหมดและไม่โดดเด่น ในทางกลับกัน หากข้าวหอมนิลถูกหุงด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ข้าวมีความหอม เนื้อสัมผัสนุ่มพอดีต่อการรับประทาน ไม่แข็งจนเกินไป รสชาติของข้าวมีความหวานในตัว และสามารถรับประทานกับกับข้าวได้โดยไม่ทำให้กับข้าวเสียรสชาติ ด้วยปัญหาที่ใครหลายคนพบเจออยู่นี้ ผมจึงได้นำประสบการณ์ส่วนตัว ที่ได้ลองผิดลองถูก จนได้วิธีการหุงข้าวหอมนิลที่ถูกต้องมาแบ่งปันให้กับทุกท่านได้ลองนำไปปรับใช้กัน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสที่จะได้รับประทานข้าวที่มีประโยชน์มากมายอย่างข้าวหอมนิล ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ได้ข้าวที่ทั้งหอม นุ่ม รสชาติอร่อย ทำให้ใครหลาย ๆ คนลืมรสชาติการทานข้าวขัดสีไปเลย เราไปดูกันเลยว่าเคล็ดลับการหุงข้าวหอมนิลมีขั้นตอนอะไรบ้าง ตวงข้าวหอมนิลประมาณ 1 ถ้วยตวง ล้างข้าวประมาณ 2 รอบ เพื่อล้างสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมที่ติดมากับเมล็ดข้าวหอมนิล ข้อสำคัญสำหรับการล้างข้าวคืออย่าแช่ข้าวทิ้งไว้เด็ดขาด เพราะสารอาหารหลายชนิดที่อยู่ในข้าวเป็นสารที่ละลายน้ำได้ อาจทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการได้ การล้างข้าวควรทำอย่างระมัดระวัง ไม่แรงจนเกินไป เมื่อล้างข้าวเสร็จแล้ว ให้เติมน้ำสะอาดลงไปในหม้อหุงข้าวประมาณ 2-2.5 ถ้วยตวง (ถ้าวัดกับนิ้วชี้ให้เติมน้ำเลยมา 1 ข้อนิ้วชี้มาประมาณ 1-2 ซม. แล้วแต่ความชอบว่าชอบระดับข้าวสุกแบบไหน แต่หากเติมน้ำมากเกินไปจะทำให้ข้าวแฉะและไม่อร่อย) กดหม้อหุงข้าวตามปกติและเมื่อข้าวสุกแล้วให้ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จะทำให้ข้าวนุ่มและอร่อยมากยิ่งขึ้น ทางที่ดีสำหรับผม ผมแนะนำว่าควรปิดฝาทิ้งไว้เลย 30 นาที เพราะข้าวที่หุงจะสุกพอดีและอร่อย ระหว่างการหุงให้สังเกตกลิ่นของข้าว หากเหม็นหืนหมายความว่าข้าวโดนอากาศและความชื้นมากเกินไป หรือข้าวมีคุณภาพที่ไม่ดี ควรเปลี่ยนข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้นนะครับ เมื่อครบเวลาเปิดฝาหม้อหุงข้าวออกมา ก็จะได้ข้าวหอมนิลที่นุ่ม ไม่แฉะ พร้อมรับประทาน ข้อควรระวังและข้อควรจำในการหุงข้าวหอมนิล คือ ในการล้างข้าวนั้นจะต้องทำอย่างเบามือ และห้ามแช่ข้าวทิ้งไว้ ในการหุงข้าวหอมนิลจะต้องปิดฝาหม้อข้าวเอาไว้ต่อไปอีก 10-30 นาที เพื่อให้ข้าวสุกได้ที และที่สำคัญที่สุดระหว่างที่หุงข้าวนั้นจะต้องมีกลิ่นหอมของข้าว ซึ่งกลิ่นหอมระหว่างการหุงจะบ่งบอกถึงคุณภาพของข้าวได้ดี ดังนั้นหากระหว่างหุงข้าวแล้วไม่มีกลิ่นหอม หรือมีกลิ่นเหม็นหืน ควรจะเปลี่ยนข้าวสาร หรือเปลี่ยนวิธีการเก็บรักษาข้าวสาร เพราะอาจเกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่ดีทำให้ข้าวมีความชื้นได้และทำให้ข้าวเกิดกลิ่นเหม็นหืน หุงข้าวทุกครั้งควรหมั่นสังเกตกลิ่นจากไอน้ำด้วยนะครับ การรับประทานข้าวนิล เหมาะกับคนทุกเพศทุกเพศทุกวัย หลาย ๆ คนอาจจะไม่ชอบการรับประทานข้าวหอมนิลเพราะอาจจะเคยเจอข้าวที่แฉะเกินไป หรือข้าวที่แข็งจนเกินไป กินกับอะไรก็ไม่อร่อย แต่ผมอยากให้ทุกคนได้ลองหุงข้าวหอมนิลตามวิธีนี้ดูนะครับ รับรองว่าจะได้ข้าวที่นุ่ม อร่อย อย่าลืมลองไปทำตามกันนะครับ ข้าวหอมนิลหุงไม่ยากอย่างที่คิด ถ้าใส่ใจในรายละเอียดสักนิด ก็จะได้ข้าวที่อร่อยจนไม่อยากกินข้าวอย่างอื่นเลยล่ะครับ ลองเลยครับ! ภาพหน้าปกทำเองออกแบบด้วย canva.com ภาพประกอบทั้งหมดโดย : ผู้เขียน (Lovely's) หิวใช่ไหม อยากหาของกินอร่อย ๆ ใช่หรือเปล่า ส่องร้านเด็ดร้านดังได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !